จับตา: สถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 7973 ครั้ง


สถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเล พบว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มไปในทิศทางที่เสื่อมลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์โดยรวมทั้งประเทศ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าธรรมชาติ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ชุมชน การประมง เป็นต้น | แฟ้มภาพ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเสนอรายงานเกี่ยวกับด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) รายงานฯ และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ปัจจัยขับเคลื่อน (Drivers) ประกอบด้วย การขับเคลื่อนจากนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เพิ่มหรือลดแรงกดดันที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และระดับประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก (Climate Change) และสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019              (โควิด-19) โดยประเทศไทยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. 2558 – 2564)

2. แรงกดดัน (Pressures) เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่ทะเลและ ชายฝั่ง โดยกิจกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ การใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำทิ้ง น้ำเสีย และขยะ จนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้น ส่วนกิจกรรมที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ การขนส่งและพาณิชย์นาวี เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล และนาเกลือ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

3. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง (States)

3.1 สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทรัพยากร

สถานภาพ

1. ปะการัง

- โดยภาพรวมของประเทศมีแนวปะการังทั้งสิ้นประมาณ 149,025 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับสถานภาพสมบูรณ์ดี - ดีมาก คือ ร้อยละ 37.2 และร้อยละ 32.9 ตามลำดับ

 - ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว พบปะการังเกิดการฟอกขาวระดับปานกลาง ในฝั่งอ่าวไทย (พบรุนแรงในบางพื้นที่เฉพาะที่เป็นแนวปะการังโผล่พ้นน้ำในช่วงเวลาน้ำลง) ส่วนฝั่งทะเลอันดามันเกิดปะการังฟอกขาวในระดับเล็กน้อย

2. หญ้าทะเล

มีรายงานพบหญ้าทะเลเนื้อที่รวม 104,778 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.5 ของพื้นที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล (159,829 ไร่) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ของเนื้อที่หญ้าทะเลที่รายงานไว้ในปี 2562 (90,397 ไร่)

3. สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ :

เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ

มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น เช่น พบการวางไข่ของเต่าตนุ เต่ากระ และเต่ามะเฟืองเพิ่มขึ้น โดยพบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ถึง 16 รัง พบโลมาและวาฬเพิ่มขึ้นเป็น 3,025 ตัว อย่างไรก็ตาม การเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเครื่องมือประมงและการกินขยะทะเล

4. ป่าชายเลน

มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพทั้งหมดประมาณ 1.73 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 2 แสนไร่ เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยช่วยในการสำรวจและเป็นผลมาจากนโยบายการทวงคืนผืนป่าและการฟื้นฟูป่าชายเลน

5. ป่าชายหาด

มีพื้นที่ป่าชายหาดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 40,233.64 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายหาดมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา รองลงมา คือ จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ ป่าชายหาดส่วนใหญ่ถูกทำลายและถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ก่อตั้งชุมชน ท่าเทียบเรือ สถานที่พักและสถานที่ท่องเที่ยว

6. ป่าพรุ

มีพื้นที่ป่าพรุอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 32,989.42 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่ 12 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าพรุมากที่สุด คือ จังหวัดสงขลา รองลงมา คือ จังหวัดนราธิวาส

 3.2 สถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

สิ่งแวดล้อม

สถานภาพ

1. คุณภาพน้ำทะเล

ดัชนีคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่ร้อยละ 71 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยไม่พบเสื่อมโทรมมาก แต่บางพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนมีสภาพเสื่อมโทรม เช่น ปากแม่น้ำระยอง (จังหวัดระยอง) ปากคลองตำหรุ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา (จังหวัดสมุทรปราการ) ชายฝั่งทะเลบ้านแหลม (จังหวัดเพชรบุรี) เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนและมีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น

2. น้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน

เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล (Oil spill) คราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันดิน (Tar balls) ตลอดแนวชายฝั่ง โดยพบน้ำมันรั่วไหลบริเวณฝั่งอ่าวไทย รวม 10 ครั้ง และพบก้อนน้ำมันดิน รวม 28 ครั้ง (ฝั่งอ่าวไทย จำนวน 26 ครั้ง และฝั่งอันดามัน จำนวน 2 ครั้ง) ซึ่งอาจเกิดจากการขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ รวมทั้งอุบัติเหตุต่าง ๆ

3. น้ำทะเลเปลี่ยนสี

พบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณชายฝั่งทะเล รวม 10 ครั้ง (ฝั่งอ่าวไทย จำนวน 9 ครั้ง และฝั่งอันดามันบริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 1 ครั้ง)

4. แมงกะพรุนพิษ

พบการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง โดยในปี 2563 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดระยอง และบาดเจ็บรุนแรง จำนวน 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดชุมพร

5. ขยะทะเล

บริเวณปากแม่น้ำในหลายพื้นที่ เช่น บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง พบปริมาณขยะลอยน้ำเพิ่มมากกว่าในช่วงปี 2562 เนื่องด้วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการขอความร่วมมือให้ประชาชนจำกัดการเดินทาง รวมถึงเน้นการทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นด้วย

3.3 สถานการณ์ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ในปี 2562 ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาถูกกัดเซาะระยะทาง 794.37 กิโลเมตร โดยมีสาเหตุจากการทำลายแนวป้องกันตามธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน หาดทราย และแนวปะการัง การกัดเซาะจากการรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติ เช่น การก่อสร้างที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัดพาของตะกอนหรือ การเคลื่อนที่ของคลื่น เป็นต้น

4. สถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของ 24 จังหวัดชายทะเล พบว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มไปในทิศทางที่เสื่อมลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์โดยรวมทั้งประเทศ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าธรรมชาติ เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ชุมชน การประมง เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ขยะ ตะกอนในทะเล และการสูญเสียระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากความพยายามของภาครัฐที่จะมุ่งพัฒนาให้เกิดความกินดีอยู่ดีมีสุขของคนในชาติ ผ่านทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัดภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

5. ผลการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างปี 2562-2563 เช่น การปลูกเสริมปะการัง จำนวน 860,384 กิ่ง/โคโลนี เป็นพื้นที่ 537.74 ไร่ การก่อสร้างศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดภูเก็ต การติดตั้งทุ่นดักขยะ จำนวน 26 จุด การปลูกฟื้นฟูป่าชายเลน เนื้อที่ 5,319 ไร่ การจัดทำโครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” การติดตามการฟื้นตัวและการจัดการแนวปะการังภายหลังปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล การจัดทำ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562)

6. การตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในทางนโยบายและกฎหมาย ดังนี้

6.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (ระยะสั้น 1 ปี) เช่น

1) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2) ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดัชนีสุขภาพมหาสมุทร (Ocean health Index หรือ OHI) เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

3) ขับเคลื่อนการกำหนดเขตพื้นที่ทางทะเลในระดับชาติและพื้นที่นำร่องให้มีความก้าวหน้า

4) ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่

6.2 มาตรการและแผนงานจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ระยะยาว 3 ปี) เช่น

มาตรการ

แผนงาน

1) สร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร

ศึกษาวิจัย ติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร รวมถึงประเมินผลการฟื้นฟูระบบนิเวศ และจัดทำสื่อ

2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจ

จัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility: CSR) และจัดทำข้อตกลงชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

3) อนุรักษ์และเฝ้าตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ตรวจตรา เฝ้าระวังเชิงพื้นที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำแนวเขตพื้นที่ จัดทำปะการังเทียม และกำหนดเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

7. ปัญหาในระดับประเทศที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน และข้อเสนอแนะแนวทางและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้

7.1 ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหา เช่น

1) การจัดการพื้นที่ชายฝั่งที่ยังคงอยู่ในสภาพสมดุลหรือเสี่ยงต่อความเสียหาย โดยออกมาตรการควบคุมโครงการ กิจกรรม หรือสิ่งก่อสร้างที่มีความล่อแหลม และเป็นอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง

2) ฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาพื้นที่วิกฤติเร่งด่วนและวิกฤติปานกลาง โดยประเมินโครงการและผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลเพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

3) ปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชายฝั่ง โดยกำหนดเขตการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศให้ชัดเจน รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

7.2 ปัญหาการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายาก ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหา เช่น

1) การคุ้มครองและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของสัตว์ทะเลหายาก โดยการลาดตระเวนเชิงคุณภาพและอบรมการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก

2) ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก

3) สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความตระหนักในด้านการจัดการขยะทะเล การทำประมงอย่างรับผิดชอบ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: