คำสั่งของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับวัคซีน COVID-19 กำลังถูกท้าทายในศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยผู้คัดค้านอ้างเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพและความเชื่อทางศาสนาของตนเพื่อปฏิเสธวัคซีน COVID-19 ได้ | ที่มาภาพประกอบ: Twitter/Wendy Rogers
VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2021 ว่าคำสั่งของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนซึ่งกำหนดให้ธุรกิจสหรัฐฯ ที่มีคนทำงานมากกว่า 100 คน ต้องบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับวัคซีน COVID-19 กำลังถูกท้าทายในศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ขณะที่ผู้คัดค้านการรับวัคซีนก็สามารถอ้างเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพและความเชื่อทางศาสนาของตนเพื่อปฏิเสธวัคซีน COVID-19 ได้
โดยถึงแม้จะมีรัฐบาลของบางมลรัฐ กลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม รวมทั้งองค์กรทางศาสนาบางแห่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนเรื่องการกำหนดให้พนักงานของธุรกิจที่จ้างงานตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไปต้องเข้ารับวัคซีนและได้ยื่นฟ้องต่อศาลโดยอ้างว่าเรื่องนี้ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญนั้น
แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขอย่างเช่นนายแพทย์ Vivek Murthy ในฐานะ Surgeon General หรือแพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ กลับมองว่าบางครั้งการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวก็มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนก็ให้เหตุผลว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์และรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพในสถานที่ทำงานด้วย
แต่จากมุมมองของนักการเมืองบางคน เช่น นาย Ron DeSantis ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาของพรรครีพับลิกัน เขาคิดว่าคนทั่วไปไม่ต้องการให้บุคคลอื่นหรือรัฐบาลกลางมาตัดสินใจเรื่องนี้แทนตนเอง แต่ไม่ว่าความเชื่อและผลลัพธ์ของกระบวนการโต้แย้งในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือมีหลายรัฐในสหรัฐฯ ขณะนี้ที่กำหนดให้ประชาชนต้องเข้ารับวัคซีน COVID-19 แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่สามารถขอยกเว้นได้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพและกลุ่มที่อ้างความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียขณะนี้อนุญาตให้ประชาชนขอไม่รับวัคซีน COVID-19 ด้วยเหตุผลความเชื่อทางศาสนาได้ โดยแพทย์หญิง Monica Gandhi ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออธิบายว่าการขอยกเว้นเรื่องนี้จะต้องเข้าตามเกณฑ์สองอย่าง โดยอย่างแรกนั้นคือความเชื่ออย่างจริงใจของบุคคลดังกล่าวหรือของศาสนานั้น และสองคือผู้นำทางศาสนาในชุมชนจะต้องสนับสนุนเหตุผลเรื่องนี้และออกเอกสารยืนยันรับรองสำหรับบุคคลดังกล่าวให้กับทางการ
คำถามก็คือทำไมผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาบางคนจึงคัดค้านการรับวัคซีน COVID-19
เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์ Dorit Reiss ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียอธิบายว่าเหตุผลด้านหนึ่งมาจากข้ออ้างทางศาสนาที่ว่าวัคซีนโควิด-19 มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เซลล์ตัวอ่อนที่ได้จากการทำแท้ง โดยอาจารย์ Reiss ชี้ว่าขณะที่วัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson ใช้เซลล์จากตัวอ่อนในกระบวนการผลิตแต่วัคซีนประเภท mRNA ไม่ได้ใช้เซลล์ประเภทนี้ก็ตาม แต่ในการทดสอบวัคซีนได้มีการใช้เซลล์จากตัวอ่อนซึ่งก็ทำให้เกิดเหตุผลคัดค้านในกลุ่มผู้มีความเชื่อทางศาสนาบางกลุ่มขึ้นมา
และถึงแม้อาจารย์ Dorit Reiss จะอธิบายว่านายจ้างหรือรัฐบาลมักพิจารณาข้ออ้างเพื่อขอยกเว้นวัคซีนนี้เป็นกรณีๆ ไป แต่สำหรับผู้มีความเชื่อทางศาสนาบางคน เช่น คุณ Anatoly Koptev ในนครลอสแองเจลิสก็ยืนยันว่าถึงแม้ตนอาจจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนในอดีต แต่หากตนเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนาที่แม้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อวันวานก็ตาม มาในวันนี้ตนก็ควรมีสิทธิที่จะขอยกเว้นไม่รับวัคซีนด้วยเหตุผลความเชื่อทางศาสนาอยู่ดี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ