กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ประสบความสำเร็จจากการขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเป็นปะการังเทียมบริเวณเกาะพะงัน พบมีสัตว์ทะเลหายากมาอยู่อาศัยและปะการังมาเกาะเป็นจำนวนมาก
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2564 ว่านายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากการสำรวจหลังนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะรังเทียม บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2563 รวมระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) , บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามประเมินผลบริเวณปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมของโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พบวัสดุขาแท่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำทะเลและตะกอนพื้นท้องทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด จึงมีปลาหลากหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง // ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาริวกิว และปลาหลายชนิดที่ไม่เคยพบบริเวณดังกล่าวมานานกลับเข้ามาอาศัยอยู่ เช่น ปลาหางแข็ง ปลาโฉมงาม รวมทั้ง บริเวณขาแท่นที่อยู่ใต้น้ำยังพบมีกลุ่มปะการังอ่อนและกัลปังหา สามารถเจริญเติบโตได้ดี แล้วมีโอกาสขยายพื้นที่ปกคลุมเพิ่มขึ้นด้วย
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวย้ำว่า ทช. ยังได้ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่กองปะการังเทียมและออกมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 2 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลฟื้นตัวแล้วกลับเข้ามาอาศัย จากนี้ 3 หน่วยงานจะติดตามความคืบหน้าโครงการต่อเนื่องเพื่อนำมาถอดบทเรียนให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ คาดว่า จะเป็นแหล่งเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคตสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือการสงวน อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ในอนาคต
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ