ข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3376 ครั้ง

ข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่

14 ม.ค. 2564 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 โดยระบุว่าจากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 และล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการเฝ้าระวังป้องกันโรคเชื้อไวรัสโควิด 2019 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีและตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ทั้งอยู่ระหว่างการดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่า ขออยู่ต่อในประเทศไทย และรอดำเนินการขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่

จากการดำเนินการในระดับพื้นที่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังพบว่ามีความไม่ชัดเจนในแง่การดำเนินการ ทำให้เกิดปัญหาแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงมีข้อกังวลใจและประเด็นหารือดังนี้

1.ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยระบุ มิให้นำ ม.54 ของพรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้กับคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ระหว่างรอการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ระหว่างรอการดำเนินการในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นการขัดกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทย และอาจจะขัดแย้งมาตรการในการป้องกันโรคโควิดตามแนวทางของรัฐบาล

ข้อเสนอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำหนังสือสั่งการย้ำถึงแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติในกลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 โดยไม่ให้มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่รอการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อลดความเสี่ยงในการควบคุมโรคระบาด และมีมาตรการลงโทษจริงจังกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดำเนินการ หรือแสวงหาประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

2.ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ออก กฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ. ศ. 2563 โดยเพิ่ม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นโรคตามมาตรา 12(4) และ มาตรา 44 (2) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว และประสบปัญหาทางเศรษฐกิจขาดรายได้ในช่วงการระบาดของโรคโควิดในช่วงแรก และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการตรวจลงตราวีซ่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 500 บาทต่อครั้ง กลายเป็น 1,900 บาท/ครั้ง (1ปี) ทำให้เกิดภาระทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและจะเกิดผลกระทบต่อการควบคุมโรคระบาดในปัจจุบันได้

ข้อเสนอ เพื่อให้เป็นการลดภาระแก่แรงงานข้ามชาติและนายจ้าง และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานข้ามชาติจะหลุดจากระบบและไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ จึงขอให้การยกเว้นการตรวจโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ และประสานงานให้มีการตรวจเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติแทนโดยอาศัยเงื่อนไขของการต้องมาตรวจลงตราวีซ่าเป็นจุดในการตรวจเชิงรุก ทั้งนี้จะสามารถครอบคลุมแรงานข้ามชาติได้มากกว่า 1.5 ล้านคน

3. การดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ในหลายพื้นที่ยังมีความสับสน และสร้างภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ทั้งในเรื่องการใช้เอกสารใบรับรองแพทย์สำหรับมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 ได้มีการระบุในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนว่า แรงงานข้ามชาติสามารถรับการตรวจสุขภาพในสถานพยาบาลเอกชนได้ แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ยืนยันให้นายจ้างต้องใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้โดยสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันสถานพยาบาลของรัฐในหลายพื้นที่ปิดรับการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ และนายจ้างเองก็ได้ดำเนินการตรวจตามเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ นอกจากนั้นแล้วยังพบว่า แรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องข้างต้น ที่ได้ไปดำเนินการขอตรวจลงตราวีซ่าก่อนที่กฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 บังคับใช้ ก็ได้ถูกปฏิเสธการดำเนินการตรวจลงตราวีซ่า โดยให้ไปนำหลักฐานการตรวจโรคโควิด 19 มาแสดงประกอบ โดยอ้างอิงกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งสร้างความสับสนและเป็นภาระค่อนข้างมาก

ข้อเสนอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำหนังสือสั่งการถึงแนวปฏิบัติในเรื่องการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อไม่สร้างความสับสนและเกิดภาระให้แก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว

4. ตามที่ระบุไว้ข้างต้น ในขณะนี้หลาย ๆ สถานพยาบาลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมาตรการระงับการตรวจสุขภาพเพื่อขอตรวจลงตราวีซ่าของแรงงานข้ามชาติไปแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าไม่ทัน ซึ่งเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วการนำแรงงานข้ามชาติจำนวนราว ๆ 1.5 ล้านคนมาดำเนินการ ตรวจสุขภาพและขอรับการตรวจลงตราวีซ่า ในสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัด ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากในสถานที่แออัดซึ่งขัดกับมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนั้นแล้วยังมีแรงงานข้ามชาติประมาณสี่แสนคนที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางกำลังจะสิ้นสุดลง และไม่สามารถดำเนินการต่ออายุหรือจัดทำหนังสือเดินทางใหม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางกลับประเทศตามแนวปฏิบัติของรัฐบาล ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาใด ๆ จะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายต่อไป

ข้อเสนอ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานทีรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ควรดำเนินการประสานงานและเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นขอบให้ใช้อำนาจตาม ม.17 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ยกเว้นการขอรับการตรวจลงตราวีซ่าไปก่อน และให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ตามเงื่อนไขการขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและการควบคุมการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด 2019 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐ และเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: