รายงานของ Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (ภาคีความร่วมมือระหว่าง FIDH-OMCT) ระบุผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง และเป็นแกนนำการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบในประเทศไทยในปี 2563 พวกเธอมักต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดทอนความชอบธรรมในการทำงานและทำลายความน่าเชื่อถือ ทำให้พวกเธอหมดกำลังใจที่จะเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงต่อไป | ที่มาภาพ: LAUREN DECICCA / GETTY IMAGES VIA AFP (อ้างใน fidh.org)
เว็บไซต์ FIDH : INTERNATIONAL FEDERATION FOR HUMAN RIGHTS รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2564 ว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง และเป็นแกนนำการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบในประเทศไทยในปี 2563 พวกเธอมักต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดทอนความชอบธรรมในการทำงานและทำลายความน่าเชื่อถือ ทำให้พวกเธอหมดกำลังใจที่จะเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงต่อไป ทั้งนี้ตามข้อมูลในรายงานใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ของ Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (เป็นภาคีความร่วมมือระหว่าง FIDH-OMCT)
รายงานชื่อ “ทระนงองอาจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในแนวหน้าของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของไทย” เกิดจากการสัมภาษณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 22 คน ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในระหว่างการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ
“นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยหญิงผู้กล้าหาญ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระแสการประท้วงทั่วประเทศไทยในปี 2563 การดำเนินงานของพวกเธอเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่เราควรยอมรับและยินดี โดยทางการไทยควรปกป้องพวกเธอ แทนที่จะโจมตีทำร้ายพวกเธอ” กิสซู จาฮานกิรี รองประธาน FIDH ระบุ
ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ รวมทั้งเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตกเป็นเป้าหมายอย่างเป็นระบบ ทั้งของหน่วยงานรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เนื่องจากการเข้าร่วมการประท้วงทั่วประเทศ ทางการไทยได้โจมตีทำร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯครั้งแล้วครั้งเล่าโดยใช้ทั้งกฎหมายและคำสั่งกดขี่ปราบปรามที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ The Observatory บันทึกข้อมูลการดำเนินคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ 11 คน รวมทั้งเยาวชนหนึ่งคน จากการเข้าร่วมในการประท้วง ในจำนวนนั้น ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯสี่คนถูกจับ ควบคุมตัว และได้รับการปล่อยตัวออกมา บางส่วนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ 11 คนนี้ยังถูกดำเนินคดีอาญา 10 คดีหรือมากกว่า
ทางการยังมักคุกคาม ข่มขู่ และสอดส่องข้อมูลของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯและครอบครัวของพวกเธออยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงการไปเยี่ยมที่บ้านและสถานศึกษาเพื่อข่มขู่หรือเพื่อสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของพวกเธอ ทั้งยังมีการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะทางเพศสภาพ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ให้ข้อมูลว่า มักถูกโจมตีทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนใหญ่ในลักษณะการพูดจาที่ไม่เหมาะสม และการคุกคามที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพอย่างโจ่งแจ้ง และ/หรือเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางเพศสภาพของพวกเธอ โดยมักเกิดขึ้นพร้อมกับการโจมตีและคุกคามทางออนไลน์โดยตัวแสดงที่ไม่ใช่ของรัฐ
พวกเธอยังต้องเจอกับแรงกดดันจากคนใกล้ตัว อันเป็นผลมาจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวของพวกเธอ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสำคัญโดยเฉพาะต่อนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งหลายคนยังต้องพึ่งพาอาศัยครอบครัวตัวเอง ผู้หญิงนักกิจกรรมยังต้องเผชิญอุปสรรคภายในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยบางส่วนของขบวนการมักเพิกเฉยหรือกีดกันนักกิจกรรมหญิงเหล่านี้ รวมทั้งความเห็นและการมีส่วนร่วมของพวกเธอ ผลจากการคุกคาม การโจมตีทำร้าย และปัญหาท้าทาย ทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ อาจเกิดอาการเครียดเรื้อรัง หมดไฟ หรือกระทบต่อความเคารพในตนเอง
“ผู้หญิงถือเป็นหัวใจของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเยาวชนเป็นแกนนำในประเทศไทย เราควรมองการมีส่วนร่วมของพวกเธอกับอนาคตของประชาธิปไตย ความยุติธรรม สิทธิที่เท่าเทียม และความเท่าเทียมระหว่างเพศในไทยว่า เป็นสัญญาณของความเข้มแข็งและเป็นความหวังในอนาคตของสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรยอมรับแทนที่จะปราบปราม” เกรัลท์ ชตาเบอโรค เลขาธิการ OMCT ระบุ
รายงานยังมีข้อเสนอแนะหลายประการต่อรัฐบาลไทยและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเธอ โดยสอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (the Observatory) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 โดย FIDH และ World Organisation Against Torture (OMCT) มีวัตถุประสงค์เพื่อแทรกแซง เพื่อป้องกัน หรือเยียวยาสถานการณ์การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT ต่างเป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป และเป็นการดำเนินงานของภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ