เผย UNESCO ประกาศให้ 'ดอยเชียงดาว' เป็น 'พื้นที่สงวนชีวมณฑล' แห่งใหม่ของโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2534 ครั้ง

เผย UNESCO ประกาศให้ 'ดอยเชียงดาว' เป็น 'พื้นที่สงวนชีวมณฑล' แห่งใหม่ของโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผย UNESCO ประกาศให้ 'ดอยเชียงดาว' เป็น 'พื้นที่สงวนชีวมณฑล' แห่งใหม่ของโลก เนื่องจากมีระบบนิเวศหลากหลายและพร้อมส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า องค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยที่ประชุมคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ที่เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรียประกาศให้ “ดอยเชียงดาว” อำเภอเชียงดาวและเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่เป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” แห่งใหม่ของโลก เนื่องจากมีระบบนิเวศหลากหลายและสมบูรณ์ ซึ่งสามารถพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

ทั้งนี้ การที่ยูเนสโกจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑลจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นหลายด้านได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการพัฒนาการให้บริการที่เป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยว และการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตในพื้นที่นำเสนอ ด้วยการควบคุมคุณภาพของสินค้าภายใต้การเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ไว้ให้ประชาชน ตลอดจนเกิดการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายร่วมให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของชุมชน และการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่างๆ ไปยังเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลอื่นๆ ทั่วโลก และเป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดที่ได้รับความสำคัญในระดับสากล พื้นที่ “ดอยเชียงดาว” โดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูนโดดเด่นตระหง่าน มีดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย เป็นต้นแม่น้ำปิง พื้นที่แกนกลางได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมากว่า 40 ปี นอกจากนี้ดอยเชียงดาวยังมีศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยมีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาว

พื้นที่นี้เป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้มากกว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวซึ่งเป็นหัวใจของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิดและมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก สำหรับชุมชนโดยรอบมีความเข้มแข็ง ผู้คนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบล้านนา ตลอดจนมีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาอัตลักษณ์ความเป็น “ดอยเชียงดาว” ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: