Rocket Media Lab: ป่าไม้ในไทยยังอยู่ดีแค่ไหน ทำไมไทยถึงไม่ลงนามใน COP26

Rocket Media Lab 15 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 16678 ครั้ง

'Rocket Media Lab' เทียบสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยกับอีก 133 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในการประชุม COP26 | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงเดือน พ.ย. 2564 Rocket Media Lab รายงานว่าจากการเข้าร่วมการประชุม “COP26” หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมามีการลงนามในคำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030 หรือ ปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) อันถือเป็นข้อตกลงใหญ่ข้อแรกที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีประเทศที่เข้าร่วมการประชุมลงนามถึง 133 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ย.) แต่กลับไม่มีประเทศไทย

หลังจากปรากฏเป็นข่าวว่าประเทศไทยไม่เข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาให้ความคิดเห็นว่า “เห็นด้วยในหลักการลงนามหยุดตัดไม้ภายใน 2030 เนื่องจากสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580”

นอกจากนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ในขึ้นข้อความในเฟซบุ๊กเพจถึงเหตุผลว่า “เนื่องจากสหราชอาณาจักรประสานเชิญชวนให้เข้าร่วมปฏิญญาฯ ในเวลากระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ทัน ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถลงนามเข้าร่วมในปฏิญญาฯ ได้ในการประชุม COP26”

จากประเด็นนี้ Rocket Media Lab ชวนสำรวจสถานการณ์ป่าในประเทศไทย ว่าอยู่ในจุดไหนของโลก โดยเฉพาะในหมู่ประเทศที่ร่วมลงนามในปฏิญญาครั้งนี้ 

สถานการณ์ป่าไม้โลกเป็นอย่างไร 

จากจำนวน 133 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use)  พบว่า มีสัดส่วนของประเทศในทวีปยุโรปมากที่สุด 46 ประเทศ รองลงมาก็คือแอฟริกา 33 ประเทศ อันดับที่ 3 คือ เอเชีย 21 ประเทศ 

โดยทั้ง 133 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญาครั้งนี้มีป่ารวมกันมากกว่าร้อยละ 85 ของทั้งโลก เช่น แคนาดา รัสเซีย บราซิล โคลอมเบีย อินโดนีเซีย และสาธารณะรับประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

จากการประเมินการสูญเสียป่าไม้เพื่อเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นระหว่าง 2010-2020 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ทวีปแอฟริกามีอัตราการสูญเสียป่าไม้ต่อปีมากที่สุดอยู่ที่ 39,000 ตารางกิโลเมตร รองลงมาคือทวีปอเมริกาใต้อยู่ที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร น้อยที่สุดคือทวีปยุโรป 3,000 ตารางกิโลเมตร 

จากข้อมูลขององค์กร Global Forest Watch พบว่าในบรรดา 133 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญาครั้งนี้ มี 126 ประเทศที่มีพื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ลดลง มีเพียง 7 ประเทศที่ไม่ปรากฏข้อมูล และในจำนวนนั้น มี 93 ประเทศ ที่การลดลงของพื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้มีปัจจัยมาจากการทำลายป่า  

หากพิจารณาเฉพาะในปี 2020 ที่ผ่านมาจะพบว่าประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติ/พื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้มากที่สุด ได้แก่ รัสเซีย บราซิล ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยจะพบว่าสามในห้าประเทศนี้เกิดจากไฟป่า และหากพิจารณาการสูญเสียพื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ตั้งแต่ปี 2001-2019 จะพบว่าประเทศที่สูญเสียพื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้มากที่สุดได้แก่ บูร์กินาฟาโซ ไนเจอร์ โปรตุเกส เซียร์ราลีโอน และปารากวัย 

สาเหตุของการทำลายป่าที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือการทำเกษตรกรรม ซึ่งมีสูงถึง 67.24%

รองลงมาก็คือ ไฟป่า 15.52% การลักลอบตัดไม้เพื่อไปขายเป็นสินค้า 12.93% การขยายตัวของเมือง 4.31% โดยประเทศที่พื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมมีสาเหตุจากการทำลายป่าด้วยนั้น เกิดขึ้นในประเทศ อินโดนีเซีย ปารากวัย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา และบรูไน มากที่สุดตามลำดับ 

สถานการณ์ป่าไม้ไทยเป็นอย่างไร

ประเทศไทย ซึ่งแม้จะเข้าร่วมการประชุม COP26 แต่ไม่ได้ลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) จากข้อมูลของ Global Forest Watch พบว่า ในปี 2010 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ 191,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 37% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ และในปี 2020 ไทยสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติไป 1,190 ตารางกิโลเมตร 

โดยจากปี 2002-2020 ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าดิบชื้นไป 1,250 ตารางกิโลเมตร  ลดลง 2.1% หรือคิดเป็น 5.9% จากการพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมในช่วงเวลาเดียวกัน และจากปี 2001-2020 ไทยสูญเสียพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมไป 21,700 ตารางกิโลเมตร ลดลง 11% นับตั้งแต่ปี 2000 และจากปี 2001-2019 มีการทำลายป่าสูงถึง 40% จากพื้นที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมเลยทีเดียว โดยส่วนมากเกิดจากการลักลอบตัดไม้เพื่อนำไปขายเป็นสินค้า รองลงมาคือพื้นที่การทำเกษตรกรรม และการขยายตัวของเมือง

เมื่อนำข้อมูลของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) มาเปรียบเทียบกับอีก 133 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญานี้ จะพบว่ามี 77 ประเทศ ที่มีการสูญเสียพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมต่ำกว่าประเทศไทย 38 ประเทศ มีการสูญเสียพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมมากกว่าประเทศไทย และมี 11 ประเทศ มีการสูญเสียพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมเท่ากับประเทศไทย โดยมี 7 ประเทศ ไม่ปรากฏข้อมูล

นอกจากนั้นยังพบว่ามี 112 ประเทศ มีการทำลายป่าน้อยกว่าประเทศไทย 8 ประเทศ มีการทำลายป่ามากกว่าประเทศไทย และมี 1 ประเทศ มีการทำลายป่าเท่ากับประเทศไทย (ภูฏาน)

โดยมี 12 ประเทศ ไม่ปรากฏข้อมูล

จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมหรือการทำลายป่าต่ำกว่าไทย ก็ยังลงนามเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยุติการทำลายป่าไม้ ในขณะที่ประเทศไทยเองมีสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า แต่กลับไม่ได้ลงนามในปฏิญญาครั้งนี้ 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะลงนามในปฏิญญาครั้งนี้หรือไม่ ต่อไปในอนาคต

ประเทศไทยกับการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

จากข้อมูลสรุปการรายงานสถิติคดีเกี่ยวกับการป่าไม้ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พบว่า ในปีงบประมาณ 2560 มีผลคดีจำนวน 175 คดี แยกเป็น คดีบุกรุกพื้นที่ 103 คดี คดีทำไมของป่า 57 คดี และคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า15 คดี โดยคิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ (พื้นที่) 68,461,304.06 บาท หากเป็นมูลค่าของกลางคิดเป็น 4,204,521.94 บาท

ในส่วนของของกลางนั้นจะพบว่ามีไม้สักแปรรูปมากที่สุด จำนวน 896 ท่อน รองลงมาก็คือไม้กระยาเลยแปรรูป จำนวน 377 ท่อน ไม้กระยาเลยท่อน 159 ท่อน ไม้พะยูงท่อน 127 ท่อน ไม้พะยูงแปรรูป 12 ท่อน โดยมีพื้นที่ก่อเกตุในเรื่องทำไม้มากที่สุดอยู่ที่เขตอช. ภูผายล 7 คดี รองลงมาคือ เขตอช.ภูพาน  6 คดี อช.ภูจองนายอยและอช.เขื่อนศรีนครินทร์ อย่างละ 5 คดี 

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยปี 2563 อยู่ที่ 163,765.57 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 31.64% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.04% ซึ่งมีพื้นที่ป่า 31.68% ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ประเทศไทย 

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก่อให้เกิดแผนปฏิบัติราชการด้านการป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์และควบคุมไฟป่า ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) ด้านการป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ 2) ด้านการควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประมาณการวงเงินงบประมาณทั้งหมด 3,686,028,300 บาท  

แยกเป็นด้านการป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ งบประมาณปี 2563 จำนวน 253,819,100 บาท งบประมาณปี 2564 จำนวน 247,753,500 บาท งบประมาณปี 2565 จำนวน 377,552,400 บาท รวมทั้งสามปี จำนวน 879,125,000 บาท

และด้านการควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน งบประมาณปี 2563 จำนวน 538,657,000 บาท งบประมาณปี 2564 จำนวน 563,913,300 บาท งบประมาณปี 2565 จำนวน 1,704,303,000 บาท รวมทั้งสามปี จำนวน 2,806,903,300 บาท

โดยมีเป้าหมายคือ รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 32 (ปัจจุบันมีอยู่ร้อยละ 31.64 ) ลดอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าและการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่มากกว่าปีก่อนหน้าและให้มีแนวโน้มลดลง ลดจุด Hotspot ในระบบ Modis ที่ทำให้เกิดไฟป่าให้ได้ร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เสื่อมสภาพอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 310,000 ไร่ จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ประชาชนครอบครองและใช้ประโยชน์ในเขตป่าอนุรักษ์ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-forest-cop26

 

ข้อมูลอ้างอิง
เว็บไซต์ UN Climate Change Conference 2021
เว็บไซต์ Global Forest Watch 
สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สรุปการรายงานสถิติคดีเกี่ยวกับการป่าไม้ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
แผนปฏิบัติราชการด้านการป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์และควบคุมไฟป่า ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เว็บไซต์ Global Forest Resources Assessment 2020 โดย FAO https://www.fao.org/forest-resources-assessment/2020/en/

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: