นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเผย คนไทยประมาณ 22 ล้านคนเสี่ยงโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคเค็ม แบ่งเป็นโรคไตประมาณ 8 ล้านคน ความดันโลหิตสูงประมาณ 13 ล้านคน ทำค่าใช้จ่ายผ่านกองทุนบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการเพิ่มกว่า 2 หมื่นล้านบาท แนะประชาชนดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ลดบริโภคเค็ม งดเหล้า-บุหรี่ ใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง | ที่มาภาพประกอบ: Bru-nO (Pixabay License)
ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันโรคไตโลกประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ภายใต้แนวคิด "ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว" โดยมีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคไต สาธิตการปรุงอาหารที่ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การรักษาโรคไตวายเรื้อรัง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน มี.ค. เป็นวันไตโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11 มี.ค. ปัจจุบันสถานการณ์โรคไตถือเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนประเทศสมาชิกให้ลดการบริโภคเกลือลง 30% เนื่องจากเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด และโรคไต อีกทั้งการลดบริโภคเค็มจะช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท
ในส่วนของประเทศไทยมีคนประมาณมีคน 22 ล้านคนที่ป่วยสัมพันธ์กับการรับประทานเค็ม คนไทยส่วนใหญ่บริโภคเกลือและโซเดียม เฉลี่ยประมาณ 3,600 มก./วัน มากเกิน 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำไว้ไม่เกิน 2,000 มก./วัน โดยมาจากการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมทั้งการกินยา อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตมากยิ่งขึ้น
"คนไทยส่วนใหญ่นิยมกินเค็ม โดยเฉพาะภาคใต้บริโภคสูงกว่าภาคอื่นๆ ทั้งประเทศเรามีผู้ป่วยโรคไต 8 ล้านคน ความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งสิ้น 25 ล้านคน ผู้ป่วยเบาหวาน 5 ล้านคน อัตราตายในโรคหัวใจพบปีละ 4 หมื่นคน แนวแนมโน้มปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากการบริโภคอาหารที่มีความเค็มสูง ทานอาหารสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบมากขึ้น" รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ถึงขั้นต้องล้างไตหรือผ่าตัดเปลี่ยนไตนั้น การล้างไตมีค่าใช้จ่ายปีละอย่างน้อย 2 แสนบาท/คน/ปี ถ้าเปลี่ยนไตก็ต้องทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต ทำให้ค่าใช้จ่ายในการล้างไตของ 3 สิทธิสุขภาพคือ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการรวมกันแล้วเพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เช่น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ลดบริโภคเค็ม งดเหล้า-บุหรี่ ใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง จะช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตได้ การลดการบริโภคเกลือลง 10% ก็จะช่วยชีวิตคนได้ถึง 30% และถ้าป้องกันตั้งแต่วันนี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอีก 10 ปีข้างหน้าลงได้อย่างมาก
ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการอาหารทุกประเภท อาจต้องมีมาตรการเกี่ยวกับฉลากให้ชัดเจน แสดงปริมาณแคลอรีและโซเดียมให้เข้าใจง่ายขึ้น เครื่องปรุงต่างๆ ต้องมีคำเตือนว่าการบริโภคเค็มเกินไปอาจมีอันตรายต่อสุขภาพเพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักและลดการใช้เครื่องปรุง และภาครัฐอาจต้องมีมาตรการรักษาสุขภาพในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น เช่น ร่วมมือกับผู้ประกอบการอาหารลดใช้โซเดียม การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน และมาตรการทางการคลังที่ช่วยให้อาหารสุขภาพ มีราคาถูกกว่าอาหารที่เป็นพิษต่อสุขภาพ เป็นต้น
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า คำขวัญในการรณรงค์ปีนี้คือไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว เป็นการสื่อถึงมิติอื่นที่ไม่ใช่สาธารณสุขอย่างเดียว แต่ขยายจากการเจ็บป่วยรักษาพยาบาล ไปถึงมิติทางสังคม ทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะการดำเนินการในปัจจุบันหลายเรื่องเป็นเรื่องวิถีชีวิต การแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยจึงไม่ใช่แค่รักษาให้หาย แต่หมายถึงสังคมโดยรวม ทำอย่างไรให้สังคมแก้ปัญหายากๆ แบบนี้ได้
"คำว่าปรับตัว ก็คือปรับพฤติกรรม ปรับใจคือการเตรียมการต่างๆ สิ่งสำคัญที่คือทำอย่างไรให้คนไทยไม่เป็นโรค ทางสมาคมโรคไตและ สปสช. เห็นตรงกันในเรื่องปรับพฤติกรรมลดบริโภคเค็ม เพราะเกลือและโซเดียมเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลอย่างมากที่ทำให้ภาวะไตบกพร่อง ตามมาด้วยไตวายเรื้อรัง ดังนั้นต้องรณรงค์ในการลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง ต้องทำต้นน้ำให้สะอาด ป้องกันให้มากที่สุด สร้างความรับรู้ที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพ สิ่งที่จะเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือลดเค็มให้ได้ครึ่งหนึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคไต ลดภาระเจ้าหน้าที่และค่าใช้จ่ายของประเทศ" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ