อัตลักษณ์ความเป็นชายหนุ่มและวัฒนธรรมฟุตบอลของ “หมาป่าแห่งลุ่มแม่น้ำลาว”

ชยกิติ์ สดสะอาด ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวร | 14 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4751 ครั้ง


การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมฟุตบอลอะคาเดมี

ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาเพียงไม่กี่ชนิดที่มีพัฒนาการกว่าศตวรรษและได้รับความนิยมทั่วโลก [1] ทั้งยังเป็นกีฬาที่มีแฟนคลับติดตามอย่างกว้างขวาง สำหรับประเทศไทย กีฬาฟุตบอลได้เริ่มมีการนำเข้ามาเล่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้น คนไทยยังไม่ได้นิยมและให้ความสนใจในกีฬาประเภทนี้เท่าใดนัก มีเพียงชาวต่างชาติที่นิยมเล่น จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีคนไทยไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ จึงทำให้มีการซึมซับกีฬาประเภทนี้มาด้วย กีฬาฟุตบอลจึงเริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชนชั้นสูงของไทย จนในสมัยรัชกาลที่ 6 ฟุตบอลได้เป็นที่รู้จักกันอย่างเเพร่หลาย ผ่านโรงเรียนสมัยใหม่ในจังหวัดต่างๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ผูกพันกับฟุตบอลมากว่า 110 ปีแล้ว นอกจากนี้ ฟุตบอลยังได้ถูกบรรจุในวิชาพละศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน [2]

แม้ว่าฟุตบอลจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงก่อนทศวรรษพ.ศ.2550 แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่เกมและกีฬา มีเพียงสโมสรและสมาคมฟุตบอลต่างๆ ที่ร่วมกันบริหารจัดการกีฬาประเภทนี้ไม่มากนัก หรือเรียกได้ว่าฟุตบอลยังไม่ได้ถูกยกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพ (professional) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา วงการฟุตบอลเริ่มให้ความสนใจการพัฒนาฟุตบอลให้เป็นอาชีพ และส่งเสริมศักยภาพนักเตะให้เป็นมืออาชีพอย่างจริงจัง โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดตั้ง “บริษัท   ไทยพรีเมียลีก จำกัด” เพื่อเข้ามาจัดการองค์การของฟุตบอลไทยให้มีมาตรฐานและเป็นระบบ โดยการยกสถานะสโมสรฟุตบอลในประเทศให้เป็นนิติบุคคล และยังได้ออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมกิจกรรมของสโมสรให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ร่างขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่กลางทศวรรษพ.ศ. 2550 เป็นต้นมา มีการเผยแพร่การฝึกเล่นฟุตบอลผ่านการจัดตั้ง “อะคาเดมี” (academy) หรือโรงเรียนสอนฟุตบอลให้กับเด็กในจังหวัดต่างๆ ฟุตบอลไทยได้ถูกพัฒนาให้เป็นอาชีพผ่านกระบวนการที่สโมสรในประเทศไทยได้แปลงกีฬาฟุตบอลให้เป็นสินค้าในระบบอุตสาหกรรม ฟุตบอลจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมการกีฬาที่สร้างผลกำไรเกิดขึ้นแก่สโมสรต่างๆ อย่างเป็นกอบเป็นกำ ปฏิบัติการของการสร้างอะคาเดมีสโมสรฟุตบอลเยาวชนจากอำเภอและจังหวัดต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับสถาบันฟุตบอลระดับชาติคือบริษัทไทยพรีเมียลีก จำกัด ฟุตบอลจึงกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของเยาวชน กล่าวคือฟุตบอลได้สร้างวิถีชีวิตใหม่ของเยาวชนหลายคนในทุกจังหวัดและแทบทุกอำเภอ เห็นได้จากการที่มีสนามฟุตบอล/สถานที่เล่นฟุตบอลอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในหมู่บ้าน โรงเรียน หรือสวนสาธารณะ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ฟุตบอลได้เข้ามาเป็นสิ่งที่สร้างความหมายใหม่ หรือตัวตนใหม่ให้แก่พวกเขา อีกหนึ่งเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่ากีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมสูงสุดคือ มูลค่าทางการตลาดของกีฬาชนิดนี้ที่สูงเป็นที่หนึ่งของกีฬาทุกชนิด ทั้งการที่มีผู้สนับสนุนด้วยการเป็นสปอนเซอร์โฆษณา การชมฟุตบอลจากยอดผู้ชมที่มีมากที่สุดในทุกกีฬา การสนับสนุนจากภาครัฐของแต่ละประเทศ และการประเมินมูลค่าของวงการฟุตบอลจาก สื่อต่างๆ [3]

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเป็นฟุตบอลอาชีพ ยังมีสถาบันที่เข้ามาจัดระบบและควบคุมฟุตบอลให้เป็นระเรียบเรียบร้อย เพื่อที่จะทำการแข่งขันกันในระบบหรือในโครงสร้างได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการวางโครงสร้างลีกการแข่งขันฟุตบอล (football league) ระดับประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการแข่งขันเข้ากับระดับภูมิภาคและระดับโลก มีการวางตารางจัดการแข่งขัน ช่วงเวลาจัดแข่ง รายการที่จะลงแข่งหรือกฎระเบียบต่างๆ ในการแข่งขัน ซึ่งล้วนมาจากองค์กรศูนย์กลางคือผู้บริหารสมาคมฟุตบอลไทย [4] และเพื่อทำให้เยาวชนนักเตะสามารถเข้าไปเป็นตัวแทนจังหวัด หรือที่สูงกว่านั้นคือเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ผู้เล่นจึงต้องเล่นฟุตบอลตามที่สมาคมฯ กำหนดมา ดังนั้น แน่นอนว่าฟุตบอลอะคาเดมีจึงได้ถูกเปลี่ยนความหมายใหม่ ไม่ใช่แค่การเล่นเพื่อความสนุกสนานอย่างช่วงก่อนกลางทศวรรษพ.ศ.2550

หน้าที่เฉพาะเจาะจองของอะคาเดมีคือคัดเลือกนักเรียนที่จะไป “ค้าแข้ง” ในการเป็นนักเตะมืออาชีพ และเข้าสู่สโมสรฟุตบอลอาชีพของจังหวัด จนไต่ไปสู่ “ลีกอาชีพ” และเป็นนักกีฬาทีมชาติต่อไป ในแง่การพัฒนาการศึกษาและเส้นทางอาชีพ อะคาเดมีถือว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมการศึกษาและการเข้าสู่อาชีพแบบใหม่ เป็นพื้นที่ของการเปิดโอกาสการศึกษาที่ซึ่งไปพ้นจากข้อจำกัดในการศึกษาของโรงเรียนมัธยม (การศึกษาสามัญ) และอาชีวะ/โปลีเทคนิค จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่าอะคาเดมีได้รับความสนใจจากวัยรุ่นชาย (นักเรียน) จำนวนมาก

ในแง่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อะคาเดมีถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพ ที่น่าสนใจคือเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งในฐานะผู้มีพรสวรรค์ ทักษะ และวิชาการด้านกีฬา ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมฟุตบอลอะคาเดมีเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เปิดโอกาสให้มีการสร้างอัตลักษณ์ของผู้แสดงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนและผู้ชม และอื่นๆ บทความนี้จึงต้องการวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของเยาวชนนักเตะในต่างจังหวัด ในโรงเรียนแม่ลาววิทยาคมที่มีการสร้างอะคาเดมีและทีมในชื่อ “แม่ลาววิทยาคม U-18” พร้อมฉายานามว่า “หมาป่าแห่งลุ่มแม่น้ำลาว” ในตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ที่ถูกสร้างผ่านการจัดการและควบคุมจากอะคาเดมีฟุตบอลโรงเรียน จังหวัด และสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมของวัยรุ่นชาย ภายใต้อัตลักษณ์ว่าด้วย “ความเป็นชายหนุ่ม” (young masculinity)

แม่ลาววิทยาคม U-18: หมาป่าแห่งลุ่มแม่น้ำลาว

แม้เชียงรายจะเป็นจังหวัดชายแดนอยู่ห่างไกลศูนย์กลางของประเทศ แต่การเล่นฟุตบอลก็หนีไม่พ้นวัฒนธรรม “ฟุตบอลอะคาเดมี” โดยการสร้างกีฬาฟุตบอลให้เป็นอาชีพ ที่ถูกควบคุมการเล่นและกำหนดรูปแบบการแข่งขันโดยศูนย์กลาง  ในจังหวัดนี้ มีโรงเรียนสอนกีฬาฟุตบอลและได้พัฒนาให้กีฬานี้กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน [5] สินค้าดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้าสู่ระบบและโครงสร้างการศึกษา โดยมีอะคาเดมีซึ่งเป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเป็น “สถาบัน” ที่ทำหน้าที่ทั้งแปลงกีฬา ให้เป็นทั้งสินค้า และเป็นทั้งการศึกษา

การสร้างทีมฟุตบอลอะคาเดมีของหมาป่าเริ่มแรกมาจากการสร้างของผู้จัดการทีม “ครูน้อย” หรืออนงค์ศรี กุณา จากโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อำเภอแม่ลาว ที่พบว่าเด็กนักเรียนไม่ต้องการศึกษาในสายการเรียนวิชาสามัญเพียงอย่างเดียว ประกอบกับเด็กนักเรียนที่ต้องการศึกษาด้านกีฬาเป็นทุนเดิม ทั้งครูและนักเรียนต่างก็มีความชอบในกีฬาฟุตบอล ดังนั้น ครูได้เริ่มสร้างชมรมเปิดให้เด็กได้เล่นกีฬาในช่วงวันที่ว่างหรือในตอนเย็น มีเด็กในโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่สนใจเล่นกีฬานี้ จากนั้นได้มีฝึกซ้อมในเวลาว่างที่ได้ทำกิจกรรมชมรมแล้วได้การคัดเลือกเด็กนักเรียนในชมรมโรงเรียนเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันกีฬาของสถานศึกษาในจังหวัด

หลังผ่านช่วงเวลาเริ่มต้นของการทำทีมกีฬาเพื่อสุขภาพและความสนุกสนานเป็นหลัก ในช่วงนั้นนั้นความนิยมกีฬาฟุตบอลในสังคมไทยเติบโตอย่างมาก ครูน้อยได้เล็งเห็นว่าฟุตบอลสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาฟุตบอล กรรมการกีฬาฟุตบอล หรือโค้ชผู้จัดการทีมฟุตบอล ครูพละ จึงได้คิดหาทางที่จะพัฒนาทีมของโรงเรียนให้เป็นอะคาเดมี

ครูมีความรู้สึกชอบฟุตบอล ถ้าไม่มีความชอบในกีฬานี้จริงๆ ไม่สามารถเข้ามาทำงานนี้ได้หรอก เพราะมันต้องจัดการอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาที่ต้องควบคุมให้อยู่ โค้ช คุยกับคนที่อยู่เหนือกว่าครูเอง ถ้าปิงปองเองไปแข่งทีก็ 4-5 คน แต่ฟุตบอลนี่มีคนมากกว่ากี่เท่า มันเลยมีปัญหามากขึ้นด้วยดั่งนั้นจึงต้องมีความรักที่จะทำงานนี้ [ครูน้อย สัมภาษณ์, 31 กรกฎาคม 2563]

ครูและทางโรงเรียนได้เห็นว่าควรมีการทำแผนการศึกษาในสายการเรียนกีฬาขึ้นเพื่อเปิดให้เด็กนักเรียนและเยาวชนภายนอกได้เข้ามาคัดหรือสอบเข้าศึกษาในสายการเรียนนี้และจัดระบบให้เรียบร้อยเพื่อให้มีการจัดการทีมที่สะดวกมีขึ้น จึงได้มีเด็กจากต่างจังหวัดเข้ามาศึกษาในโรงเรียน ด้วยความที่ว่ามาจากต่างจังหวัด ทำให้โรงเรียนต้องเตรียมที่พักไว้ให้เด็กที่อยู่ในอะคาเดมี่ ต้องดูแลพวกเขา 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินเรื่องการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวัน

เมื่อต้องเป็นผู้ดูแลและการนำนักเรียนมาพักแรมที่โรงเรียนต้องมีที่เข้ามาควบคุมผ่านกฎของทีมให้นักกีฬาปฏิบัติตาม เช่นการตื่นนอนเวลาตี 5 ในตอนเช้า พร้อมกันทั้งทีม ไม่ให้นักกีฬาออกจากโรงเรียนในยามวิกาล สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ในวันศุกร์และกลับเข้ามาในโรงเรียนในวันอาทิตย์ หากมีเหตุจำเป็นให้ขออนุญาตจากผู้จัดการทีม ห้ามมิให้นักกีฬาทะเลาะวิวาทกันในทีม และถ้าหากเกิดการกระทำผิดกฎขึ้นนักกีฬาในทีมจะถูกไล่ออกแล้วส่งกลับทันที

ครูเพิ่งส่งเด็ก (อำเภอ) เชียงแสนกลับบ้านไปเมื่ออาทิตย์ก่อน เพราะเขาไม่สามารถปรับเข้ากับเพื่อนร่วมทีมและทีมงานโค้ชได้ ไม่มีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมไม่มีน้ำใจนักกีฬา คิดว่าตัวเองเล่นเก่งเล่นดีแต่ไม่มีวินัย ครูก็ไม่เอาเหมือนกัน เนี่ยยังทำเรื่องส่งตัวในสถานศึกษาไม่เสร็จเลย [ครูน้อย, สัมภาษณ์, 31 กรกฎาคม 2563]

จากการที่มีกฎเกิดขึ้นจะต้องมีผู้ควบคุมใช้กฎ ผู้บังคับใช้คือครูผู้จัดการทีมและเหล่าทีมงานโค้ช เมื่อทีมเริ่มพัฒนาไปข้างหน้าเติบโตขึ้นไป ขนาดใหญ่ขึ้น ไปแข่งขันในรายการที่ใหญ่ขึ้น ซ้อมหนักและเข้มข้น จึงจำเป็นต้องจ้างโค้ชและทีมโค้ชมาเพื่อซ้อม วางแทคติก ดูแลเด็กในที่พัก ทางครูน้อยได้รับสมัครโค้ชและทีมงานเข้ามาทำงานนี้โดยได้ “โค้ชทัวร์” กับ “โค้ชเทล” ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นเครือข่ายของครูอยู่แล้วด้วยเนื่องจากครูเป็นศิษย์เก่าของมหาลัยราชภัฏเชียงราย อยู่คณะเดียวกันและได้เข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยจึงได้รู้จักแล้วชักชวนเข้ามาสอบคัดเลือกและร่วมงานกัน กระนั้นแล้วครูยังมีเครือข่ายจากสมาคมที่ได้เข้ามาช่วยเหลือสร้างทีม การที่ได้เครือข่ายจากสมาคมฟุตบอลได้มาจากการที่ครูน้อยเข้าร่วมการอบรมโค้ชที่สมาคมจัดอบรมขึ้นและเชิญให้ครูมาปฏิบัติสัมพันธ์ทางสังคมต่อจากการอบรมครั้งนั้น ทำให้สมาคมได้มีการเข้ามาช่วยวางแผนการพัฒนาทีม

ความหมายใหม่ของกีฬาฟุตบอล

ปัจจุบันสโมสรแม่ลาววิทยาคม U-18 มีนักกีฬาที่เป็นนักเรียนอยู่ทุกชั้นปีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4-6 รวม 48 คน ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายในการที่จะเข้ามาเล่นฟุตบอลฟุตบอล การที่น้องๆ เป็นนักกีฬาฟุตบอลได้เข้ามาฝึกฟุตบอลในสโมสรหรือทีมฟุตบอลหมาป่านั้น เพื่อที่จะทำให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการไม่ว่าจะเป็นการที่น้องต้องการเป็นไปตามไอดอลของพวกเขาที่มีหน้าตาหล่อเหลาตามที่สังคมนิยม และตัวตนของความเป็นสุภาพบุรุษที่นักกีฬาฟุตบอลอาชีพตามที่สังคมวาดภาพ ตลอดจนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้จากค่าตอบแทนของกีฬาฟุตบอลอาชีพในปัจจุบัน

น้องบีม (นามสมมติ) และน้องแทค (นามสมมติ) เป็นนักเตะของแม่ลาววิทยาคม U-18 ที่เดินตามนักค้าแข็งแบบไอดอลของพวกเขา และต้องการเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจด้วยฟุตบอลในขณะเดียวกัน

เพราะว่าชอบฟุตบอลตั้งแต่เด็กแล้วครับ และผมก็มีไอดอลเป็นนักบอลอยู่ในทีมเมืองทอง เป็นนักฟุตบอลทีมชาติด้วยครับ ผมเลยอยากที่จะได้เป็นเหมือนเขาครับ และผมอยากเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว อาชีพนี้มันได้เงินสูงครับ ถึงแม้มันจะสั้น [น้องบีม, สัมภาษณ์, 18 ธันวาคม 2562]

ผมเป็นเด็กจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ครับ ที่ตัดสินใจเข้ามาซ้อมฟุตบอลที่นี่เพราะเล่นฟุตบอลตามนักเตะที่ผมชอบ มีความชอบในกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว และมีพี่ที่รู้จักมาเล่นฟุตบอลอยู่ที่นี่อยู่ครับ บวกกับผมเรียนไม่ค่อยดีอ่ะ ผมเลยจะทำอาชีพนักฟุตบอลด้วย พอมาแรกๆ ก็แปลกที่แต่อยู่ที่นี่แล้วก็มีความสุขดี ครูเอาใจใส่มากกว่าที่อื่นด้วย ผมเคยไปซ้อมที่เชียงใหม่นะ แต่ไม่มีความสุข ผมได้มาดูการแข่งของทีมนี้หลายครั้งแล้ว เลยอยากมาเล่นบอลกับเพื่อนด้วย [น้องแท็ค, สัมภาษณ์, 31 กรกฎาคม 2563]

จะเห็นว่าความเป็นชายหนุ่ม ความเป็นสุภาพบุรุษไม่ได้มีความหมายที่รูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียวสำหรับการเป็นนักฟุตบอลของทีมแม่ลาววิทยาคม U-18 แต่ยังหมายถึงการหารายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวอีกด้วย รวมถึงการเป็นคนดีที่ได้ปฏิบัติตามกฎของสังคม เริ่มต้นจากการปฏิบัติตามกฎของสโมสร เปรียบเสมือนการปฏิบัติตามกฎหมายที่คนในสังคมนิยามว่าเป็นคนดีของสังคม นักกีฬาที่ปฏิบัติตามก็สามารถถูกนิยามไว้ได้ว่าเป็นนักกีฬาที่ดี มีวินัยต่อตัวเองและมีวินัยในทีม เพื่อภาพลักษณ์ของความเป็นชายหนุ่มที่เกิดจากความนิยมของคนในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องการความป่าเถื่อนแต่ต้องการภาพลักษณ์ที่ดูดีความหล่อตามที่สังคมนิยม [6] การเป็นนักฟุตบอลด้วยคุณลักษณะดังกล่าวจึงส่งผลให้ภาพลักษณ์ของทีมดูดีขึ้น ความมีวินัยฝึกฝนนั่นก็หมายถึงการเป็นสุภาพบุรุษ ที่ถูกผลิตซ้ำในทุกรุ่นของนักกีฬาในสโมสร และกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในการเป็นนักกีฬาที่ดีของทีม

วิถีชีวิตของเด็กนักฟุตบอลในอะคาเดมีหมาป่าจึงเป็นวีถียุคใหม่ เพราะส่วนใหญ่ของนักกีฬาในอะคาเดมีเป็นคนชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง จากแต่ก่อนเป็นเพียงชนชั้นบนที่เล่นกีฬาฟุตบอลเนื่องจากเป็นกีฬาที่รู้จักในวงแคบตามที่กล่าวไปข้างต้น หลายคนต้องการเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะครอบครัวให้ดีขึ้น เพราะเป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนที่สูง แต่ก็ต้องผ่านการซ้อมอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ตั้งใจ มีวินัย เมื่อมีการแข่งขันก็พยายามแสดงความสามารถในการเล่นให้ดีเพื่อให้มีสโมสรสนใจที่จะจ้างตัวไปเล่นเป็นนักกีฬาอาชีพ จะเห็นได้จากทบสัมภาษณ์ของน้องเจ (นามสมมติ)

บ้านของผมอยู่ที่แม่อาย เชียงใหม่ พ่อแม่ผมทำงานรับจ้างทั่วไปครับ ประจำบ้างไม่ประจำบ้าง ฐานะก็พอมีอยู่ครับ ที่ตัดสินใจเข้ามาเตะบอลในอะคาเดมีก็ชอบครับ อยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพื่อที่จะมาพัฒนาตนเองก็อยากก้าวไปในจุดที่สูงขึ้น แล้วก็อยากทำอาชีพในนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่เงินเดือนสูง สนุกด้วยครับ ท้าทายเสี่ยงดีครับ ของอย่างนี้มันต้องมีความคิดดีนะ ใครไปถึงก็ดีครับ บางคนท้อก็เลิก บางคนจบม. 6 ก็หยุดเล่นแล้วครับ [สัมภาษณ์, 18 ธันวาคม 2562]

การเปลี่ยนแปลงสถานะทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเยาวชนเข้ามาฝึกฝนในทีมแม่ลาววิทยาคม U-18เชียงราย โดยเฉพาะการสร้างรายได้ที่สนับสนุนครอบครัว จนเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของสังคมและเป็นการสร้างชื่อเสียงในลำดับถัดมา ในฐานะ “สุภาพบุรุษลูกหนัง”  ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อโฆษณารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ที่มีการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ชุดความคิดที่ได้ถูกผลิตซ้ำนี้ทำให้เด็กเยาวชนเข้ามาฝึกฝนตนเองด้วยการสร้างอัตลักษณ์ดังกล่าวเพื่อเข้าสู่เส้นทางนักกีฬาฟุตบอลมืออาชีพ

อัตลักษณ์ความเป็นชายหนุ่ม

กระบวนการสร้างทีมและระบบการฝึกของเตะในโรงเรียนจึงถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลอะคาเดมีของนักเตะแม่ลาววิทยาคม U-18 ที่เกิดจากสมาคมฟุตบอลระดับชาติ ที่ต้องการผลิตนักฟุตบอลเข้าสู่อุตสาหกรรมฟุตบอลไทยด้วยอัตลักษณ์ใหม่ของความเป็นชายหนุ่มที่วินัย รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ที่นอกเหนือไปจากหน้าตา ซึ่งแตกต่างจากความเป็นชายหนุ่มในอดีต ที่การเป็นนักกีฬาฟุตบอลชายมีความหมายเพื่อการออกกำลังกาย หรือเล่นเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก หรือสร้างความสัมพันธ์กับผู้เล่นอื่นๆ จากการเล่นกีฬาเป็นทีม นอกจากนี้ ฟุตบอลยังเป็นหนึ่งในกีฬาที่สร้างความเชื่อว่าจะทำให้ตนเองแข็งแกร่ง อยู่เหนือคนอื่นหรือกลุ่มอื่น แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตของนักฟุตบอลสำหรับเยาวชนได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นนักกีฬามืออาชีพที่ต้องมีวินัย ตั้งใจจริงจังในการฝึกซ้อมไม่ได้เล่นแค่เพื่อความสนุก และเป็นเส้นทางในการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพในเส้นทางนักฟุตบอลต่อไปข้างหน้า

ผมวางแผนไว้คือการตั้งใจซ้อมไปเล่นในไทยลีกครับ แต่มันก็อาจจะสูงเกินนะครับผมกะว่าเอาแค่ ลีกรอง ลีก 2 ลีก 3 ก็พอแล้วครับ ทีมไหนก็ได้ครับที่ให้ผมลงบ่อยๆ ได้เงินดีๆ หน่อย แล้วเวลาที่ลงเล่นก็ฟอร์มต้องดี แต่ไม่ใช่แค่เล่นดีนะ ต้องเข้าใจแทคติกของโค้ชด้วย เราถึงจะได้ลงเล่น และต้องได้ความเชื่อใจจากโค้ชที่จะให้เราลงเล่น แล้วก็อยากติดทีมชาติ ความฝันสูงสุดของคนไทยคือได้เล่นให้ทีมชาติเนี่ยพี่ถึงไม่ใช่คนไทยแต่อยู่ในประเทศไทยก็อยากติดธงก็มีนะพี่ ได้เล่นให้ประเทศชาตินี่สุดยอดแล้วครับ ได้และก็จะได้อะไรหลายๆ อย่าง [น้องเจ (นามสมมติ), สัมภาษณ์18 ธันวาคม 2562]

เช่นเดียวกับน้องอดุล (นามสมมติ) และน้องซี (นามสมมุติ) ฐานะทางบ้านของทั้ง 2 คนอยู่ในระดับปานกลาง มาจากต่างอำเภอ อดุลมาจากอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนซีมาจากอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ต้องมาอยู่กินนอนและเรียนหนังสือที่อะคาเดมี โดยทั้งสองคนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าหลังหมดสัญญากับอะคาเดมีจะต้องไปเป็นนักกีฬาอาชีพให้ได้

ผมอยู่ที่แม่อายจังหวัดเชียงใหม่ ติดกับชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านก็พอมีพอกิน ทำงานรับจ้างขนของ เพราะว่าผมชอบบอลครับ ผมอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ อยู่บ้านผมก็ไม่มีโอกาสผมเลยลงมาหาโอกาสที่นี่ ฟุตบอลให้เพื่อนครับ ให้ความสามัคคีและก็วินัยครับ อาจจะให้อาชีพครับถ้าไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพก็อาจจะไปเป็นครูสอนฟุตบอลหรือเป็นโค้ช สอบ license (ใบอนุญาต) สิ่งที่ผมต้องการจากฟุตบอลคือผมก็ต้องการอาชีพครับ อาชีพนี้ทำเงินดีครับ [น้องอดุล  สัมภาษณ์, 17 ธันวาคม 2562]

มาจากเวียงเชียงรุ้งครับ พ่อแม่ทำงานเป็นเกษตรกรครับ ก็ปลูกข้าว ข้าวนาธรรมดาครับ เข้ามาเรียนในสายฟุตบอลเพราะว่าผมชอบฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ แล้วผมเห็นเขาเปิดคัดเลือกผมก็เลยลองมาคัดดูครับแล้วคัดเลือกติด อยู่ที่นี่ก็สนุกดีครับ ได้รู้จักเพื่อนเยอะก็เลยสนุกครับ สิ่งที่ต้องการได้จากการเล่นฟุตบอลถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากเล่นเป็นอาชีพเลยครับเพราะว่าค่าตอบแทนของการเป็นนักกีฬาอาชีพมันสูงครับ สาเหตุอื่นที่เข้ามาเตะฟุตบอลก็มีนะครับ ก็แบบมีนักเตะที่ผมชื่นชอบผมก็เลยเข้ามาเตะฟุตบอล อยากจะเป็นแบบเขา  [น้องซี สัมภาษณ์, 17 ธันวาคม 2562]

วัฒนธรรมฟุตบอลอะคาเดมีได้สร้างอัตลักษณ์บางอย่างที่แสดงลักษณะที่สำคัญของกลุ่มนักฟุตบอลอะคาเดมี อย่างเช่น ความมีวินัย เครือข่ายทางสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่ไม่ใช่สถาบันครอบครัวโดยมีกฎควบคุมไว้ ดังนั้นวัฒนธรรมฟุตบอลอะคาเดมีได้สร้างให้เกิดอัตลัษณ์ความเป็นชายหนุ่มของนักกีฬาฟุตบอลที่ต่างจากความเป็นชายหนุ่มของนักฟุตบอลในอดีต กล่าวคือตัวนักกีฬานั้นจะมีอัตลัษณ์ของความเป็นชายหนุ่มมีที่ความหล่อ ความเท่ห์ เป็นสุภาพบุรุษ มีภาพลักษณ์ที่ดี ตามความนิยมของผู้บริโภคกีฬาฟุตบอล เพื่อที่จะนำตัวเองไปสู่การเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพหรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอะคาเดมี ซึ่งไม่ใช่อาชีพอื่นทั่วไป

ฟุตบอลได้ให้เพื่อนครับ ให้ความสามัคคีและก็วินัยครับ อาจจะให้อาชีพครับ ถ้าไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพก็อาจจะไปเป็นครูสอนฟุตบอลหรือเป็นโค้ช สอบ License ผมก็ต้องการอาชีพครับ อาชีพนี้ทำเงินดีครับ [น้องอดุล สัมภาษณ์, 17 ธันวาคม 2562]

ความคาดหวังที่ผมมีกับฟุตบอลผมจะเป็นนักเตะอาชีพครับเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เรารักและอยากทำตามความฝันครับ และผมอยากเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว อาชีพนี้มันได้เงินสูงครับถึงแม้มันจะสั้น สิ่งที่ผมได้จากฟุตบอลก็คือประสบการณ์และมิตรภาพ ก็มีมิตรภาพครับ เวลาอยู่กับเพื่อนก็มีความสุขแล้วก็ได้เพื่อนใหม่ ได้ไปแข่งที่ต่างๆ...แล้วผมก็จริงจังครับมีให้ผมเลือกอยู่แค่ 2 ทางครับถ้าไม่ได้เป็นนักเตะฟุตบอลอาชีพ ก็จะไปเป็นครูสอนฟุตบอลหรือครูพละครับ [น้องบีม, สัมภาษณ์, 18 ธันวาคม 2562]

 

อ้างอิง

[1] รณพงศ์ คำนวณทิพย์. (2549). ลูกหนังพันธุ์ล้าน. กรุงเทพฯ: เนชั่นมัลติมีเดีย

[2] วสันต์ ปัญญาแก้ว. (2559). ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก: ผู้หญิง อำนาจ วัฒนธรรมแฟน และชนชั้นใหม่. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[3] รณพงศ์ คำนวณทิพย์. (2549). ลูกหนังพันธุ์ล้าน. กรุงเทพฯ: เนชั่นมัลติมีเดีย

[4] อาจินต์ ทองอยู่คง. (2560). ฟุตบอลไทย  เซเล็บ สถานะทางสังคมแบบใหม่ของแรงงานกีฬากับความโหยหาวีรบุรุษของสังคมไทย. วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 5(1), 85-109.

[5] พงษ์นรินทร์ ว่องวิทย์, เพ็ญศรี ฉิรินัง, อรุณ รักธรรม และสมพร เฟื่องจันทร์. (2562). การเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาฟุตบอล. Veridian E-Journal, Silpakorn University, 12(60), 528-48.

[6] อาจินต์ ทองอยู่คง. (2560). ฟุตบอลไทย  เซเล็บ สถานะทางสังคมแบบใหม่ของแรงงานกีฬากับความโหยหาวีรบุรุษของสังคมไทย. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 5(1), 85-109.

 


 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอกราบคุณรองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะที่ปรึกษางานวิจัยนี้ ที่ให้ความกรุณาช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาอย่างดียิ่ง และดร. บุศรินทร์ เลิศชวลิตรสกุล ที่มอบโอกาสครั้งนี้ในการเขียนบทความ และให้คำแนะนำในการเขียน ด้วยความเมตตา เอาใจใส่อย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใดขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงแด่บิดามารดา และคนในครอบครัวของผู้เขียนที่ให้ความช่วยเหลือ ให้ทั้งกำลังใจและกำลังทุนทรัพย์ตลอดการเรียนและการทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสมอมา

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผู้เขียนดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ.2563 ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมในแม่ลาววิทยาคม U-18 เชียงรายที่มีเยาวชนชายอายุ 15-18 ปีเป็นสมาชิก

ที่มาภาพ: แม่ลาววิทยาคม U18

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: