ปี 2560-2563 แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตประมาณ 10% ต่อปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 5070 ครั้ง

ปี 2560-2563 แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตประมาณ 10% ต่อปี

ก.เกษตรและสหกรณ์ เผยแนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรตั้งแต่ปี 2560-2563 มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี ขณะที่พื้นที่ปลูกสมุนไพรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน | ที่มาภาพประกอบ: สวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2564 ว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรตั้งแต่ปี 2560-2563 มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี ขณะที่พื้นที่ปลูกสมุนไพรมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยมาจากความต้องการของตลาด และนโยบายการส่งเสริมทั้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้หันมาให้ความสนใจในการบริโภคสมุนไพร

"มูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.3% หลังประกาศใช้แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-64 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตมากกว่าจีนที่เติบโตเฉลี่ย 5.06% ญี่ปุ่น 0.85% และเกาหลีใต้ 5.43% ขณะที่ในตลาดโลกพบว่ามีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน" นายเฉลิมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของพืชสมุนไพรที่มีทิศทางการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นผลดีกับเกษตรกร จึงมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย และพืชทางเลือกอื่นๆ โดยเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้หลักการ "ตลาดนำการผลิต" ที่เน้นผลิตพืชที่มีศักยภาพ มีความต้องการของตลาด และที่สำคัญสอดล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและทรัพยากรของประเทศ

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพร และคณะทำงานขับเคลื่อนพัฒนาผลิตผลสมุนไพรที่มีศักยภาพ มาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) ที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวน 24 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย และว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น

"จากที่ได้เปิดให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรมาขึ้นทะเบียน พบว่า เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนรวม 2,866 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดตั้งเกษตรแปลงใหญ่สมุนไพรได้ถึง 34 แปลง ใน 21 จังหวัด เกษตรกรสมาชิก 1,531 ราย คิดเป็นพื้นที่ 5,500 ไร่ และเพื่อยกระดับการผลิต ในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอของบประมาณจัดทำโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าพืชสมุนไพร เพื่อขยายกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดด้วย" นายทองเปลว กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: