ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปลี่ยน “หญิงชาวบ้านแม่มอก” อ.เถิน จ.ลำปาง เป็น “ต้นแบบชุมชนนักบริบาลผู้สูงอายุ” สร้างรายได้กว่า 6 ล้านบาทต่อปี
เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า น.ส.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ ร้อยละ 18 ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ และภาควิจัย ได้เตรียมพร้อมด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การวิจัย ครอบคลุมในหลายมิติ โดยเฉพาะเชิงสาธารณสุขรับมือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะสัดส่วนโครงสร้างผู้สูงอายุที่สูงขั้น เป็น ร้อยละ 20 ในปี 2565 ซึ่งโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย วช. ได้ขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60-70 ปี ที่ยังมีความรู้ความสามารถ ในการพัฒนาให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ โดยในปี 2564-2565 จะมีผู้สูงวัยเข้าร่วมแผนและโครงการประมาณ 8-10 เรื่อง ประมาณ 60,000 คน และก้าวสู่ 100,000 คน ในปี 2566 โดยผู้สูงวัยที่เข้าร่วมสามารถเป็นได้ทั้งผู้เรียน และผู้สอนในคราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่ม และสานต่อความรู้ เป็น Platform ผู้สูงวัยที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับ แผนงานพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสากิจเพื่อสังคมด้านการบริบาลผู้สูงอายุ จนเกิดเป็น “แม่มอกโมเดล”
ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยเรื่อง “แผนงานพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบ สู่วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ร่วมกันศึกษาและพัฒนา “ชุมชนนักบริบาลผู้สูงอายุต้นแบบ ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง” ที่เกิดจากการรวมกันของประชาชนในพื้นที่เป็นภาคประชาสังคมแบบไทย สร้างโอกาสด้วยการระดมทุนกันเองโดยไม่พึ่งรัฐ สร้างวิชาชีพ “นักบริบาลผู้สูงอายุ” ให้มีอาชีพเสริมจากอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้ชื่อ “ชมรมแม่มอกหลั่นล้าอีโคโนมี” จนได้รับความช่วยเหลือ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การดูแลผู้สูงอายุ 80 และ 420 ชั่วโมง” โดยผลการวิจัยสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต่อระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของนักบริบาลผู้สูงอายุและวิสาหกิจชุมชน อย่างชัดเจน คือ นักบริบาลผู้สูงอายุมีรายได้รวมกันต่อปี จาก 843,000 บาทในปี 2561 เป็น 3,372,000 ในปี 2562 เป็น 4,215,000 บาท ใน ปี 2563 และ 6,323,272 บาท ในปี 2564 วิสาหกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ในช่วง 3 เดือนแรกของการออกให้บริการของนักบริบาล 42,150 บาท เป็น 168,600 บาท ในปี 2562 และ 190,195 บาท ในปี 2563 จนมีรายได้ 524,000 บาท ในปี 2564 โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ
ซึ่ง “แผนการวิจัย การพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชน ด้านการบริบาลผู้สูงอายุ” ยังสร้าง “ชุมชนนักวิจัย” ที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมของไทย ที่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย สามารถพัฒนาเป็นนักวิจัยร่วมตลอดกระบวนการวิจัยร่วมกับภาควิชาการ ภาครัฐได้ เป็นการพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านวิสาหกิจชุมชนนักบริบาลผู้สูงอายุของประเทศ เป็นนวัตกรรมสังคมที่พัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลและมาตรการทางสังคมสู่ทางเลือกในการรองรับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ