พบคนมีรายได้สูงในสหรัฐฯ มีความสะดวกมากกว่าคนรายได้น้อยในการอพยพออกจากเมืองใหญ่

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1824 ครั้ง

พบคนมีรายได้สูงในสหรัฐฯ มีความสะดวกมากกว่าคนรายได้น้อยในการอพยพออกจากเมืองใหญ่

สื่อ VOA รายงานว่าช่วง COVID-19 พบผู้ที่มีระดับรายได้สูงในสหรัฐฯ มีความคล่องตัวมากกว่าในการเปลี่ยนงานและหางาน ในการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากกว่าผู้ที่มีระดับรายได้น้อย | ที่มาภาพประกอบ: MYMOVE

ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2021 สื่อ VOA รายงานว่าผลการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ แสดงว่าคนอเมริกันในระดับฐานะทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โยกย้ายถิ่นฐานออกจากเขตนาครใหญ่ไปยังเมืองขนาดเล็กในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลต่างกัน

อย่างเช่น เมื่อเดือน พ.ค. 2020 ระหว่างการล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 คุณซีซี ลินเดอร์ ตัดสินใจย้ายจากอพาร์ตเมนต์ใกล้กรุงวอชิงตันที่มีเนื้อที่ราว 71 ตารางเมตร ไปยังบ้านเดี่ยวริมหาดขนาด 186 ตารางเมตรในเมืองโกโก้บีช รัฐฟลอริดา โดยเหตุผลหลักของเธอก็คือ ถ้าจะต้องทำงานจากบ้านอยู่แล้ว หรือ Work From Home (WFH) ก็น่าจะไปอยู่ในเมืองที่มีบรรยากาศดี มีสภาพแวดล้อมสวยงาม แถมยังอยู่ใกล้ครอบครัวมากกว่า

คุณลินเดอร์ไม่ได้เป็นคนเดียวที่คิดแบบนี้ เพราะผลการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ แสดงว่า มีคนอเมริกันนับแสนคนที่อพยพออกจากเขตเมืองใหญ่ไปสู่เมืองเล็กในช่วงโควิด-19 จากเหตุผลสำคัญสองสามข้อด้วยกัน หนึ่งคือ เพราะการ WFH ทำให้อยู่ที่ไหนก็ทำได้ สองคือ ความต้องการอยู่ใกล้ครอบครัว ในขณะที่เรื่องความกลัวไวรัสนั้นดูจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญน้อยที่สุดในบรรดาสามเรื่องนี้

อันที่จริงแล้วแนวโน้มเรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากเขตเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ไปสู่เมืองเล็กนั้นเริ่มมาได้หลายปีแล้ว และโควิด-19 ก็เป็นเพียงตัวเร่งตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น สถิติด้านสำมะโนประชากรในสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด แสดงว่าเขตมหานครนิวยอร์กเสียประชากรจากการย้ายออกถึงราว 216,000 คนหรือราว 0.5% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่นครลอสแองเจลิส ชิคาโก และซานฟรานซิสโก ก็เสียประชากรไปราว 0.5% เมื่อปีที่แล้วเช่นกัน

ส่วนเมืองที่ได้ประชากรเพิ่มขึ้นนั้นล้วนเป็นชุมชนขนาดเล็กกว่าในรัฐต่าง ๆ ทางใต้และทางด้านตะวันตก เช่น ในรัฐฟลอริดา เซาท์แคโรไลนา เท็กซัส ไอดาโฮ และรัฐยูทาห์เป็นต้น

แต่เรื่องที่น่าสังเกตก็คือผู้ที่มีระดับรายได้สูงและมีความคล่องตัวมากกว่าในการเปลี่ยนงานและหางาน จะอพยพออกจากเมืองใหญ่มากกว่าผู้ที่มีระดับรายได้น้อย ซึ่งก็แน่นอนว่าหากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไปก็จะมีผลระยะยาวต่อตลาดและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่าง ๆ ทั้งเล็กและใหญ่ รวมทั้งต่อเรื่องฐานภาษีของรัฐบาลท้องถิ่น และเรื่องช่องว่างหรือความแตกต่างด้านระดับรายได้ของกลุ่มประชากรในบางเมืองด้วย

ยกตัวอย่างเช่น 75% ของครอบครัวอเมริกันที่มีระดับรายได้สูง คือกว่า 100,000 ดอลลาร์ หรือราว 3,100,000 บาทต่อปี ให้เหตุผลของการโยกย้ายถิ่นฐานออกจากเขตเมืองใหญ่ว่า ไม่ใช่เพราะการสูญเสียงานหรือการไปเริ่มงานใหม่ แต่เป็นเพราะเหตุผลอื่น เช่น ความต้องการเปลี่ยนไลฟสไตล์ หรือเพราะยังสามารถทำงานเดิมได้แบบ WFH เป็นต้น ในขณะที่ครัวเรือนซึ่งมีระดับรายได้ต่ำกว่ามักให้เหตุผลของการต้องโยกย้ายเพราะปัจจัยด้านการเงิน เช่น การสูญเสียงานหรือการต้องหาถิ่นที่อยู่ใหม่ซึ่งมีค่าครองชีพต่ำกว่า เป็นต้น

คุณปีเตอร์ แฮชแลค จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt กับคุณเดเนียล วิคลีย์ จากมหาวิทยาลัย Georgia Tech ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าการเวิร์คฟอร์มโฮมจะเป็นปัจจัยในเรื่องการทำงานแล้ว ผู้ที่อยู่ในฐานะที่เลือกงานได้ก็จะเลือกแหล่งที่อยู่ซึ่งถูกใจตัวเองมากที่สุดเช่นกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: