กสศ. เผยนักเรียนยากจนพิเศษพุ่งนิวไฮ 1.3 ล้านคน หากปิดโรงเรียนถึงสิ้นปี 64 เด็กไทยความรู้ถดถอย 1.27 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 8006 ครั้ง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นักเรียนยากจนพิเศษพุ่งนิวไฮ 1.3 ล้านคน ช่วงชั้นรอยต่อกลับมาเรียน 82.82% แต่อีก 43,060 คนยังหายจากระบบ ม.3 และ ป.6 หลุดมากที่สุด - เด็กยากจนพิเศษ 271,888 คน ใน 29 จังหวัดโควิดระบาดหนัก ขาดแคลนไฟฟ้าและอุปกรณ์เข้าถึงการเรียนออนไลน์ ด้านเวิล์ดแบงก์คาดการณ์ หากปิดโรงเรียนถึงสิ้นปี 2564 นี้ เด็กไทยความรู้ถดถอย 1.27 ปี มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 30% ของจีดีพี | ที่มาภาพ: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานว่า​เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ‘สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในวิกฤตโควิด-19 การศึกษาไทยเดินหน้าอย่างไร ไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการเรียนรู้’

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าจากข้อมูลล่าสุดปีการศึกษา 1/2564 มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมด ในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน

“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 1,094 บาท อีกทั้งในรายละเอียดพบว่า รายได้จากการเกษตรหรือด้านอื่น ๆ ส่วนใหญ่ลดลง แต่รายได้ที่เพิ่มมาจาก​สวัสดิการรัฐ เงินช่วยเหลือเยียวยา และผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนเด็กยากจนพิเศษที่คัดกรองรอบใหม่ภาคเรียนที่ 1/2564 เพิ่มมากขึ้นเป็นนิวไฮ คือ 1,302,968 คน หรือเพิ่มขึ้น 128,524 คน จากภาคเรียนที่ 2/2563 โดยคาดหวังว่าจำนวนเด็กที่ยากจนฉับพลันหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นแค่เพียงสถานการณ์ชั่วคราวที่จะคลี่คลายและกลับไปสู่สภาวะปกติได้ในอีกในระยะเวลาไม่นาน

“จากความสุ่มเสี่ยงที่เด็กยากจนพิเศษจะหลุดจากระบบการศึกษา ที่ผ่านมา กสศ.​ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้นักเรียนยากจนพิเศษในช่วงชั้นรอยต่อกลับเข้าเรียนได้ โดยจากการติดตามล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม พบว่านักเรียนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อ 294,454 คนนั้น 82.82% หรือ 242,081 คนเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว แต่ยังมีเด็ก 43,060 คน หรือ 14.6% ยังไม่พบข้อมูลว่าได้กลับเข้ามาเรียนต่อ โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ม.3 จำนวน 33,710 คน และ ป.6 จำนวน 8,699 คน เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ติดตามเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้เขาได้รับโอกาสและสิทธิประโยชน์”

รองผู้จัดการ กสศ.​ กล่าวอีกว่า กสศ.ยังได้สำรวจนักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ประสบปัญหาการเรียนช่วงโควิด-19 เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าและอุปกรณ์ พบว่ามีนักเรียนที่ประสบปัญหาถึง 87.94% หรือ 271,888 คน โดยจังหวัดที่พบปัญหามากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ตาก นครราชสีมา และยะลา

“โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเด็กในเรื่องการติดเชื้อที่พบตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากต้นเดือนสิงหาคมที่มีเด็กติดเชื้อ 65,086 คน ขยับขึ้นเป็น 138,329 คนในต้นเดือนกันยายน และมีเด็​ก 366 คนสูญเสียพ่อแม่จากโควิด-19 ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลระยะยาวลักษณะเดียวกับความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ หรือสึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่ให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครองจากเหตุการณ์เหล่านั้น ให้ได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรี เพราะไม่มีใครมาช่วยดูแลพวกเขา รวมทั้งยังมีประเด็นเรื่องผลกระทบระยะยาว หรือ Long Coivd ที่เด็กจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรได้รับการติดตามเป็นระยะ ตั้งแต่ 6 เดือนไปถึง 3 ปี โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมา กสศ.ได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายตั้งศูนย์ช่วยเหลือวิกฤตโควิด-19 อีกด้านหนึ่ง​โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้สูญเสียการพัฒนาทุนมนุษย์ ในวันที่เด็กเกิดน้อยลง มีเด็กจำนวนมากที่กำลังเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา และยังเผชิญกับเรื่องความรู้ถดถอย หลังจากโควิดเราหวังว่าจะนำไปสู่ Build back equity นำความเสมอภาคกลับมา ประเทศก็จะสร้างการเจริญเติบโต

“กสศ. กำลังแสวงหาความร่วมมือเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา เป็นความพยายามที่อยากให้คนไทยทุกภาคส่วนเข้าไปสนับสนุนในส่วนไหนก็ได้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาชน ผู้นำทางความคิด มาร่วมเป็นเครือข่ายทางสังคมที่แน่นแฟ้น เอาชนะอุปสรรคไปด้วยกัน ทาง กสศ.ก็จะพยายามนำข้อมูลที่มีอยู่ มาแปลงเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น” รองผู้จัดการ กสศ.กล่าว

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่าผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเรียนราว 369 ล้านคน จากจำนวนประชากรเด็ก 375 ล้านคนทั่วโลก

หลายประเทศจึงได้นำวิธีการต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดความสูญเสียทางการศึกษาให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ด้วยการจัดการศึกษาผ่านออนไลน์ โทรทัศน์ ผสมผสานกับสื่อการเรียนรู้หลายรูปแบบ เช่น สั่งงานหรือการบ้าน ที่จะครอบคลุมถึงเด็กทุกกลุ่มไม่ให้หลุดจากการเรียนรู้ 100% อย่างไรก็ตาม การเรียนทางไกลกลับทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งชัดเจนขึ้น

ประเทศที่ถือว่าจัดการศึกษาออนไลน์ในระดับที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศจีน ที่ผลสำรวจชี้ว่าถึงแม้ครูกว่า 70% ยืนยันว่าเครื่องมือและระบบที่พร้อมและมีความเสถียรช่วยให้การจัดการศึกษาเข้าถึงนักเรียนได้ แต่อีก 40% ระบุว่าการเรียนผ่านระบบออนไลน์ทำให้เกิดปัญหาในการโต้ตอบกับนักเรียน รวมถึงอีกมากกว่า 50% ไม่สามารถจัดระเบียบควบคุมชั้นเรียนได้

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก PISA ระบุว่า ก่อนวิกฤตโควิด-19 มีเด็กนักเรียนในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียง 20% ขณะที่กลุ่มเด็กจากครอบครัวที่พร้อมสามารถเข้าถึงได้ 90% ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าหากสถานการณ์การเรียนทางไกลเพื่อรับมือโรคระบาดยังยืดเยื้อต่อไป จะยิ่งส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เกิดช่องว่างเพิ่มขึ้นในเด็กที่มาจากครอบครัวต่างกัน

ผลการศึกษาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า การจัดการศึกษาทางไกลทำให้ความรู้ของเด็กนักเรียนสูญหายไปราว 50% หรือเท่ากับเวลาประมาณครึ่งปี และหากสถานการณ์ยังต่อเนื่องไปถึงสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2021 อัตราการสูญหายทางการเรียนรู้ของเด็กจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเท่ากับช่วงเวลา 1 ปี การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนไปถึงผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจในอนาคตว่า จะมีมูลค่าความสูญเสียมากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์


ขณะที่ในประเทศไทย ถ้าสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2021 อัตราการสูญเสียการเรียนรู้จะอยู่ที่ประมาณ 1.27 ปี คิดความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 30% ของ GDP ซึ่งในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ความรู้ที่สูญเสียไปจะหมายถึงคุณภาพของตลาดแรงงานที่ด้อยลง และเด็กกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในตลาดแรงงานจนถึงปี 2081 หรือ 60 ปีนับจากนี้ และทุนมนุษย์ที่สูญเสียไปในช่วงนี้จะลดทอนศักยภาพอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง ทั้งการสะสมทุน ผลผลิตของประเทศ รวมไปถึงการลดลงของพัฒนาการในทุกด้าน

ดร.ดิลกะกล่าวว่า ปัญหาการศึกษาไทยมีมาก่อนวิกฤตโควิด-19 โดยตัวเลขจาก OECD ระบุว่า เด็กนักเรียนไทยกว่า 60% มีทักษะทางวิชาการต่ำกว่ามาตรฐานการเรียนรู้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม OECD ด้วยกัน โดยปัญหาหลักที่พบคือ การขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา โดยเฉพาะบุคลากรครูที่ไม่เพียงพอในโรงเรียนทุกระดับ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอน หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเอื้อต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน

ขณะที่กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย มีแผนการทำงานร่วมกับ กสศ. และ สพฐ. ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยโครงการ Fundamental School Standard ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วในประเทศต้นแบบ

โดยจะทำการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ทั้งการบริหารจัดการ ความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจนถึงโรงเรียนในเมืองทั่วประเทศ แล้วนำมาออกแบบนิยามมาตรฐานโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อให้ สพฐ.มีแนวทางในการแก้ปัญหาของแต่ละโรงเรียนให้ถูกจุด เพิ่มเติมในส่วนที่ขาด และยกระดับมาตรฐานทุกโรงเรียนให้ทัดเทียมกัน ทำให้ในอนาคตไม่ว่าเด็กจะอยู่ในพื้นที่ใด ก็จะสามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: