เผยช่วง 1 ม.ค.-4 ส.ค. 2564 เด็กติด COVID-19 ถึง 65,086 ราย

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2796 ครั้ง

เผยช่วง 1 ม.ค.-4 ส.ค. 2564 เด็กติด COVID-19 ถึง 65,086 ราย

เผยช่วง 1 ม.ค.-4 ส.ค. 2564 เด็กติด COVID-19 ถึง 65,086 ราย ยังมีเด็กไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ '3 องค์กร-ยูนิเซฟ' ต้องจับมือเปิดศูนย์ช่วยเหลือ | แฟ้มภาพผู้จัดการออนไลน์

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 ว่านางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และยูนิเซฟ เพื่อบูรณาการข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษา เด็กกำพร้าพ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่มีผู้ดูแล หรือมีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพื่อปกป้อง ช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ในทุกมิติปัญหา เนื่องจากเรื่องนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน มีเด็กได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก มียอดเด็กติดเชื้อสะสมระหว่าง 1 ม.ค.-4 ส.ค. 2564 มากกว่า 65,086 คน แบ่งเป็น กทม. จำนวน 15,465 คน ส่วนภูมิภาค 49,621 คน โดยจำนวนเด็กติดเชื้อรายวันล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 2,194 คน แบ่งเป็น กทม. 408 คน และส่วนภูมิภาค 1,786 คน และยังมีเด็กไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ

"เราได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดศูนย์ฯ คือ การปรับปรุงระบบการรับแจ้งเหตุ หรือ Mobile Application คุ้มครองเด็ก เพื่อค้นหาเด็กกำพร้า หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงกำพร้าและไม่มีผู้ดูแล ผ่านเครือข่ายคุ้มครองเด็กทั่วประเทศ การประสานการทำงานกับหน่วยงานและเครือข่ายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด สำหรับกรณีเด็กที่ผู้ปกครองติดเชื้อและไม่มีผู้ดูแล จะจัดอาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแลเด็กระหว่างการกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ หากยังไม่มีผู้ดูแลหรือยังกลับบ้านไม่ได้ ได้จัดเตรียมสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง รองรับได้ 160 คน เพื่อให้การดูแลชั่วคราวระหว่างการจัดหาการดูแลในรูปแบบของครอบครัวเป็นลำดับแรก ติดตามครอบครัวเครือญาติ จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือส่งเด็กเข้ารับการดูแลในสถานรองรับเด็กของ ดย. ซึ่งรองรับได้ 1,935 คน รวมทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และการจัดบริการสวัสดิการสังคมตามความต้องการของเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย”อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว

ด้านนายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อบริการภาครัฐ ซึ่งเรามีกลไกอาสาสมัครคุณภาพของทั้ง 4 หน่วยงานและภาคประชาสังคม ร่วมสนับสนุนทรัพยากรที่ยังขาดแคลนและจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ที่วิกฤต และในระยะฟื้นฟู กสศ.จะสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา และโปรแกรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา จากการสูญเสียผู้ดูแลและเสาหลักครอบครัวเนื่องจากโควิด-19

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเด็กในหลายด้าน 1. กระทบกับเด็ก เรื่องการเรียนที่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ เหมือนถูกตัดออกจากครูและเพื่อน ขาดโอกาสในการพัฒนา เด็กเปราะบางหรือยากจนจะยิ่งเป็นปัญหาเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 2. กระทบกับครอบครัว ทำให้ตกงานเกิดสภาพยากจนเฉียบพลัน กลายเป็นความเครียดมาลงที่เด็กได้ หรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนที่รัก และ 3. ผลกระทบเชิงสังคม เกิดความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด (Pandemic Stress) มีความเสี่ยงเกิดพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสังคมที่แสดงความโกรธเกรี้ยว เกิด Hate speech ที่จะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรง ซึ่ฝผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กในเวลานี้ สูงกว่าเหตุการณ์สึนามิที่มีเด็กได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน แต่วิกฤตโควิด -19 นี้มีเด็กที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตสูงเกินกว่า 5,000 ครอบครัว และยังคงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: