มิ.ย. 2564 ผู้ประกันตนว่างงาน 307,883 คน - ILO คาดจ้างงานอาเซียนไม่ฟื้นตัวภายในปี 2565

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4372 ครั้ง

เดือน มิ.ย. 2564 ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 307,883 คน ถูกเลิกจ้าง 90,744 คน - องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการจ้างงานในอาเซียนจะยังไม่ฟื้นตัวภายในปี 2565 โดยกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการตกงานมากที่สุด | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มิ.ย. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน มิ.ย. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,097,986 คน ลดลงร้อยละ -1.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,295,514 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,077,670 คน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18

สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม) เดือน มิ.ย. 2564 มีผู้ว่างงานจำนวน 307,883 คน ลดลงร้อยละ -22.19เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 395,693 คน) แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 303,984 คน) ร้อยละ1.28 ทั้งนี้อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 1/2564 เท่ากับร้อยละ 2.0

สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน มิ.ย. 2564 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 90,744 คน ลดลงร้อยละ -37.74 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 145,747 คน) และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 91,794 คน) ร้อยละ -1.14และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน มิ.ย. 2564 เท่ากับร้อยละ 0.80 

เสนอรัฐบาลเร่งอัดเงิน 7 แสนล้าน ช่วยตกงานกว่า 9 ล้านคน

ช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ของ 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มี.ค. 2564) อยู่ที่ 1.8% (ส.ค. 2564)

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง (คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด) ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน (คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด) และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

จากวิกฤตโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้ วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในประเทศต่างๆ พบว่า มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือนเป็น 6 มาตรการที่มีความสำคัญและนโยบายที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอ

1. มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้าน เพื่อควบคุมการระบาด

2. มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย

3. มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ

4. มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น

5. มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี

6. มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ

มาตรการทั้งหมดนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น คาดว่าจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะเลิกกิจการใน 6 เดือนข้างหน้าได้มากถึง 169,175 ราย (จาก 221,658 รายที่ได้รับผลกระทบ) และช่วยรักษาการจ้างงานได้ถึง 7.4 ล้านตำแหน่ง (จากแรงงาน 9.3 ล้านคนที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน) ซึ่งช่วยลดปัญหาสภาพคล่องได้ถึง 2.75 ล้านครัวเรือน (จาก 3.89 ล้านครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ)

ในระยะยาว การระบาดของโควิด-19 ทำให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงจาก 3.5% ก่อนการระบาดของโควิด-19 เหลือ 3.0% จากการออกจากกิจการของธุรกิจ สินทรัพย์ที่ด้อยค่า และประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25%

โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นและสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2568)

ILO คาดการจ้างงานในอาเซียนยังไม่ฟื้นตัวภายในปี 2565

ช่วงกลางเดือน ส.ค. 2564 องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดการจ้างงานในอาเซียนจะยังไม่ฟื้นตัวภายในปี 2565 โดยกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการตกงานมากที่สุด

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่รายงาน "โควิด 19 และตลาดแรงงานภูมิภาคอาเซียน: ผลกระทบและการตอบรับทางนโยบาย" ระบุว่า เมื่อคำนึงข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่มีในสภาพการณ์การฟื้นตัวรูปแบบใดเลยที่คาดการณ์ว่าชั่วโมงการทำงานจะฟื้นตัวเต็มที่ภายในปี 2565

ในปี 2564 คาดว่าอาเซียนจะสูญเสียชั่วโมงการทำงานประมาณร้อยละ 7.4 ในสภาพการณ์การฟื้นตัวแบบพื้นฐาน และร้อยละ 7 และ 7.9 ในสภาพการณ์ที่เป็นแง่บวกและแง่ลบ เมื่อเทียบกับระดับของชั่วโมงการทำงานก่อนการระบาดใหญ่

ในไตรมาสแรกของปี 2564 ภูมิภาคนี้สูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ 6.1 และร้อยละ 6.2 ในไตรมาสที่ 2 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าสภาพตลาดแรงงานจะย่ำแย่ลงไปอีก อันเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง

“วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในภูมิภาค ด้วยสถานการณ์ที่เป็นไปได้ว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ความเร่งด่วนจึงเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการเร่งนโยบายและโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการปรับตัวของธุรกิจ แรงงานและครัวเรือน และการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงขึ้นของงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค องค์การแรงงานระหว่างประเทศกล่าว

รายงานฉบับนี้ระบุว่าในปี 2563 มีการจ้างงานแรงงานในภูมิภาคน้อยลงกว่าที่คาดการณ์หากไม่มีการระบาดใหญ่ 10.6 ล้านคน โดยภูมิภาคนี้สูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อยละ 8.4 ในปี 2563 เทียบเท่ากับเวลาทำงานของแรงงานที่ทำงานเต็มเวลาจำนวน 24 ล้านคน ในขณะที่แรงงานมีรายได้ลดลงร้อยละ 7.8

ประเทศฟิลิปปินส์สูญเสียชั่วโมงการทำงานมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 โดยลดลงร้อยละ 13.6 ในทางกลับกัน ชั่วโมงการทำงานในประเทศ อาทิ บูรไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย พบว่ามีชั่วโมงทำงานลดลงร้อยละ 4.3–4.5 แรงงานสตรีและเยาวชนเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการตกงานมากที่สุด

เศรษฐกิจและตลาดแรงงานอาเซียนได้รับผลกระทบผ่านช่องทางต่างๆ จากการระบาดใหญ่ซึ่งรวมถึงมาตรการปิดเมืองที่รัฐดำเนินการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การลดลงอย่างมากของการท่องเที่ยว การลดลงของการบริโภคภายในประเทศและผลกระทบต่างๆ จากห่วงโซ่อุปทานของโลก

ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2564 กลุ่มประเทศอาเซียนจัดสรรเกือบร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพื่อมาตรการการกระตุ้นทางการคลัง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการดำเนินการเชิงนโยบายเพิ่มเติมในมิติด้านการคุ้มครองทางสังคม การสนับสนุนภาคธุรกิจ และการคุ้มครองแรงงาน เพื่อรับรองการฟื้นตัวที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาคอาเซียน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: