คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการตรวจสอบที่มีต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน (เรื่อง การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการตรวจสอบที่มีต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน (เรื่อง การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนหลายรายในกรณีบริษัทเอกชนให้ผู้สมัครงานซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน อันอาจเป็นเหตุให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงาน แม้ว่าลักษณะงานไม่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อเอชไอวีแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน
2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวยังไม่มีกฎหมาย กฎเกณฑ์เฉพาะที่มีสภาพบังคับเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในโลกแห่งการทำงาน แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 - 2573 แนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง แนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 การจัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการเอดส์ในสถานประกอบกิจการ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 (เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่อง การให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอดส์ คนพิการ และผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติด เข้าทำงาน หรือรับการศึกษาต่อในหน่วยงานภาครัฐ) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการสร้างเสริมความเป็นธรรมในสังคมเรื่องสิทธิ โอกาสและความเสมอภาคแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ปรากฏผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยุทธศาสตร์และแนวปฏิบัติข้างต้นเป็นเพียงมาตรการเชิงบวกในลักษณะของการขอความร่วมมือตามความสมัครใจ และการสร้างจิตสำนึกจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ รง. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. สคก. สำนักงานประกันสังคม สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ สภาหอการค้าไทย และนายแพทย์ธีระ วรธราวัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้ทรงคุณวุฒิ) แล้ว ซึ่งมีผลสรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ กสม. |
สรุปผลการพิจารณา |
1. คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในภาคเอกชนให้ครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในโลกแห่งการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้แสวงหางานทำที่ยังมิได้อยู่ในฐานะลูกจ้าง และผู้มีฐานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นตั้งแต่กระบวนการพิจารณารับเข้าทำงาน การกำหนดเงื่อนไขในการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการสิ้นสุดการจ้าง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลอื่น โดยควรนำเอาแนวปฏิบัติระหว่างประเทศว่าด้วยเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กับสิทธิมนุษยชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ |
1. กระบวนการแก้ไขกฎหมายจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีการพัฒนา มีความสงบเรียบร้อย มีความเป็นธรรม ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้มีการคุ้มครองและได้รับสิทธิที่เหมาะสม 2. รง. ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยคณะทำงานได้ศึกษากฎหมายและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศว่าด้วยเชื้อเอชไอวี/เอดส์กับสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ 3. คณะทำงานฯ ได้ปรับปรุงแบบตรวจสอบ (Check List) ของพนักงานตรวจแรงงานให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวี และให้มีการพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้คุ้มครองสิทธิและไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริม ติดตาม และประเมินผลให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป 4. รง. ได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 และได้ส่งให้หน่วยปฏิบัติทั่วประเทศใช้ในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการนำไปปฏิบัติ รวมทั้งได้เผยแพร่ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว |
2. คณะรัฐมนตรีควรมีการจัดตั้งกลไกการคุ้มครองและตรวจสอบการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในโลกแห่งการทำงาน เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ และดำเนินการให้มีการเยียวยาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ถูกเลือกปฏิบัติ อันจะทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างมีประสิทธิภาพ |
1. รง. ได้มีหนังสือถึงหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศ กำชับและติดตามให้มีการส่งเสริมสถานประกอบกิจการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง แนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ตามแผนการส่งเสริมสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพื่อมิให้นายจ้างเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีของลูกจ้าง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หากละเมิดจะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด 2. รง. ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคและสมาคมแนวร่วมธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการตามมาตรฐาน ASO Thailand เพื่อมิให้การเลือกปฏิบัติกับแรงงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Partnership For Zero Discrimination Costed Operational Plan โดยโครงการนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเอดส์เสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่ง รง. ได้เสนอโครงการอบรมพนักงานตรวจแรงงานให้มีความรู้ด้านเอดส์ รวมถึงมาตรฐาน ASO Thailand ด้วยแล้ว 3. สธ. มีกลไกในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ดังนี้ 3.1 ด้านการคุ้มครองเยียวยาผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยได้วางแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันและดูแลรักษา ซึ่งประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ กำหนดแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2560 – 2573 โดยมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์เป็นประเทศแรกในปี 2573 3.2 ด้านการป้องกัน ดังนี้ 3.2.1 สำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุก ๆ 5 ปี 3.2.2 มีแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงานซึ่งประกาศใช้ในปี 2552 3.3 ด้านการเฝ้าระวังมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ โดยรับเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนถูกบริษัทปฏิเสธการรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน และส่งเสริมทำความเข้าใจกับบริษัทถึงสถานการณ์เอดส์ในปัจจุบัน |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ