มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เปิดเผยข้อมูลข่าวสารการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการกระทำไม่เป็นธรรมแก่แรงงานข้ามชาติ
16 ก.พ. 2564 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ "ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เปิดเผยข้อมูลข่าวสารการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการกระทำไม่เป็นธรรมแก่แรงงานข้ามชาติ" โดยระบุว่าจากกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 4 คน คัดถ่ายข้อมูลเอกสารหลักฐานคำวินิจฉัยชี้ขาดเลขที่ 102-106/2562กรณีที่แรงงานร้องเรียนว่าบริษัทนายจ้างในอำเภอแม่สอด ได้เลิกจ้างเนื่องจากเป็นผู้นำในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง อันถือว่าเป็นการกระทำไม่เป็นธรรมนั้น โดยลูกจ้างแรงงานข้ามชาติต้องการเอกสารดังกล่าวเพื่อฟ้องร้องต่อศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยต่อไป โดย ครส. ได้ปฏิเสธด้วยวาจาว่าไม่สามารถมอบเอกสารบันทึกความเห็นของ ครส บันทึกถ้อยคำพยานและเอกสารหลักฐานของฝ่ายนายจ้างแก่ทนายความได้ ต่อมาทนายความจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานข้อมูลข่าวสารกลับแจ้งว่า ไม่สามารถมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 9 ยังไม่มีกฎกระทรวงเพื่อกำหนดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้าถึงข้อมูลข่าวนั้น
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) และองค์กรเครือข่าย เห็นว่า การปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสองหน่วยงานดังกล่าว เป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนกล่าวคือ
1. แม้ลูกจ้างจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทแรงงานที่มีกับนายจ้าง เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคำวินิจฉัยดังกล่าวของของ ครส.คือบันทึกความเห็นของอนุกรรมการและกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตลอดจนบันทึกถ้อยคำและพยาน พยานหลักฐานของฝ่ายนายจ้าง เพื่อทราบถึงข้อเท็จจริงและเหตุผล สำหรับนำไปใช้ในการแสวงหาความยุติธรรม รวมทั้งดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวอันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมต่อไป
2. ความเห็นของเจ้าหน้าที่สำนักงานข้อมูลข่าวสารฯ ที่ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ทนายความของแรงงานข้ามชาติโดยอ้างว่า ยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่คนต่างด้าวนั้น แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ให้เหตุผลโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในกฎหมายและสิทธิมนุษยชน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ได้ตราออกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว จนบัดนี้ ทางราชการยังมิได้ออกกฎกระทรวงเพื่อให้คนต่างด้าวมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ การปฏิเสธไม่ให้สิทธิโดยข้ออ้างว่าไม่มีกฎกระทรวงซึ่งหมายถึง “เมื่อไม่มีกฎหมาย (ให้สิทธิ) ก็ไม่มีสิทธิ” จึงขัดต่อหลักการที่ว่า บุคคลเกิดมาย่อมมีสิทธิเสรีภาพต่างๆ ยกเว้นแต่ที่กฎหมายห้ามไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้นำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในมาตรา 25 ที่ระบุว่า
“การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้"
ดังนั้นหากยังไม่มีกฎกระทรวงใดกำหนดห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบันทึกความเห็นของอนุกรรมการหรือกรรมการ ครส. และบันทึกถ้อยคำพยานและเอกสารหลักฐานฝ่ายนายจ้างแก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติแล้ว ลูกจ้างย่อมมีสิทธิที่จะได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวจาก ครส. และคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารฯ ก็ชอบที่จะสั่งให้ ครส.เปิดเผยข้อมูลเอกสารหลักฐานดังกล่าวแก่ลูกจ้างด้วย
3.นอกจากเจ้าหน้าที่ ครส. และสำนักงานข้อมูลข่าวสารจะไม่ทราบหรือเคารพซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของลูกจ้างแรงงานข้ามชาติแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านั้นอาจไม่ทราบว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบแล้วตั้งแต่ปี 2546 แล้ว การปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาฉบับนี้และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และมาตรา 27 ว่าด้วยความเสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติอีกด้วย
ดังนี้มูลนิธิและองค์กรเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) มอบสำเนาข้อมูลข่าวสารและเอกสารที่ร้องขอแก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิซึ่งเป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจลูกจ้างแรงงานข้ามชาติทั้งสี่คนโดยด่วนด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ