Rocket Media Lab: สำรวจจักรวาลซีรีส์วายไทย ปี 2020 - ต้นปี 2021 โลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 6101 ครั้ง


เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2564 Rocket Media Lab เปิดเผยข้อมูลว่าซีรีส์วาย หรือ boy’s love เป็นที่นิยมมากขึ้นทุกวันจนแทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมกระแสหลักไปแล้วสำหรับวงการบันเทิงไทย และความทรงพลังของวัฒนธรรมนี้ย่อมมาพร้อมกับการส่งต่อค่านิยมบางอย่างไปในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีรีส์วายไทยมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอ เช่นการเสนอภาพการข่มขืน / ล่วงละเมิดทางเพศ หรือการให้ความรู้ผิดๆ เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ฯลฯ 

ยกตัวอย่างฉากที่มีปัญหา เช่น ฉากผลักลงเตียงแล้วปลุกปล้ำ จากเรื่อง รักออกเดิน Make It Right The Series ที่ออกอากาศในปี 2016 หรือ ฉากลักหลับ จาก TharnType (ซีซั่น 1) เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ ที่ออกอากาศในปี 2019 รวมถึง ฉากข่มขืน จากเรื่อง My Dream The Series นายในฝัน ที่ออกอากาศในปี 2018 หรือฉาก ทำเถอะครับ เรามีโลชั่น จากเรื่อง บังเอิญรัก Love by Chance และฉากอื่นๆ อีกมากมายที่แม้สาววายส่วนหนึ่งจะ ‘ฟิน’ แต่ผู้ชมอีกส่วนหนึ่งก็ตั้งคำถามกับฉากเหล่านี้เป็นอย่างมาก

อีกประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างคือการนำเสนอ ‘เพศสภาพ’ ของตัวละครที่หยิบฉวยเอาอัตลักษณ์ของชายรักชายมาใช้ แต่กลับไม่ไปด้วยกันกับการขับเคลื่อนประเด็น LGBTQ ในสังคม หนำซ้ำยังผลิตซ้ำค่านิยมชายเป็นใหญ่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีฝ่ายที่ถามกลับว่า ‘จำเป็นไหม’ ที่ซีรีส์วายต้องสมาทานภาระหน้าที่นั้น หรือมันเป็นเพียงสื่อบันเทิงที่นำเสนอแฟนตาซีรูปแบบหนึ่งก็ย่อมได้?

ด้วยข้อถกเถียงต่างๆ ที่ว่ามานี้ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน จึงได้สำรวจซีรีส์วายไทยในปี 2020 และช่วงต้นปี 2021 ว่ามีน้ำเสียงแบบไหน ตอบสนองต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ มีการตระหนักรู้และตอบสนองต่อคำวิจารณ์อย่างไรบ้าง

โดยพื้นที่ในการสำรวจคือไลน์ทีวี (LINE TV) ซึ่งเคลมว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีซีรีส์วายให้ดูมากที่สุดในประเทศไทย และมีฐานผู้ชมในปี 2020 ที่เติบโตขึ้นจากปี 2019 ถึง 3 เท่าตัว โดยเลือกดูเรื่องที่ออกอากาศจบลงภายในปี 2020 และต้นปี 2021 จำนวนทั้งหมด 13 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

  • TharnType the Series SS2 : ธาร-ไทป์ (มิว-กลัฟ) ทั้งคู่อยู่ด้วยกันมา 7 ปี เผชิญปัญหาวัยทำงานและเริ่มมีคนอื่นเข้ามาแทรก
  • WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า? : สายฟ้า-ซน (จิมมี่-ทอมมี่) เมื่อน้องสาวที่เป็นสาววาย เขียนนิยายให้พี่ชายตัวเองรักกับหนุ่มฮ็อตอีกคนหนึ่ง และสองคนนั้นที่ตอนแรกแย่งจีบสาวคนเดียวกันดันหันมารักกันจริงๆ / ไฟท์เตอร์-ติวเตอร์ (ซี-เซนต์) พี่น้องรหัสที่ผูกพันกับสาวสวยคนเดียวกัน ไม่ถูกกันอย่างแรง แต่กลับดูเหมือนว่าจะแอบรักกันซะมากกว่า 
  • แปลรักฉันด้วยใจเธอ : เต๋-โอ้เอ๋ว (บิวกิ้น-พีพี) เพื่อนสนิทที่ห่างหายกันไปแล้วกลับมาสนิทกันอีกครั้ง แต่ก็ต้องเผชิญความเป็นคู่แข่งกันในการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับที่ได้ explore เพศสภาพและความรู้สึกที่มีต่อกันไปด้วย
  • เพราะเราคู่กัน 2gether The Series SS1 และ 2 : สารวัตร-ไทน์ (ไบรท์-วิน) เริ่มจากไทน์ที่ขอให้สารวัตรแกล้งจีบตัวเอง เพื่อจะกันให้เพื่อนที่เป็นตุ๊ดอีกคนหนึ่งเลิกมาจีบตน แต่แล้วดูเหมือนสารวัตรจะจีบไทน์จริงๆ 
  • Until We Meet Again ด้ายแดง : ดีน-ภาม (โอห์ม-ฟลุ้ค) จากชาติที่แล้วทั้งคู่ถูกพ่อของตัวเองกีดกันความรัก ในชาตินี้ที่เป็นปี 2020 สองคนรักกันตั้งแต่แรกพบและเหมือนจะจำกันได้ ขณะที่สังคมและครอบครัวไม่ได้มีปัญหาอะไรกับความรักชาย-ชายอีกแล้ว ทั้งคู่รักกันอย่างราบรื่นพร้อมๆ กับที่ต้องพยายามแก้ปมในอดีตชาติที่ยังคงเป็นบาดแผลในใจอยู่
  • [รักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะ] วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอ TOSSARA : ทศกัณฐ์-บาร์ (วิน-โฟล์ค) หมอหนุ่มสุดฮ็อตพยายามจีบรุ่นพี่คณะวิศวะ โดยอ้างว่าเขาเก็บเกียร์ได้ ต้องได้สิทธิจีบ ฝ่ายรุ่นพี่ดูเหมือนจะยืนยันว่าชอบผู้หญิง แต่ก็ยอมให้จีบแต่โดยดี 
  • [รักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะ] กลรักรุ่นพี่ Love Mechanics : วี-มาร์ก (หยิ่น-วอร์) วีจูบมาร์กที่เมามาก เพื่อให้มาร์กตัดใจจากบาร์ที่เป็น ‘เมียหมอ’ ไปแล้ว มาร์กค่อยๆ เปิดใจให้วี แต่ดันวีมีแฟนที่เป็นผู้หญิงอยู่แล้ว 
  • [รักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะ] เหนือพระราม This is Love Story : เหนือพยายามจีบพระราม (พร้อม-เบนซ์) เด็กมัธยมที่เป็นน้องชายของทศกัณฐ์ ติดที่ว่าเขามีภาพลักษณ์เจ้าชู้มากๆ 
  • นิยามรัก So Much in Love : องศา-นอร์ท (กาย-ภีม) สองนักกีฬาว่ายน้ำที่ฝ่ายหนึ่งเป็นคนอีกฝ่ายเป็นวิญญาณ ซึ่งมีแม่ที่หัวโบราณอย่างที่สุด รวมถึงอีกหลายคู่ในโรงเรียนกีฬาแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ (ยังคงไว้ซึ่งน้ำเสียงเรียกร้องการยอมรับ LGBTQ แต่ประเด็นไม่ใหม่เท่าใดนัก)
  • พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later : กอล์ฟ-แบงค์ (ฟลุค-ฟลุ้ค) ต่อยอดจากหนังเรื่อง พี่ชาย My Bromance ที่นับว่าเป็นหนังเกย์เรื่องแรกๆ ที่สร้างความนิยมในไทย ขณะที่เมื่อปรับเป็น ‘ซีรีส์วาย’ จึงมีการเพิ่มเติมคู่อื่นๆ เข้ามาให้จิ้นในเรื่องด้วย 
  • นิทานพันดาว 1,000 stars : ภูผา-เธียร (เอิร์ท-มิกซ์) จากที่เธียรเป็นลูกคนรวยที่ใช้ชีวิตสุดโต่งไปวันๆ หลังจากรถชน เขาก็ได้รับบริจาคหัวใจจากทอฝัน หญิงสาวที่เป็นครูอาสาบนดอย เขาจึงตั้งใจจะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าสมกับที่ได้หัวใจมา เธียรไปเป็นครูบนดอยและพบกับภูผา เจ้าหน้าที่หนุ่มที่ทอฝันเคยรัก ทั้งคู่จึงได้เริ่มผูกความสัมพันธ์กัน 
  • The Cupid Coach โค้ชลับสลับรัก : มอแกไนซ์-ลาเต้ (พีช-ตี๋) ซีรีส์ที่สร้างขึ้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น โดยจากที่นักฟุตบอลหนุ่มอย่างลาเต้เข้าใจว่าตัวเองหลงรักพี่ภูดิท เขาขอพรให้พบรักแท้ แต่คิวปิดอย่างมอแกไนซ์กลับลงมาเพื่อเป็นคนรักของลาเต้ซะเอง
  • Brother รักนะน้องชาย รักนายครับผม : ปราบ-ชล (โฟลค์-ภู) นักเรียนสองคนที่ไม่ถูกกัน ต้องมาอยู่ร่วมบ้านในฐานะพี่ชาย-น้องชายเพราะพ่อแม่ของทั้งสองแต่งงานกัน ความสัมพันธ์เลยได้พัฒนาเป็นความรัก

โดยใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดทั้งหมดจากการสำรวจทั้ง 13 เรื่องได้ที่นี่ 

และจากการสำรวจ นำมาซึ่งข้อสังเกตดังนี้

การเสนอภาพความรัก ชาย-ชาย: ยังคงเป็น ‘ชายแท้รักกัน’ 

100% ต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ ‘แมนกว่า’

โดยโครงสร้างที่จำต้องมี ‘พระเอก’ กับ ‘นายเอก’ พบว่าทั้ง 13 เรื่องที่เราได้สำรวจ ให้ภาพของชายแท้ที่รักกันภายใต้กรอบที่ว่าฝ่ายหนึ่งต้องแมนกว่าอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่แล้วฝ่ายที่แมนกว่าจะมีชื่ออยู่ด้านหน้าของชื่อเรื่อง และอนุมานได้ว่าเป็นฝั่ง ‘รุก’ ส่วนฝั่งที่จะมีความนุ่มนิ่มหรือเข้าใกล้ความเป็นหญิงมากกว่ากว่าจะมีชื่ออยู่ด้านหลัง และอนุมานได้ว่าเป็นฝั่ง ‘รับ’ 

แต่โครงสร้างนี้อาจไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จเสมอไป อย่างเช่นกรณีของ TharnType the Series ที่ตัวละครไทป์เปิดตัวตั้งแต่ซีซั่นแรกว่าแมนสุดขั้ว ชอบผู้หญิง และเกลียดเกย์ แต่เมื่อเข้าคู่กันแล้วเขาอยู่ในโพสิชั่น ‘เมีย’ ขณะที่ธารซึ่งเปิดตัวแต่แรกว่าชอบผู้ชายและมักจะขี้อ้อนกว่า อ่อนโยนกว่า อยู่ในโพสิชั่น ‘ผัว’ และผลตอบรับจากแฟนคลับก็เรียกได้ว่าถล่มทลายระดับที่ดังไปถึงประเทศจีนเลยทีเดียว

8 เรื่อง ใช้นักแสดงตามสูตรร่างสูง-ร่างบาง 

อีกหนึ่งในขนบฮิตของซีรีส์วายไทย (หรือกระทั่งการจิ้นวายในวงไอดอลหรือในสื่ออื่นๆ ก็ตาม) ที่ต่อเนื่องมาจากหัวข้อก่อนหน้าโดยใช้สรีระของนักแสดงช่วยเสนอภาพความแมนมากกว่า/น้อยกว่าให้ชัดขึ้น คือมักจะให้ฝ่ายพระเอกมีลักษณะร่างหนาหรือร่างสูง ส่วนฝ่ายนายเอกจะมีลักษณะร่างบาง และในบรรดาเรื่องที่สำรวจก็มี 8 เรื่องด้วยกันที่ใช้สูตรนี้โดยเลือกแคสต์ให้สรีระของสองฝ่ายต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 

ที่น่าสนใจคือ 5 เรื่องที่ไม่ได้ใช้สูตรนี้ได้แก่ TharnType the Seriesแปลรักฉันด้วยใจเธอเพราะเราคู่กันกลรักรุ่นพี่ และ The Cupid Coach โค้ชลับสลับรัก 

ซึ่งหากไม่นับเรื่องท้ายสุดที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ก็นับว่าเรื่องที่ไม่ได้ใช้สูตร ร่างสูง-ร่างบาง ล้วนแต่ประสบความสำเร็จในด้านความนิยมอย่างยิ่ง กลายเป็นกระแสคู่จิ้นที่คุ้นหูใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็น มิว-กลัฟ / บิวกิ้น-พีพี / ไบรท์-วิน และ หยิ่น-วอร์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่จำเป็นต้องให้ใครคนหนึ่งมีสรีระที่ตัวเล็กกว่าหรือมีลักษณะบางอย่างคล้ายผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงอินเสมอไป การให้หล่อเท่ไปเลยทั้งคู่หรือตัวเท่ากันทั้งคู่ก็เป็นอีกจุดขายที่น่าสนใจสำหรับตลาดคู่จิ้นวายเช่นกัน (แต่ที่สุดแล้วก็ยังคงต้องมีฝ่ายหนึ่งที่แมนกว่าโดยคาแรกเตอร์อยู่ดี)

ที่สุดแล้วยังคงเป็นเรื่องของ ‘ชายแท้รักกัน’ 

อันที่จริง จะบอกว่านี่ก็คือแกนหลักของซีรีส์วายก็ว่าได้ ซึ่งนำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า “จำเป็นไหมที่ซีรีส์วายต้องขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งจากการสำรวจซีรีส์วายในปี 2020 และต้นปี 2021 พบว่าบางเรื่องก็ได้พยายามหลุดออกจากกรอบของคำว่าชายแท้รักกันอยู่บ้าง โดยมีฝ่ายหนึ่งที่ก้ำกึ่งว่าพวกเขาเป็น ‘ชายแท้’ ตามแบบที่สังคมส่วนใหญ่คาดหมายหรือไม่

อย่างเช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับการสำรวจเพศสภาพของตัวละคร หรือ ด้ายแดง ที่ตัวละครภามนั้นไม่ได้ออกสาวชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มีความ masculine จ๋าๆ อย่างตัวละครในเรื่องอื่นๆ เขาดูเป็นคนเรียบร้อยและชอบทำขนมไทย มีความตัวเล็กน่ารักที่สะท้อนออกมาผ่านการกระทำของตัวละครไม่ใช่อาศัยแอ็คติ้งของนักแสดงเพียงอย่างเดียว 

แต่ส่วนใหญ่หรืออีกกว่า 11 เรื่องยังคงเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องของชายแท้ที่รักกัน โดยที่ไม่ได้พูดอีกต่อไปแล้วว่าเป็นรักที่ไม่มีเพศ หรือกระทั่งพยายามนิยามความรักที่เกิดขึ้นด้วยคำจำกัดความใดๆ แค่ให้ชายสองคนมารักกันเท่านั้น 

ขณะที่บางเรื่องก็ได้ถ่ายทอด statement ต่อความรักชาย-ชาย ผ่านบทสนทนาของตัวละครที่แวดล้อมตัวละครเอก เช่น นิทานพันดาว ในฉากที่เธียรซึ่งอดีตเคยเป็นแบดบอยนักแข่งรถ ได้บอกกับเพื่อนสนิทว่าดูเหมือนเขาจะชอบผู้ชาย ซึ่งเพื่อนก็ตอบว่า “ชอบผู้ชายก็เรื่องของมึงสิไม่เห็นแปลก ถ้ากูบอกว่ากูชอบผู้หญิงมึงว่าแปลกปะล่ะ ก็เหมือนกับกูชอบหมา มึงชอบแมวน่ะ” จากนั้นเพื่อนก็ไม่ได้มานั่งนิยามต่อว่าเธียรเป็นเพศไหน หรือกระทั่งฉากที่เธียรกอดกับภูผาต่อหน้าพ่อแม่ ทั้งคู่ก็ไม่ได้มีทีท่ารังเกียจหรือจะห้ามปรามอะไร เพียงแต่เซอร์ไพรส์เล็กน้อยพร้อมกับอมยิ้มเท่านั้น

10 เรื่อง มีตัวละครตุ๊ดที่มีบุคลิกต่างจากหนุ่มวายชัดเจน

เป็นอีกลักษณะเด่นของซีรีส์วายไทย ที่มักจะมีตัวละครตุ๊ดไว้ให้ผู้ชมได้มองเทียบกับหนุ่มวายว่าเป็นคนละ genre กัน มีเพียง 3 เรื่องที่ไม่ได้ใช้สูตรนี้ ได้แก่ แปลรักฉันด้วยใจเธอด้ายแดง และ นิทานพันดาว

ส่วนที่ใช้ตัวละครตุ๊ดเพื่อให้แตกต่างกับชายแท้ที่รักชายอย่างชัดเจนที่สุด อยู่ในเซ็ต ‘En of Love รักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะ’ ที่เพื่อนในกลุ่มเดียวกันต่างก็มีเส้นเรื่องแบบวายเป็นของตัวเองในจักรวาลเดียวกัน ทั้ง วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอกลรักรุ่นพี่ และ เหนือพระราม โดยทุกตัวละครที่รักกันล้วนมีลักษณะเป็นชายแท้ทั้งหมด ขณะที่มีตัวละครเพื่อนในกลุ่มอีก 2 คน ที่ออกสาวชัดเจนหรือถูกนิยามว่าเป็นเพื่อนตุ๊ด ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ และคอยแทะโลมหนุ่มหล่อที่จะมาเป็นแฟนกับเพื่อนชายในกลุ่ม ยิ่งกว่านั้นตัวละครเหล่านี้ไม่มีความรักเป็นของตัวเองแต่อย่างใด 

ยกเว้นเรื่องเดียวที่ตัวละครตุ๊ดได้มีความรัก (เพื่อทดแทนการถูกตัวละครเอกกีดกันออกไป) นั่นคือ กรีน แห่ง เพราะเราคู่กัน ซึ่งเป็นตัวละครที่ตามจีบไทน์อย่างเต็มพิกัดในช่วงเริ่มเรื่อง จนเป็นเหตุให้ไทน์ต้องไปขอให้สารวัตรมาแกล้งจีบตัวเองนั่นเอง

6 เรื่อง ตัวละครเอกเคยคบหรือเคยชอบผู้หญิง

ในจำนวนนี้บางเรื่องพรีเซนต์ชัดเจนเลยจนถึงขนาดย้ำว่าตัวละครเคยชอบผู้หญิงมาก่อน ก่อนที่จะได้มาเจอผู้ชายคนที่ใช่ ซึ่งในความเป็นจริง ตัวละครเหล่านี้อาจนิยามตนเองเป็นไบเซ็กชวลหรือแพนเซ็กชวลหรืออื่นๆ ก็ย่อมได้หากเขาต้องการ แต่ในจักรวาลของซีรีส์วาย เขาเหล่านี้ยังคงเป็น ‘ชายแท้’ อยู่วันยังค่ำ (อาจจะยกเว้น เต๋ ในแปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่ยังไม่ได้คลี่คลายตัวเองจนถึงที่สุด ซึ่งอาจต้องติดตามในซีซั่นสองประกอบด้วย) 

ที่น่าสนใจคือการหาทางลงให้กับตัวละครหญิงที่เคยอยู่ในความสัมพันธ์ โดยบางเรื่องได้เลือกผลักภาระด้านความร้ายให้กับผู้หญิง

ใน เพราะเราคู่กัน ตัวละครไทน์ เคยคบผู้หญิงมาแล้วหลายต่อหลายคน และผู้หญิงทุกคนก็มีความเยอะและน่ารำคาญ จึงเป็นเรื่องที่ถูกแล้วสำหรับตัวซีรีส์ที่ไทน์จะไปชอบผู้ชายมากกว่า หรือใน กลรักรุ่นพี่ แฟนสาวของวีที่อาศัยอยู่ด้วยกันก็เป็นฝ่ายนอกใจไปคบกับชายอื่นเหมือนกับที่วีก็แอบหวั่นไหวกับมาร์ค จะเห็นได้ว่าผู้หญิงในบางเรื่องไม่ได้แค่ ‘ไม่ใช่’ แต่ยัง ‘ไม่ดี’ ด้วย นั่นก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ความรัก ชาย-ชาย นั่นเอง

2 เรื่อง มีน้ำเสียงที่ต้องการรื้อมายาคติเกี่ยวกับเกย์ แต่กลับไม่ใหม่แถมยังล้นเกิน 

อย่างไรก็ตาม มี 2 เรื่องที่มีน้ำเสียงในการรื้อมายาคติเกี่ยวกับเกย์หรือ LGBTQ อย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ได้แก่ นิยามรัก So Much in Love และ พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later ซึ่งล้วนแต่เป็นสองเรื่องที่ยังมีข้อควรปรับปรุงในด้านโปรดักชั่นและตัวบท

เช่นใน พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later มีเด็กนักเรียนชายถามครูว่า “พี่เขาเป็นเกย์เหรอครับ” คุณครูที่มีลักษณะตุ้งติ้ง ออกสาว ตอบว่า “ลูกต้องเปลี่ยนคำ ลูกต้องไม่พูดว่าเกย์ ต้องพูดว่า LGBT” และครูอีกคนก็เสริมอีกว่า “ความรักของพวกเขาน่ะบริสุทธิ์งดงาม ดีกว่าพวกผู้ชายแท้ๆ อย่างเธอ ที่ได้ใครแล้วก็ทิ้งตลอด” ซึ่งใช้วิธีเหยียดชายแท้กลับอีกทีหนึ่ง 

หรือ นิยามรัก So Much in Love ที่ให้ภาพตัวละครแม่เป็นหญิงแก่หัวโบราณ พร้อมพ่นประโยคอย่าง “ลูกชั้นไม่เคยเบี่ยงเบน เธออย่าเอาความคิดประหลาดๆ มาใส่หัวลูกชั้น” หรือ “ความรักของคนแบบพวกเธอมันฉาบฉวย” ฯลฯ

สิ่งที่ทั้งสองเรื่องนี้กำลังโต้กลับอยู่นี้ เป็นภาพจำเกี่ยวกับ LGBTQ ที่มีอยู่เนิ่นนานมาแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าการโต้กลับในประเด็นเหล่านี้ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่? หรือยังมีกลุ่มคนดูซีรีส์วายที่ต้องการการสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นที่ว่านี้อยู่หรือเปล่า?

7 เรื่อง พูดถึงความยากลำบากของความรักชาย-ชาย ในแง่สังคม/ครอบครัว

ทั้ง 7 เรื่องนี้ แม้จะไม่ได้เสนอภาพความรักชาย-ชายด้วยน้ำเสียงแบบ LGBTQ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธปัญหาของความรักในเพศเดียวกันในแง่สังคมหรือครอบครัว ในจำนวนนี้ได้แก่ TharnType the Series SS2, WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า?, แปลรักฉันด้วยใจเธอ (อาจนับเป็นข้อยกเว้นที่ว่าไม่ได้เสนอภาพความรักชาย-ชายด้วยน้ำเสียงแบบ LGBTQ) , Until We Meet Again ด้ายแดง, นิยามรัก So Much in Love, พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later และ Brother รักนะน้องชาย รักนายครับผม โดยในแต่ละเรื่องก็มีทางออกของปัญหาที่ต่างกัน

ใน TharnType the Series SS2 ไทป์ไม่ยอมแต่งงานกับธารสักที เพราะกลัวว่าครอบครัวธารที่มีชื่อเสียงในสังคมจะ ‘เสียหน้า’ ที่ลูกชายรักกับผู้ชาย ทางด้านพ่อของไทป์ก็ไม่ยอมรับที่ลูกมีแฟนเป็นผู้ชาย จนท้ายที่สุดต้องคลี่คลายด้วยการ ‘บวช’ เพื่อให้ความเป็นลูกชายครบสมบูรณ์เป็นการทดแทน

ขณะที่ WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า? ที่คล้ายจะเน้นแฟนตาซีเต็มรูปแบบ ก็ยังคงใส่ความขัดแย้งเรื่องครอบครัวเข้ามาพอเป็นกิมมิก โดยลาสต์บอสของคู่ติวเตอร์-ไฟท์เตอร์ คือพ่อของไฟท์เตอร์ที่ไม่ยอมรับที่ลูกชายตัวเองรักผู้ชาย ทั้งคู่จึงต้องใช้เวลาเป็นข้อพิสูจน์

แปลรักฉันด้วยใจเธอ ไม่ได้เสนอภาพแรงกดดันจากภายนอก แต่เป็นตัวละคร เต๋ ที่กดดันตัวเอง ด้วยความกลัวจะทำให้แม่อับอาย และเต๋เองก็อายเพื่อนที่ต่างก็มีแฟนเป็นผู้หญิง และท้ายที่สุดตัวละครที่ช่วยให้เต๋คลี่คลายได้ก็เป็นพี่ชาย ที่มีลักษณะเป็นชายแท้ ผู้ซึ่งเข้ามายืนยันกับเต๋ว่า “มึงจะชอบใครก็ได้” และยอมรับในสิ่งที่น้องเป็นอย่างเต็มที่

Until We Meet Again ด้ายแดง เป็นเรื่องเดียวจากทั้งหมดที่เสนอภาพของ ‘ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป’ จากที่ 20-30 ปีก่อน รักของชาย-ชาย ถูกพ่อของทั้งสองฝ่ายกีดกันจนเกิดโศกนาฏกรรม เมื่อสองคนได้กลับมาพบกันในปี 2020 ก็ไม่มีใครที่ตั้งคำถามหรือตั้งแง่กับความรักของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว อุปสรรคที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของความเจ็บปวดในอดีตที่ยังต้องการการเยียวยา

นิยามรัก So Much in Love มีตัวละครแม่ของนอร์ท ที่เป็น ผอ.โรงเรียนและมาในมาดของนางร้ายเต็มรูปแบบ เธอเกลียดคนที่ ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ ถึงขั้นไล่แก๊งนักเรียนตุ๊ดออกจากโรงเรียน และเมื่อรู้ว่าลูกชายของตัวเองรักกับผู้ชาย เธอก็ปล่อยพลังร้ายเต็มที่จนลูกชายต้องตอกหน้าหงาย

พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later ด้วยการกีดกันจากครอบครัว ทำให้ กอล์ฟ (ที่ในเวอร์ชั่นหนังได้ตายไปแล้ว) ต้องปิดบังว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้น้องชายตัดใจจากเขาให้ได้ อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดตัวซีรีส์ก็ไม่ได้โฟกัสประเด็นนี้ต่อ แต่หันไปให้ความสำคัญกับชีวิตรักของแต่ละตัวละครแทน

Brother รักนะน้องชาย รักนายครับผม ผู้เป็นพ่อรับไม่ได้อย่างแรงที่ลูกชายของตัวเองกับลูกเลี้ยงแอบคบกัน และสิ่งที่ต้องแลกนั้นคือลูกชายต้องยอมเรียนหมอตามที่พ่อต้องการ ถึงจะยอมให้คบกันได้ และซีรีส์ก็เลือกให้ตัวละครยอม 

การเสนอภาพความเป็นชาย : หล่อ เท่ เตะบอล กู-มึง-ไอ้สัส 

100% มีฉากเปลือยท่อนบน เผยเรือนร่าง

ทั้ง 13 เรื่องที่เราได้สำรวจ มีฉากที่ไม่ตัวละครใดก็ตัวละครหนึ่งต้องเปลือยท่อนบนเผยให้เห็นเรือนร่างท่อนบน บางเรื่องถึงกับถ่ายไล่ไปตามกล้ามเนื้อให้เห็นกันชัดๆ เป็นภาพความเป็นชายในแบบที่ซีรีส์ต้องการเสนอให้เห็น นั่นคือการมาพร้อมสรีระร่างกายที่น่ามอง

มีเพียงเรื่องเดียวที่ใช้การถอดเสื้อของตัวละครเพื่อนำเสนออย่างอื่น นั่นคือ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่ให้โอ้เอ๋วถอดเสื้อออกเพื่อลองใส่บราและถ่ายเซลฟี่ก่อนจะโพสต์ลงอินสตาแกรมและลบออกไปในที่สุด ฉากนี้เป็นครั้งแรกๆ ที่ซีรีส์เริ่มเผยให้เห็นว่าโอ้เอ๋วเองมีความต้องการลึกๆ ที่จะสื่อสารออกไปว่าตนเองไม่ได้เป็น ‘ชายแท้’ การเปลือยท่อนบนในครั้งนี้จึงแตกต่างจากใน 12 เรื่องที่เหลืออย่างสิ้นเชิงและน่าจดจำอย่างมาก ขณะที่ในเรื่องอื่นๆ การเปลือยท่อนบนไม่ได้มีความจำเป็นต่อเนื้อเรื่องแต่อย่างใด พวกเขาแค่อยู่ชมรมว่ายน้ำ เหนื่อยจากการเล่นกีฬา หรือไม่ก็เพิ่งอาบน้ำเสร็จ

กีฬาคือยาวิเศษ: 8 เรื่อง ผู้ชายต้องเตะบอล ส่วนอีก 3 เรื่อง—ว่ายน้ำ

จากทั้ง 13 เรื่องมี 11 เรื่องที่มีฉากการเล่นกีฬาหรือพูดถึงการเล่นกีฬา และเกือบทั้งหมดจะเป็นการเตะฟุตบอล สุดยอดกีฬาที่ให้ภาพความเป็นชายได้แจ่มชัดที่สุด ส่วนอีก 3 เรื่องที่ไม่มีการเตะฟุตบอล พวกเขาก็จะว่ายน้ำแทน และได้เผยเรือนร่างกันไปแบบเนียนๆ ได้แก่ TOSSARA วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอ, นิยามรัก So Much in Love และ พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later

ขณะที่มีเพียง 2 เรื่องที่ไม่ปรากฏเรื่องราวของกีฬาเลย ได้แก่ กลรักรุ่นพี่ และ เหนือพระราม นั่นเพราะตัวละครวุ่นอยู่กับการจีบกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็น่าสนใจที่ว่าซีรีส์ชุดรักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะนี้ เป็นจักรวาลเดียวที่ไม่ได้ใช้การ ‘เตะบอล’ เพื่อเสนอความแมนของตัวละคร นั่นอาจเพราะว่าแค่ความเป็น ‘วิศวะ’ ก็เพียงพอต่อการเสนอภาพความแมนแล้วก็เป็นได้

กู-มึง-ไอ้สัส ยังคงคลาสสิก: 8 เรื่องใช้สรรพนามนี้เรียกขาน

อีกหนึ่งภาพความแมนที่มักถูกนำเสนอในซีรีส์วายคือสรรพนาม กู-มึง-ไอ้สัส ที่แม้เป็นคู่ที่คบกันมานานแล้วอย่างธาร-ไทป์ในซีซั่นที่สอง ก็ยังคงเรียกกันอย่างนั้น และจากทั้ง 13 เรื่องก็มี 8 เรื่องที่เลือกตัวละครใช้สรรพนามเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลมาจากการเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบ ‘แมนๆ คุยกัน’ ทั้งสิ้น

6 เรื่องมีฉากผู้หญิงตามกรี๊ดเป็นพรวน

เพื่อยืนยันความหล่อและป๊อปของตัวละคร ทั้ง 6 เรื่องนี้จึงมีฉากที่ผู้หญิง (และบางเรื่องมีตุ๊ดร่วมด้วย) ปวารณาตนเป็นแฟนคลับและตามกรี๊ดตัวละครเอก โดยที่เสนอภาพนี้อย่างหวือหวาได้แก่ เพราะเราคู่กัน ที่ถึงกับให้มีการต่อแถวยาวข้ามตึกเพื่อจะได้เจอกับสารวัตรกันเลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นในแทบทุกเรื่อง ตัวละครหญิงก็จะมีอาการฟิน ดวงตาเป็นประกายเสมอ เมื่อเห็นผู้ชายที่ตนกรี๊ดรักกับผู้ชายด้วยกัน ไม่ได้เป็นไปในทาง ‘เสียดาย’ หรือ ‘เสื่อมความนิยม’ แต่อย่างใด

11 เรื่อง ไม่ว่าจะแมนแค่ไหน หนุ่มตาหน้าตาดีในเรื่องก็มีแนวโน้มจะมีโมเมนต์กันได้เป็นปกติ 

อีกหนึ่งลักษณะเด่นของซีรีส์วายส่วนใหญ่คือ ไม่ใช่แค่เพียงแค่คู่หลักหรือคู่รองเท่านั้น แต่ตัวละครชาย (ที่มีลักษณะเป็น ‘ชายแท้’ และรูปร่างหน้าตาดี) ในจักรวาลเดียวกันมักจะเป็นหนุ่มวายแทบทั้งหมด มีเพียง 2 เรื่องที่ไม่ได้เสนอภาพในลักษณะนี้คือ แปลรักฉันด้วยใจเธอ (อีกแล้ว) และ นิทานพันดาว 

ที่น่าพูดถึงคือ พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later ที่ใช้คำโปรยว่า “ซีรีส์เรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อคารวะภาพยนตร์เรื่อง “พี่ชาย My Bromance” (2014) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดกระแสภาพยนตร์และซีรีส์แนว LGBTQ ในไทยมาจนถึงปัจจุบัน” เห็นได้ชัดว่าซีรีส์เลือกใช้คำว่า ‘ซีรีส์แนว LGBTQ’ แทนคำว่าซีรีส์วาย แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อมาอยู่ในแพลตฟอร์มอย่างไลน์ทีวี เรื่องนี้ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่วาย และยังใช้ลักษณะของซีรีส์วายเข้ามาผสมด้วย นั่นคือการเพิ่มเติมตัวละครชายอื่นๆ และเส้นเรื่องความรักของตัวละครชายอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบของ ‘ชายแท้รักกัน’ 

ส่วนอีกกรณีที่น่าสนใจเห็นจะเป็นเรื่องที่ให้ภาพที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบชายแท้รักกัน (แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) นั่นคือ นิยามรัก So Much in Love ที่โดยบทแล้วจะมีคู่หนึ่งที่เป็นเพื่อนสนิทซึ่งเป็นชายแท้กันทั้งคู่หันมารักกัน แต่ด้วยการแสดงของนักแสดงที่ยังคง ‘ออกสาว’ ทำให้มีคอมเมนต์ไปในทิศทางที่ว่า “สาวมาก ไม่อินเลย” รวมถึง “ฟ้าจะผ่าปะ” ซึ่งก็อนุมานได้ว่าในตลาดของซีรีส์วาย ยังไม่ได้มีพื้นที่ที่มากพอสำหรับความรักของ ‘ชายไม่แท้’ มากเท่าใดนัก 

กว่าครึ่ง ผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย

6 เรื่อง ใช้ระบบโซตัส เป็นส่วนผลักดันให้เกิดโมเมนต์

ไม่ใช่แค่ ‘น้องเค’ คู่ปรับแนนโน๊ะ แต่หนุ่มวายกว่าครึ่งหนึ่งก็ผูกพันอยู่กับโซตัสและวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย โดยทั้ง 6 เรื่องนี้ได้แก่ WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า?, เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, ด้ายแดง Until We Meet Again, วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอ TOSSARA, กลรักรุ่นพี่ Love Mechanics และ เหนือพระราม This is Love Story 

เรื่องที่ใช้วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยมาช่วยสร้างโมเมนต์มากที่สุดเห็นจะเป็น เพราะเราคู่กัน 2gether the Serires ทั้งสองซีซั่น ที่ให้สารวัตรอยู่ชมรมดนตรี ส่วนไทน์อยู่ชมรมเชียร์ลีดเดอร์ เราจึงได้เห็นฉากที่รุ่นพี่ในชมรมสั่งให้ไทน์ขึ้นไปแนะนำตัวบนเวที (“ผมชื่อไทน์เป็นคนชิคๆ ฯลฯ”) จนสารวัตรมาเห็นและรู้สึกว่าน่ารัก จนถึงรุ่นพี่เชียร์ลีดเดอร์ที่ฝากไทน์ไปถามข้อมูลเกี่ยวกับสารวัตร จนทั้งคู่ได้พูดโควตฟินๆ หลายต่อหลายประโยค และขณะที่รุ่นพี่ให้ทุกคนซ้อมหลีดอย่างหนักแต่ก็กลับยอมผ่อนปรนให้ไทน์เพราะสารวัตรสุดหล่อซื้อขนมมาฝาก ฯลฯ รวมถึงเนื้อเรื่องส่วนอื่นๆ ที่แทบจะขับเคลื่อนไปด้วยวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงในข้อนี้ไม่ได้คือ TOSSARA วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอ โดยฝั่งหมอ (ทศกัณฐ์) ใช้ข้ออ้างว่า “เก็บเกียร์ได้” มาเพื่อจีบวิศวะ (บาร์) อันเนื่องมาจากเรื่องเล่าในหลายมหาวิทยาลัยที่ว่าหนุ่มวิศวะมักจะมอบเกียร์ซึ่งเป็นของสำคัญให้กับคนรักของเขา ในเรื่องนี้ฝ่ายวิศวะจึงจำใจยอมให้จีบเพราะ “กว่าจะได้รุ่น ได้เกียร์ กูเหนื่อยแทบตายนะเว่ย” ซึ่งหมายถึงว่าเขาได้ผ่านการรับน้องอันหฤโหดเพื่อจะได้ ‘รุ่น’ ซึ่งคือการได้เกียร์มาห้อยอยู่กับเสื้อ และเมื่อขึ้นมาเป็นรุ่นพี่เขาก็สืบทอดบทบาทของพี่ว้ากมาเช่นกัน 

นอกจากนี้ ในเรื่องอื่นๆ ก็มีทั้งกิจกรรมชมรม และความเป็นพี่รหัส-น้องรหัส พี่เทค-น้องเทค จนถึงการประกวดดาว-เดือน ที่ช่วยเอื้อให้ตัวละครได้ใกล้ชิดกันและตกหลุมรักผู้ชายอีกคนในที่สุด ขณะที่โลกอินเทอร์เน็ตและพื้นที่อื่นๆ ล้วนแต่วิพากษ์วัฒนธรรมเหล่านี้กันเป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าสำหรับซีรีส์วายที่มีฉากหลังเป็นชีวิตมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้กลับหอมหวานยิ่งนัก

การ ‘บังคับ’ (เพื่อความฟิน) ยังคงมีอยู่แม้จะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยก็ตาม 

แม้ฉากซึ่งเป็นปัญหาที่เรายกมากล่าวถึงข้างต้นจะถูกวิจารณ์อย่างหนักในเวลาที่ผ่านมา แต่จนถึงตอนนี้ ซีรีส์วายไทยส่วนหนึ่งก็ยังคงเสนอภาพการใช้กำลังบังคับด้วยความรักอยู่ดี

3 เรื่อง มีฉากผลักลงเตียง 

ในจำนวนนี้ได้แก่ TharnType the Series ซีซั่น 2 จากที่ในซีซั่นแรก ตัวเอกอย่างธารพยายามพิชิตใจจนถึงขั้นลักหลับไทป์ มาถึงซีซั่นสองนี้เป็นเรื่องของทั้งคู่ที่ใช้ชีวิตรักมาด้วยกัน 7 ปี ฉากเลิฟซีนของทั้งคู่จึงเป็นไปในทางดูดดื่มเต็มไปด้วยแพสชั่น เป็น consent โดยสมบูรณ์แบบ หากแต่ฉากการใช้กำลังบังคับก็ได้ไปอยู่ที่คู่รองอย่าง เฟียต-เลโอ แทน โดยตอนที่ทั้งคู่ทะเลาะกัน เลโอได้ผลักเฟียตลงเตียงเพื่อจะคาดโทษ ก่อนที่จะปรับความเข้าใจกัน

เรื่องถัดมาที่มีการผลักลงเตียงคือ WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า? ในคู่ของไฟท์เตอร์-ติวเตอร์ ที่เป็นการใช้อารมณ์รุนแรงหลังจากทะเลาะกัน และนำไปสู่การค่อยๆ ปรับความเข้าใจและมีเซ็กส์กันในที่สุด ซึ่งคู่นี้นับว่าขายเซ็กส์ซีนได้หวือหวาที่สุดในไลน์ทีวีปี 2020 เลยก็ว่าได้ โดยมีฉากอื่นๆ ด้วย ที่เน้นการมีเซ็กส์ของทั้งคู่และทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ใช้เรท 18+ มาตั้งแต่ต้น

ส่วนอีกเรื่องที่มีฉากผลักลงเตียงคือ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ในซีซั่นแรก ตอนที่ยังไม่ได้เป็นแฟนกัน สารวัตรผลักไทน์ลงบนเตียงเล่นๆ เพื่อให้ลอง ‘เทสต์ผ้าปู’ ให้หน่อย โดยเป็นการหยอกล้อกันขำๆ มากกว่าจะขายเซ็กซี่ ตามสไตล์คอเมดี้ของตัวซีรีส์ ไม่ได้นำไปสู่การมีเซ็กส์แต่อย่างใด 

4 เรื่อง มีการจับจูบ 

ในจำนวนนี้ หนึ่งคือเจ้าเดิมอย่าง WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า? และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในคู่ไฟท์เตอร์-ติวเตอร์ แต่อีกหนึ่งคู่หลักอย่าง สายฟ้า-ซน ก็มีการจับจูบเช่นกัน โดยเป็นการแกล้งเล่นจากฝ่ายสายฟ้าที่มักจะมองว่าซนนั้น ‘น่าแกล้ง’ ทั้งยังเหมือนกับ ‘นางเอกซีรีส์เกาหลี’ อีกต่างหาก

ถัดมาคือ กลรักรุ่นพี่ Love Mechanics เป็นการจับจูบขณะเมา เพื่อให้อีกฝ่ายตัดใจจากคนที่ฝังใจอยู่ โดยซีรีส์เลือกเสนอให้ฝ่ายที่จับจูบมีแฟนเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ขณะที่ฝ่ายโดนจูบชัดเจนแต่แรกว่าชอบผู้ชาย ส่วนอีกสองเรื่องได้แก่ นิยามรัก So Much in Love และ The Cupid Coach โค้ชลับสลับรัก ที่ล้วนแต่เป็นการจับจูบเพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับและรู้ใจตัวเองเสียที

7 เรื่อง เริ่มต้นความใกล้ชิดจากการไม่ถูกชะตา

แม้ว่าพล็อตแบบนี้จะเป็นที่นิยมในซีรีส์ประเภทอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน แต่สำหรับซีรีส์วาย การไม่ถูกชะตากันมักจะนำไปสู่การยื่นหน้ามาใกล้กันให้ได้มากที่สุดเพื่อทุ่มเถียงหรือจ้องหน้าเพื่อเอาชนะกัน ขณะที่ในสายตาคนดูก็ถือเป็นโมเมนต์ชวนจิ้นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถนับเป็นโมเมนต์แบบ ‘แกมบังคับ’ ได้ด้วย

พล็อตแบบนี้ยังนำไปสู่การหยอกแกล้งกันแบบน่ารักๆ ในทำนองพ่อแง่แม่งอน ซึ่งมักจะมีฝ่ายหนึ่งที่ชอบอีกฝ่ายอยู่ก่อนแล้ว แต่แกล้งแสดงออกว่าไม่ถูกกันเพื่อจะหาทางใกล้ชิดกันเสียมากกว่า และมักนำไปสู่การจับแก้มหรือจับมือกัน โดยเรื่องที่เลือกใช้พล็อตลักษณะนี้ได้แก่ WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า?เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (SS1), วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอ TOSSARAกลรักรุ่นพี่ Love Mechanicsนิทานพันดาว 1,000 stars และ Brother รักนะน้องชาย รักนายครับผม 

ข้อสังเกตคือ ความเป็นคู่ชาย-ชายได้เอื้อประโยชน์ให้ซีรีส์วายส่วนใหญ่ผลิตฉากการสัมผัสเนื้อตัวเหล่านี้ ตั้งแต่แกล้งเล่นไปจนถึงการจับจูบหรือผลักลงเตียง ออกมาได้โดยไม่ต้องระมัดระวังเรื่อง sexual harassment มากเท่ากับซีรีส์ชาย-หญิง เช่นในเรื่อง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเกิดกับคู่ของเพศไหนก็นับเป็น sexual harassment ได้ไม่ต่างกัน ซึ่งเมื่อสังเกตจากคอมเมนต์แล้วพบว่าเกือบจะ 100% ของคอมเมนต์ไปเป็นไปในทางฟินและไม่มีการพูดถึงเรื่อง sexual harassment แต่อย่างใด (หมายเหตุ: สำรวจเฉพาะคอมเมนต์บนไลน์ทีวีเท่านั้น)

เกินครึ่งมีซีนใกล้ชิดและสกินชิปพร่ำเพรื่อ 

8 เรื่อง ตัวละครชายสัมผัสร่างกายกันโดยไม่จำเป็น 

เพื่อเสิร์ฟโมเมนต์ให้แฟนคลับ หลายครั้งการแตะเนื้อต้องตัวในซีรีส์วายจึงเกิดขึ้นในลักษณะจับยัด เช่นการให้ตัวละครนักฟุตบอลในทีมเดียวกันจับมือจับขากันขณะซ้อม (WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า?) หรือในเรื่อง วิศวะมีเกียร์น่ะเมียหมอ ที่เต็มไปด้วยการสัมผัสเนื้อตัวแบบไร้เหตุผล เช่นการที่บาร์ (วิศวะ) ไปนั่งตักทศกัณฐ์ (หมอ) เพราะโต๊ะในร้านเหล้ามีคนมาเพิ่มที่นั่งจึงเต็ม ขณะที่บอกว่า “กูไม่ได้อยากนั่ง แต่มันไม่มีที่นั่ง” หรือฉากที่บาร์พยายามห้ามไม่ให้ทศกัณฐ์พูดจีบตัวเองอีก ด้วยการใช้มือปิดปากในรูปแบบของการจับแก้ม เป็นต้น 

อีก 6 เรื่องที่เสิร์ฟโมเมนต์ลักษณะนี้ได้แก่ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, กลรักรุ่นพี่ Love Mechanics, นิยามรัก So Much in Love, The Cupid Coach โค้ชลับสลับรัก, Brother รักนะน้องชาย รักนายครับผม ในจำนวนนี้ยังรวมถึง นิทานพันดาว 1,000 stars ที่แม้ฉากอื่นๆ ในเรื่องจะใช้น้ำเสียงอบอุ่นและแทบไม่มีการสัมผัสกันอย่างพร่ำเพรื่อ แต่กลับตกม้าไปในฉากการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ก่อนที่จะรู้จักชื่อกันและกัน เธียร ก็เป็นลมล้มลงในอ้อมกอดของภูผาเสียอย่างนั้น

3 เรื่อง ขายฉากเซ็กส์เน้นๆ 

3 เรื่องนี้ได้แก่ TharnType the Series SS2, WHY R U the Series เพราะรักใช่เปล่า? และ นิยามรัก So Much in Love

ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดจากความนิยมของนักแสดงที่เคยถูกจดจำจากฉากเซ็กส์มาก่อน สำหรับ TharnType the Series SS2 เป็นการต่อยอดความนิยมของคู่จิ้น มิว-กลัฟ จากที่ซีซั่นหนึ่งลักหลับกันไปแล้ว ในซีซั่นนี้เซ็กส์ของทั้งคู่ถูกนำเสนออย่างเร่าร้อนและเต็มไปด้วยแพสชั่น ขณะที่ WHY R U the Series แม้จะเริ่มต้นจากการไม่ถูกกันแต่เมื่อยอมรับหัวใจตัวเองว่ารักกันแล้ว ติวเตอร์กับไฟท์เตอร์ก็เดินหน้ามีเซ็กส์กันอย่างหวือหวา โดยเป็นการต่อยอดความนิยมจากนักแสดง เซ้นต์—ศุภพงษ์ ที่เคยได้รับความนิยมล้นหลามจากผลงาน บังเอิญรัก​ Love by Chance และเป็นที่จดจำจากฉากเซ็กส์เช่นกัน (“ทำเถอะครับ เรามีโลชั่น” เป็นประโยคที่พูดโดยตัวละครของเซ้นต์นี่เอง) 

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ นิยามรัก So Much in Love ที่มีตัวละครหลายคู่หลายรูปแบบ (แต่ไม่ลงตัวเท่าใดนัก) คู่หนึ่งก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อเสนอฉากเซ็กส์แบบเผ็ดร้อนถึงขั้นซูมการใช้นิ้วเขี่ยหัวนมของอีกฝ่าย และแม้จะมีจำนวนคนดูไม่มากเท่าเรื่องอื่นๆ ที่ว่ามา แต่จากการสำรวจคอมเมนต์ในไลน์ทีวี แฟนคลับของเรื่องนี้ก็ออกอาการเขินและฟินกันไปตามระเบียบ

2 เรื่อง การสัมผัสของตัวละครสอดรับไปกับตัวเรื่องได้เป็นอย่างดี 

2 เรื่องนี้ได้แก่ แปลรักฉันด้วยใจเธอ และ ด้ายแดง Until We Meet Again

แปลรักฉันด้วยใจเธอ มีน้ำเสียงที่โดดเด่นออกมาจากเรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ด้วยการที่ให้ตัวละครได้ explore เพศสภาพและความสัมพันธ์ของตนเองกับอีกฝ่าย (และมีชาวเน็ตบางส่วนเรียกว่าซีรีส์เกย์แทนซีรีส์วายด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ไลน์ทีวีได้จัดหมวดหมู่ของเรื่องนี้ให้อยู่ในหมวดซีรีส์วาย) การสัมผัสเนื้อตัวกันในเรื่องจึงมีที่มาที่ไป และเมื่อซีรีส์ค่อยๆ เลี้ยงความสัมพันธ์ของเต๋และโอ้เอ๋วให้ค่อยๆ พัฒนา การสัมผัสที่เกิดขึ้นจึงมีความหมายต่อตัวเรื่องเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ ด้ายแดง Until We Meet Again แม้ตัวละครคู่เอกจะสัมผัสเนื้อตัวกันภายในเวลาอันสั้นไม่ได้เลี้ยงระยะเวลาแบบ แปลรักฉันฯ แต่ก็ยังคงไว้ด้วยความสมเหตุสมผล ซีรีส์ปูให้เห็นแต่แรกว่าทั้งคู่ดึงดูดกันด้วยความรู้สึกจากชาติก่อน และที่ขณะที่ซีรีส์ต้องการฉายภาพความ ‘โรแมนติก’ และ ‘รักบริสุทธิ์’ ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเมื่อถึงฉากที่ดีนเข้ามากอดภามและกำลังจะปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ ภามที่ไม่ได้ยินยอมเลือกผลักออกและบอกว่า “ทีหลังไม่เอาแบบนี้แล้วนะครับ” ซึ่งดีนเองยอมรับและบอกขอโทษ หากมองว่านี่คือการให้ความสำคัญกับ consent ก็นับว่าด้ายแดง นำเสนอประเด็นนี้ได้ลื่นไหลและละมุนละไมทีเดียว

บทสรุปและก้าวต่อไป 

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการสำรวจซีรีส์วายไทยเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่อยู่บนแพลตฟอร์มอื่นที่เราไม่ได้สำรวจ จึงไม่อาจเหมาได้ว่าซีรีส์วายไทยทั้งหมด ณ เวลานี้ตอบรับต่อสังคมที่พูดถึงประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมากน้อยแค่ไหน แต่ก็พบว่าซีรีส์วายไทยส่วนหนึ่งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดย 3 เรื่องที่โดดเด่นในกลุ่มที่เราได้สำรวจ ซึ่งได้แก่ แปลรักฉันด้วยใจเธอ, ด้ายแดง และ นิทานพันดาว ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมและได้รับคำชื่นชมจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงเวลาที่ออกอากาศอยู่ตลอด

และเมื่อพิจารณาร่วมกับซีรีส์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างเช่น นับสิบจะจูบ ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่หยิบเอาข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับซีรีส์วายมาขยี้อีกที่หนึ่ง ผ่านกระบวนการเขียนบทซีรีส์วายในตัวเรื่องที่ตัวละครนับสิบจะต้องพยายามแก้ปัญหาหรือให้คำอธิบายกับประเด็นเหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตเนื้อหาวาย (ส่วนใหญ่เป็นนิยายมาก่อนที่จะถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์) รับรู้และพยายามแสดงความตระหนักถึงปัญหาของเนื้อหาวายอยู่ไม่น้อยทีเดียว

แต่เมื่อดูภาพรวมแล้วยังคงพูดได้ว่าซีรีส์วาย เป็นจักรวาลของชายแท้รักชายแท้ มีซีรีส์วายกว่าครึ่งที่ยังคงชัดเจนในความเป็น ‘แฟนตาซี’ ยืนยันในความเป็นชายด้วยภาพสเตอริโอไทป์แบบเก่าๆ เช่น การเตะฟุตบอล การเรียนวิศวะ หรือการใช้สรรพนามแบบ กู-มึง-ไอ้สัส แต่ขณะเดียวกันในความเป็นชายแท้นั้นก็ยังต้องมีภาพของฝ่ายรุก-ฝ่ายรับที่ชัดเจน ผ่านการใช้สรรพนามผัว-เมีย และการใช้สูตรร่างสูง-ร่างบาง ในการนำเสนออยู่ 

และขณะที่สังคมกำลังให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และการต่อต้านค่านิยมล้าหลัง พบว่าอีกค่านิยมที่เด่นชัดในซีรีส์วายคือการเชิดชู SOTUS ซึ่งปรากฏชัดในซีรีส์วายที่มีฉากหลังเป็นสังคมมหาวิทยาลัย ทั้งยังกดทับตัวละครเพศอื่นเช่น การใช้ตัวละครตุ๊ดมาเป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นบุคลิกที่แตกต่างกับหนุ่มวาย หรือการให้ตัวละครฝ่ายหญิงคอยตามกรี๊ดหรือตามชงหนุ่มวาย เหล่านี้ยิ่งสะท้อนภาพของจักรวาลที่มีชายแท้ (หน้าตาดี) เป็นศูนย์กลางได้อย่างชัดเจน 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ซีรีส์วายบางเรื่องก็พยายามไม่วางตัวเป็น ‘แฟนตาซี’ โดยนอกจากจะระมัดระวังเรื่องประเด็นสังคมอย่างการใช้ความรุนแรง SOTUS หรือ sexual harassment ฯลฯ ยังมีบางส่วนที่พยายามให้คำอธิบายเกี่ยวกับเพศสภาพของตัวละครผ่านวิธีการต่างๆ และเลือกอธิบายว่าพวกเขาเป็นเกย์มากกว่าเป็นชายแท้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นมูฟเมนต์ที่น่าติดตามแม้จะยังเป็นส่วนน้อยอยู่มากก็ตาม

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-yseries/

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: