ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงจะอยู่ที่ราว 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,400 ล้านบาท แนะจับตาการส่งออกที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง จะกดดันให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง ทำให้การส่งออกจะดีขึ้นแต่ไม่มากนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตัน และยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในช่วงปี 2550-2561 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน | แฟ้มภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2564 ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงจะอยู่ที่ราว 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,400 ล้านบาท ขณะที่มีพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้มีประมาณ 3.9 ล้านไร่ โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าวที่อยู่ในระยะของการเจริญเติบโตหรือข้าวที่ออกรวงและพร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนข้าวที่เพิ่งหว่านคาดว่าจะสามารถทนน้ำได้ และหากเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขังนาน ข้าวจะไม่เสียหายมากนัก โดยปกติข้าวจะทนน้ำได้อย่างน้อย 15 วัน และผลผลข้าวที่ได้รับเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพิจิตร เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
หากเปรียบเทียบผลกระทบจากอุทกภัยในปี 64 ส่งผลเสียหายน้อยกว่ามหาอุทกภัยในปี 54 และปัญหาภัยแล้งในปี 58 เรียกได้ว่าอุทกภัยปีนี้มีสัดส่วนความเสียหายน้อยมาก โดยอุทกภัยปี 54 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43,601 ล้านบาท ความเสียหายมากกว่าปีนี้ถึง 8 เท่า ขณะที่ภัยแล้งในปี 58 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10,508 ล้านบาท ความเสียหายมากกว่าครั้งนี้ประมาณ 2 เท่า
ขณะที่ปัญหาอุทกภัยในปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากนัก ยังคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำสะสมใช้การได้ในเขื่อนอยู่ในระดับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีให้ช่วงฤดูแล้งของปี 65 จะมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก จึงคาดว่าในปี 65 ผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.3%
ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานธุรกิจข้าวต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาในด้านการผลิตและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากของโรงสีที่มีเกือบ 2 เท่าของปริมาณข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบในแต่ละปี อีกทั้งการบริโภคในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มลดลงตามกระแสรักษ์สุขภาพอีกด้วย ขณะที่การส่งออกข้าวยากขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยยังสูงกว่าคู่แข่งและมีแนวโน้มที่จะถูกตีตลาดจากข้าวพื้นนุ่มของเวียดนามที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดโลก
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยธรรมชาติจากเดิมที่ใช้วิธีการลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งในบางครั้งข้อมูลอาจล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์ โดยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจัดเป็นข้อมูล High-Frequency Indicator ซึ่งความถี่ในการอัพเดทข้อมูลเป็นรายวัน ทำให้ช่วยติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติล่าสุดได้ เช่น แผนที่ดาวเทียมของ GISTDA ณ วันที่ 3 พ.ย.64 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง ได้แก่ จังหวัดในภาคกลาง คือ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
ปัญหาที่ต้องเผชิญคือ การส่งออกที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ซึ่งจะกดดันให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง ทำให้การส่งออกจะดีขึ้นแต่ไม่มากนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตัน และยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในช่วงปี 50-61 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันกับราคาข้าวที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้ยากขึ้น อีกทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น เวียดนามและอินเดีย จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้การแข่งขันในตลาดข้าวโลกรุนแรง จึงคาดว่าราคาขายส่งข้าวสารของไทยจะมีแนวโน้มลดลง โดยประเมินว่าในครึ่งแรกของปี 65 ราคาขายส่งข้าวขาว 5% เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 11,270 บาท/ตัน หรือลดลง 21.1%YoY ส่วนราคาขายส่งข้าวหอมมะลิ 100% เฉลี่ยจะอยู่ที่ 18,668 บาท/ตัน หรือลดลง 20.7%YoY นอกจากนี้ยังมีปัญหาต้นทุนค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยถ่วงอัตรากำไรของธุรกิจ
"แม้อุทกภัยรอบนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวอย่างมีนัยสำคัญ แต่ธุรกิจโรงสียังมีความเสี่ยงด้านวัตถุดิบที่มีน้อยกว่ากำลังการผลิตโดยรวม ประกอบกับต้องแข่งขันด้านราคาในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อรักษากำลังการผลิต ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารถูกกดดันจากตลาดส่งออก ส่งผลให้ Margin ของธุรกิจโรงสีข้าวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งหากมีสต็อกเดิมเหลืออยู่และระบายออกไม่ทันจะยิ่งมีความเสี่ยงขาดทุนสต็อกมากขึ้น" เอกสารศูนย์วิจัย ระบุ
นอกจากนี้ ปัญหาภัยธรรมชาติเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากและส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวเปลือก ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจข้าวควรให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ได้แก่ แนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโน่ หรือลานิญ่า, ทิศทางกระแสลมและพายุ, คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน, ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้รายภาค, ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมจากดาวเทียม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ