เริ่มแล้ว อบรมพระนิสิตเมียนมาทำสื่อ ให้ความรู้ช่วง COVID-19 สร้างกำลังใจแรงงานเพื่อนบ้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 1736 ครั้ง

เริ่มแล้ว อบรมพระนิสิตเมียนมาทำสื่อ ให้ความรู้ช่วง COVID-19 สร้างกำลังใจแรงงานเพื่อนบ้าน

สสส. จับมือ สช. ไทยพีบีเอส และภาคีสุขภาพพระสงฆ์ จัดอบรมพระนิสิตชาวเมียนมา 50 รูป ดึงทักษะเด่นด้านภาษา ช่วยเป็นล่าม-ทำคลิป-ลงพื้นที่ รุกงานสร้างความรอบรู้สุขภาพช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมให้กำลังใจแรงงานชาวเมียนมาสู้ต่อ ตั้งเป้า 6 พื้นที่เสี่ยง บางขุนเทียน-บางบอน-ภาษีเจริญ-บางแค-จอมทอง-หนองแขม

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มจร. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม “อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาพระนิสิตจิตอาสาเพื่อสร้างเสริมฟื้นฟูสุขภาวะแก่แรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่” โดยมีพระสงฆ์ พระนิสิตเข้าร่วม 50 รูป
พระเทพวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี มจร. กล่าวว่า มจร. มีความตระหนักเป็นอย่างดีว่าปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อวันที่ 25 มกราคม ได้มีการหารือร่วมกับ สสส. สช. และภาคีสุขภาพพระสงฆ์ ถึงแนวทางความร่วมมือการสื่อสารและช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ซึ่งมีมติเห็นชอบการดำเนินงานใน 4 ข้อ ดังนี้ 1. สช. จะเป็นกลไกประสานหน่วยงานภาคีต่าง ๆ สนับสนุนให้พระนิสิตเมียนมามีบทบาทช่วยเหลือ 2. สสส. สนับสนุนการจัดอบรมพระนิสิตเมียนมาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพโดยเฉพาะการป้องกันโควิด-19 3. สสส. ThaiPBS องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับพระนิสิต สร้างเครือข่ายการสื่อสาร และผลิตสื่อ และ 4. ให้พระนิสิตเมียนมาช่วยสื่อสารความรู้ความเข้าใจต่อแรงงานเมียนมาให้มีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ขณะนี้พระนิสิตเมียนมา 50 รูป พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านการสื่อสารสร้างความรู้ด้านสุขภาพและให้กำลังใจแรงงานชาวเมียนมาด้วยกันเป็นอย่างมาก

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้ามามีบทบาทในฐานะหน่วยงานกลางสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพระนิสิตชาวเมียนมา เพื่อช่วยเหลือด้านการสื่อสาร เป็นที่ปรึกษา (Counsellor) และผู้นำทางความคิด (Influencer) ให้กับแรงงานชาวเมียนมา อันจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้หารือการทำงานพระนิสิตช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ร่วมกับ กทม. ซึ่งมีข้อสรุปบทบาทพระนิสิตเมียนมา 3 ข้อ คือ 1. ช่วยเป็นล่ามแปลภาษาสอบสวนโรคกรณีพบผู้ติดเชื้อ ด้วยการคุยสามสายและการร่วมทำ Timeline 2. ช่วยสื่อสารให้ความรู้การป้องกัน ดูแลสุขภาพกับแรงงานเมียนมา และ 3. ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ข้อแนะนำ คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต (อาหาร) ตลอดจนกิจกรรมด้านจิตใจ โดยมีแนวทางการทำงาน คือ 1. พระนิสิตร่วมกันผลิตสื่อให้กับแรงงานเมียนมาเป้าหมาย โดยให้ความรู้ด้านโควิด-19 ผนวกกับความรู้ทางธรรมะ 2. ลงพื้นที่ที่มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก และพื้นที่วัดที่แรงงานเมียนมานิยมไปทำบุญ จำนวน 6 เขต ได้แก่ บางขุนเทียน (วัดพรหม) บางบอน ภาษีเจริญ (วัดรางบัว/วัดเมืองมะริ) บางแค (วัดสิงห์) จอมทอง(วัดสิงห์) หนองแขม (วัดหนองแขม) และ 3. เชื่อมกลไกการทำงานของเครือข่าย โดยร่วมกับมหาเถรสมาคมจัดประชุมออนไลน์กับวัดในพื้นที่

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมากกับชาวเมียนมาในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ นอกจากนั้นประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารระหว่างบุคลากรชาวไทยและแรงงานชาวเมียนมา โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ สสส. ร่วมกับภาคีพระสงฆ์ ที่ถือเป็นภาคีสำคัญในการผลักดันให้เกิดสังคมสุขภาวะ ได้สนับสนุนจัดอบรมการผลิตสื่อที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องโควิด-19 โดยเน้นผลลัพธ์ 2 ประการ คือ 1. สามารถผลิตเป็นคลิปวิดีโอสั้นเพื่อใช้สื่อสารได้ด้วยตนเอง และ 2. มีช่องทางการเผยแพร่ขั้นพื้นฐานทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ให้พระสงฆ์สามารถเป็นที่พึ่งส่งต่อกำลังใจแก่แรงงานชาวเมียนมา ด้วยความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ มาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับมาตรการรัฐและนโยบายที่ประเทศไทยวางไว้ และเพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือนโยบายภาครัฐ ทั้งเรื่องการสื่อสารและเยียวยาด้านจิตใจแก่แรงงานเมียนมาในประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: