จับตา: สถานการณ์ฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งภาคเหนือปี 2564

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3942 ครั้ง


ตัวเลขความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ 1 ม.ค.-18 เม.ย. 2564 พบจุดความร้อนสะสม 58,769 จุด ลดจากช่วงเดียวกันในปี 2563 ที่พบ 122,687 จุด วันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานเหลือ 96 วัน จากปี 2563 จำนวน 105 วัน หรือลดลง 9% | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2564 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

ทส. เสนอว่า

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ นอกจากนี้ปัญหาหมอกควันยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงบดบังทัศนวิสัยการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ โดยในปี 2564 นี้ ยังคงพบปัญหาหมอกควันภาคเหนือ แม้ว่าทุกหน่วยงานได้ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยกระดับมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุดประกอบกับเพื่อเป็นการรายงานขั้นตอนการดำเนินงานเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ กรณีสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศกำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน

สาระสำคัญ

1. พื้นที่ภาคเหนือ ได้มีการดำเนินงานภายใต้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งในระดับนโยบายได้ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ และในระดับพื้นที่ได้ดำเนินการตามแนวทาง “4 มาตรการเชิงพื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” ประกอบด้วย 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ 2) พื้นที่เกษตรกรรม 3) พื้นที่ชุมชนและเขตเมือง และ 4) พื้นที่ริมทาง สำหรับ 5 มาตรการบริหารจัดการ ได้แก่ 1) ระบบบัญชาการเหตุการณ์ 2) มาตรการสร้างความตระหนัก 3) มาตรการลดปริมาณเชื้อเพลิง 4) มาตรการจิตอาสาประชารัฐ และ 5) มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก กระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผ่านกลไกภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดสถานการณ์ การดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ และการฟื้นฟูพื้นที่เสียหาย นอกจากนี้ ได้มีการถอดบทเรียน เป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา

2. การดำเนินงานที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้

2.1 จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัดได้เร่งรัดดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง (12 มาตรการ) จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งในพื้นที่ภาคเหนือปี 2564 ระดับจังหวัด จัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการรับมือสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นประจำทุกวัน จัดฝึกอบรมเสริมบทบาทชุมชน เครือข่ายภาคประชาชน และจิตอาสา เพื่อร่วมเป็นชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

2.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเก็บขนเชื้อเพลิงจากป่าออกมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดการเกิดไฟป่า และได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) เพื่อจัดระเบียบการจัดการเชื้อเพลิงให้เกิดการเผาให้น้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน

2.3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำกับการควบคุมและดับไฟป่า ระดมสรรพกำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ จากทุกภาคส่วน ในการเผชิญเหตุ ควบคุม และดับไฟ

2.4 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานงานประเทศเพื่อนบ้านและรายงานผลการดำเนินงานต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอให้เร่งรัดควบคุมการเผาในที่โล่งตามกลไกของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนเป็นประจำทุกวัน รวมถึงได้ประสานงานผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดน (Township Border Committee : TBC)

2.5 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง โดยกำหนดให้เดือน เม.ย. 2564 เป็นเดือนแห่งการเฝ้าระวังพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูง สำหรับการดำเนินงานนั้นให้ทุกจังหวัดบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างใกล้ชิด ร่วมวางกลยุทธ ควบคุมและดับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานอย่างสูงสุดให้ปรับแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันและดับไฟป่า จัดทำแผนรับมือหลังห้วงเวลาห้ามเผา และแผนการฟื้นฟูพื้นที่เสียหายจากไฟไหม้ ในส่วนของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ดำเนินการสร้างการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องต่อพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง

2.6 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 เพื่อติดตามสถานการณ์และพิจารณายกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยมีมติที่ประชุมดังนี้

(1) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ หมุนเวียนกำลังพลไปเสริมในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่เกิดไฟป่าจำนวนมากและยากต่อการควบคุม พื้นที่รอยต่อจังหวัดที่ยังไม่มีสถานีควบคุมไฟป่า รวมถึงเสริมการลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าโดยเด็ดขาด

(2) ให้กระทรวงมหาดไทย ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม (กองทัพภาคที่ 3) จัดให้มีชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และดับไฟป่าประจำหมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีพื้นที่ป่า ติดกับพื้นที่ป่า หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า

(3) ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนให้เข้าใจถึงผลกระทบของฝุ่นละออง เพื่อสร้างความตระหนักและการมีสวนร่วมในการแกไขปญหา

(4) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เศษวัสดุ

(5) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิด ฝุ่นละออง PM2.5 จากการจราจรและการเผาในที่โล่ง

(6) ให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการจังหวัดชายแดนบูรณาการดำเนินการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 เตรียมการรับมือหมอกควันข้ามแดน เร่งเจรจาเพื่อลดการเผาในพื้นที่ชายแดน

(7) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนางานศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมประเด็น PM2.5 ในทุกมิติ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำของการคาดการณ์ฝุ่น พฤติกรรมฝุ่น ผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบ

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งได้เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2564 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม​ผ่านระบบการประชุมทางไกล (​ Video Tele Conference) ซึ่งสรุปได้ดังนี้

3.1 สถานการณ์ในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 18 เม.ย. 2564

(1) สถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนสะสม จำนวน 58,769 จุด ซึ่งลดลงจากปี 2563 ที่พบจุดความร้อนสะสม จำนวน 122,687 จุด ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงกว่าร้อยละ 52 โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,376 จุด จังหวัดเชียงใหม่ 7,620 จุด จังหวัดตาก 7,253 จุด จังหวัดลำปาง 5,716 จุด และจังหวัดเพชรบูรณ์ 4,355 จุด และเมื่อแยกจุดความร้อนตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 43 ป่าสงวนแห่งชาติ ร้อยละ 37 พื้นที่เกษตร ร้อยละ 15 พื้นที่ชุมชน ร้อยละ 4 และพื้นที่ริมทาง ร้อยละ 1

(2) สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่พบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สำหรับวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีจำนวน 96 วัน ซึ่งลดลงจากปี 2563 ที่พบวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 105 วัน หรือลดลงร้อยละ 9

(3) สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน จุดความร้อนสะสมในภูมิภาคแม่โขง พบจุดความร้อนสูงสุดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 577,562 จุด ราชอาณาจักรกัมพูชา 307,319 จุด ราชอาณาจักรไทย 189,637 จุด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 180,073 จุด และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 61,702 ตามลำดับ ด้วยจุดความร้อนจำนวนมากในช่วงเดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2564 ทำให้จังหวัดภาคเหนือที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก เป็นต้น

3.2 ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

(1) ถอดบทเรียนการดำเนินงานจังหวัดที่มีความร้อนอยู่ในเกณฑ์เพื่อนำไปปรับใช้ในปี 2565 สำหรับจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงให้ยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(2) ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในการทุ่มเทสรรพกำลัง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง อย่างไรก็ตาม แม้จุดความร้อนมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ยังคงมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือหมอกควันข้ามแดน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการเจรจาและประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน

(3) ปรับปรุงฐานข้อมูลจุดความร้อน ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยงบประมาณในแต่ละหมวด โครงการและกิจกรรมต่างๆ โดยจัดระบบของข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่สะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งประเมินปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศจากการเผาในที่โล่ง

(4) ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ โดยมีกลยุทธ์และมาตรการที่เหมาะสม

(5) ประสานงานจังหวัดเพื่อขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการกำกับดูแลพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก และการควบคุมการเผาในที่โล่งหลังห้วงเวลาห้ามเผา (30 เม.ย. 2564) เป็นต้นไป

(6) ให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสียหายเพื่อเตรียมการฟื้นฟูหลังสิ้นสุดสถานการณ์

(7) ให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ครอบคลุมประเด็นสถานการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมา และคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศกำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

4. การดำเนินการเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่

4.1 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้เขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอนเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

4.2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการมอบอำนาจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการดำเนินคดีจนถึงที่สุด และให้มีอำนาจดำเนินการพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิ์ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนำเสนอผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ดำเนินการ

4.3 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ได้ประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีจังหวัดตามคำสั่งศาล (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) เข้าร่วมให้ข้อมูลและความเห็น ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ กรมควบคุมมลพิษ ยื่นเรื่องอุทธรณ์ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อศาลปกครอง และเพื่อให้ศาลปกครองได้รับทราบถึงกระบวนการทำงานของรัฐบาล ผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และได้บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายและอำนาจหน้าที่ และมีการพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปี 2560 ที่เริ่มใช้กลไกพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี พ.ศ. 2550 ผู้ว่าราชการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการ ในการดำเนินการทุกครั้ง ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน และมีการถอดบทเรียนการทำงานเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริบท และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการภายใต้แผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้สามารถดำเนินการได้ทันทีในทุกระดับและทุกหน่วยงาน โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องแผนงานและงบประมาณ ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองมาเป็นลำดับ จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าปริมาณจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือลดลงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ในห้วงเวลาเดียวกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผลกระทบด้านภาพลักษณ์ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของพื้นที่จังหวัดนั้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: