เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ว่าด้วยข้อสังเกตและข้อเสนอต่อนโยบายการบริหารจัดการโครงการ Factory Sandbox ของกระทรวงแรงงาน
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรื่อง 'ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อนโยบายการบริหารจัดการโครงการ Factory Sandbox ของกระทรวงแรงงาน' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) โดยกระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่อง เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564มุ่งเน้นสถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ 4 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในพื้นที่เป้าหมายในระยะแรก 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี และมีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ควบคู่กับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
กระทรวงแรงงาน รายงานว่า พื้นที่เป้าหมายระยะแรก มีสถานประกอบการ 387 แห่ง ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน รวม 474,109 คน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อสังเกตเห็นว่า
1. โครงการดังกล่าว มีกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” รักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและด้านการจ้างงาน คู่กับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เครือข่ายฯเห็ฯว่า แม้กระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพหลักของโครงการฯ แต่การบริหารจัดการแรงงานมีการมุ่งเน้นคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 อันอาจจะทำให้แรงงานบางรายที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมกลายเป็นผู้ตกหล่นในโครงการแม้จะอยู่ในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
2. ในด้านมิติของการการคุ้มครองคนทำงาน อันเป็นการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า (decent work) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค จากการเก็บข้อมูลแรงงานทั้งที่อยู่ในโครงการ Bubble and Seal-BBS และนอกโครงการ แรงงานประสบปัญหาที่คล้ายๆกัน เช่น แรงงานอาจถูกสั่งให้พักงานชั่วคราวได้ หากพบว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเพื่อสังเกตอาการ โดยยังไม่มีแนวทางชัดเจนเรื่อง ค่าจ้างค่าแรงของแรงงานว่าจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติแรงงานมักถูกให้ใช้วันหยุด วันลาพักร้อนในการกักตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยสิทธิในการได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในยามปกติ รวมถึงสถานที่พักของคนงาน แม้จะมีการกำหนดแนวทางของสาธารณสุขแต่จากเคสที่เครือข่ายฯ ได้รับ พบว่าแรงงานยังต้องอยู่ในสภาพที่แออัดมีความเสี่ยง และอาหารและน้ำดื่มที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งสมาชิกในครอบครัว ถ้าพ่อแม่ต้องเข้าร่วมในโครงการ เด็กผู้ติดตามจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและไร้คนดูแล เป็นต้น
3. เครือข่ายฯ พบว่ากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือรายละเอียดว่าด้วย “มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal -BBS) สำหรับสถานประกอบกิจการ” ไว้อย่างละเอียด อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติโดยเฉพาะกระบวนการที่แรงงานทุกคนจะต้องทำการตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคโควิด-19โดยวิธี RT-PCR เพื่อแยกผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาทันที อีกทั้งให้มีการตรวจโดยชุดตรวจแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen Self-Testing Kit: Self ATK) ทุกสัปดาห์ เครือข่ายฯ มีข้อสังเกตถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ระบุไว้ในคู่มือของกรมควบคุมโรค ว่าภาคส่วนใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากพิจารณาถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวน 474,109 คน ที่ต้องตรวจRT-PCR ในครั้งแรกต้องใช้งบประมาณในการตรวจอย่างน้อย 1 พันล้านบาท (คิดที่อัตราค่าตรวจ 3,000/คน) และการตรวจ ATK อีกทุกสัปดาห์ ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 33,187,630 บาท (คิดที่อัตรา ATK 70 บาท/คน/สัปดาห์) และหากต้องใช้สี่ครั้ง/เดือน แรงงานต้องใช้อุปกรณ์ ATK จำนวนทั้งสิ้น 1,896,436 ชิ้น ซึ่งนอกจากปัญหาความไม่ชัดเจนด้านต้นทุนในการตรวจคัดกรองแล้ว และข้อมูลที่เครือข่ายฯได้รับจากแรงงานที่สถานประกอบกิจการบริหารจัดการโรงงานในในลักษณะ BBS แรงงานจำนวนมากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการตรวจ ATK ด้วยตัวเอง และจำนวน ATK ที่แรงงานต้องใช้อาจจะมีไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 8.5 ล้านชุด พบว่าพื้นที่เป้าหมายในการจัดสรรอยู่ในชุมชนแออัด ตลาด เน้นกลุ่มเสี่ยง และผู้ทำงานให้กับชุมชน และจากที่ปรากฏจากข่าวออนไลน์ สปสช.สามารถดำเนินการแจก ATK ให้กับประชาชนได้กลางเดือนกันยายน เป็นต้นไป ในขณะที่โครงการนำร่อง Factory Sandbox ได้มีการดำเนินการแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการรักษาเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน ควบคู่กับการควบคุมและป้องกันโรคอันเป็นกระบวนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 และสอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามหลักกฎหมายของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. จัดทำคู่มือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิคนงานภายใต้โครงการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงาน ในกรณีที่ต้องมีการพักหยุดงาน การใช้วันหยุด วันลาของแรงงาน ความชัดเจนของการจ่ายค่าแรง หรือค่าชดเชย เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎการปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพื่อป้องกันมิให้แรงงานสูญเสียสิทธิอันพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกระทรวงแรงงานจะต้องออกประกาศกำหนดให้การลาป่วยหรือการกักตัวจากการระบาดขอโรคโควิด-19 เป็นการลาป่วยที่ต้องได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย ไม่อยู่ในเงื่อนไขของการลาป่วยตามปกติเนื่องจากมีระยะเวลาในการรักษาตัวหรือกักตัวในการควบคุมโรคเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการในการตรวจแรงงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น และสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การให้ยื่นคำร้องในระบบออนไลน์ที่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ และเปิดให้ยื่นคำร้องในลักษณะกลุ่มได้ ทั้งนี้กิจการที่เข้าสู่โครงการทั้ง 4กิจการเกี่ยวข้องกับการส่งออก ดังนั้นนอกจากรักษามาตรฐานของสินค้า การคุ้มครองแรงงานนับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ประเทศผู้ซื้อให้ความสำคัญ และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยทั้งในด้านหลักการทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights)
2. ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาขยายกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตามตามพรบ.ประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งอาจจะอยู่ในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากแรงงานในสถานประกอบที่เข้าร่วมโครงการ มีทั้งแรงงานไทยและข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันแรงงานข้ามชาติถูกจัดแบ่งการบริหารเป็นหลายกลุ่มประเภท ซึ่งอาจจะทำให้แรงงานบางรายอยู่ในขั้นตอนที่กำลังเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตน รวมถึงการเข้าถึงสิทธิประกันการว่างงาน ในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และถูกให้กักตัว โดยที่แรงงานอาจจะไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
3. ขอให้กระทรวงแรงงานหารือด่วนกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้การจัดสรรอุปกรณ์การตรวจคัดกรองมีความเพียงพอต่อจำนวนแรงงานในโครงการทุกคน และกระทรวงสาธารณสุขควรเป็นเจ้าภาพในการจัดสรรงบประมาณด้านการจัดซื้ออุปกรณ์การตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยไม่จัดเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการหรือแรงงาน โดยพิจารณาการจัดสรรงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขอาจได้รับจากโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 63,898 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 47 วรรคสาม ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ทั้งนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ตระหนักและยอมรับว่า โรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคที่อุบัติขึ้นใหม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชากรทุกคนรวมทั้งการพัฒนาของประเทศในทุกมิติ
4. ขอให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดให้มีการจัดสรรวัคซีนให้แก่แรงงานทุกคนเป็นวาระด่วน อันเป็นมาตรการที่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การเจ็บป่วย การเสียชีวิตของประชากร ทำให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร และนำไปสู่การส่งเสริมการยกระดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับดัชนีของ SDG อยู่ที่ลำดับลดลงมาที่ 43 ของโลกเมื่อเทียบกับปี 2563 ดัชนีของไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ลำดับ 41 ของโลก และเจตนารมณ์ของรัฐไทยที่ยืนยันหลักการ No one safe until everyone safe ที่ได้แถลงต่อที่ประชุม Global Compact on Migration ที่สำนักงานสหประชาชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2564
5. ให้สำนักงานประกันสังคม กองเศรษฐกิจ แล้วแต่กรณี เชื่อมต่อให้สถานบริการสุขภาพตามสิทธิของแรงงานในพื้นที่นั้นๆ เข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการดูแลเรื่องการสถานพยาบาล ของ (Factory Sandbox) ในแต่ละจุด หรือ สปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการดูแลรักษาพยาบาลแรงงานทุกคน โดยค่าใช้จ่ายให้ สปสช. ไปดำเนินการเบิกจ่ายจากหน่วยงานดูแลกองทุนเอง โดนไม่ปล่อยให้เป็นภาระของสถานประกอบการ หรือตัวแรงงาน
6. มีมาตรการที่ชัดเจน แนวปฏิบัติ การติดตามเรื่องการจัดการที่พักสำหรับการกักตัวของแรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่สถานประกอบการต้องดำเนินการ โดยมุ่งเน้นเรื่องการดูแลเรื่องการอุปโภค บริโภค เรื่องความแออัดของพื้นที่ ป้องกันความเสี่ยง รวมถึงมาตรการในการรองรับกรณีที่ต้องมีการแยกพ่อแม่ ออกมากักตัวโดยที่ลูกของแรงงานไม่มีการดูแล
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ