ส่งออกชายแดน-ผ่านแดน ม.ค.-ก.ย. 2564 ยอด 778,367 ล้านบาท เพิ่ม 38.06%

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2203 ครั้ง

ส่งออกชายแดน-ผ่านแดน ม.ค.-ก.ย. 2564 ยอด 778,367 ล้านบาท เพิ่ม 38.06%

กระทรวงพาณิชย์โชว์ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน ก.ย. 2564 ส่งออกทำรายได้เข้าประเทศ 96,184 ล้านบาท เพิ่ม 38.32% ยอดรวม 9 เดือน ( ม.ค.-ก.ย. 2564) ทำได้ 778,367 ล้านบาท เพิ่ม 38.06% คิดเป็นสัดส่วน 98.63% ของเป้าทั้งปี เผยส่งออกขยายตัวทุกประเทศ ยกเว้นเวียดนาม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 | ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

Commerce News Agency รายงานเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนก.ย.2564 มีมูลค่ารวม 157,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.3% เป็นการส่งออก มูลค่า 96,184 ล้านบาท เพิ่ม 38.32% และนำเข้า มูลค่า 60,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% และยอดรวมการค้า 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 1,275,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.67% เป็นการส่งออก มูลค่า 778,367 ล้านบาท เพิ่ม 38.06% และนำเข้า มูลค่า 497,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.78%

ทั้งนี้ เป้าหมายการค้าชายแดนและผ่านแดนในปี 2564 ตั้งเป้าขยายตัว 3% ต้องทำตัวเลขการส่งออกให้ได้ 789,198 ล้านบาท แต่ผ่านมา 9 เดือน ทำไปแล้ว 778,367 ล้านบาท ขาดอีกนิดเดียว ก็จะครบตามเป้าหมาย คิดเป็น 98.63% ของเป้าหมาย ยังเหลืออีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะเกินเป้าหมายที่ 3% แน่นอน

สำหรับรายละเอียดการส่งออกแต่ละประเทศในเดือนก.ย.2564 เมียนมามีมูลค่า 13,387 ล้านบาท เพิ่ม 102.06% มาเลเซีย มูลค่า 16,710 ล้านบาท เพิ่ม 42.59% กัมพูชา มูลค่า 13,171 ล้านบาท เพิ่ม 25.69% สปป.ลาว มูลค่า 9,916 ล้านบาท เพิ่ม 22% สิงคโปร์ ส่งข้ามแดน มูลค่า 5,988 ล้านบาท เพิ่ม 83.81% จีน มูลค่า 15,335 ล้านบาท เพิ่ม 26.37% และเวียดนาม มูลค่า 3,181 ล้านบาท ติดลบ 30.79%

“การส่งออกไปเมียนมา แม้การเมืองภายในยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ความต้องการสินค้าจากไทยยังสูงมาก มาเลเซีย ดีขึ้น ภาคการผลิตกลับมาฟื้นตัว และมีความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น ส่วนจีน ตัวเลขยังเป็นบวก เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวมากขึ้น ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 66% ยางพารา เพิ่ม 101% และไม้แปรรูป เพิ่ม 52% เป็นต้น คาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2564 จะขยายตัวถึง 8.1% จะยิ่งช่วยให้ส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุที่เวียดนามเป็นลบ เพราะในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลเข้มงวด ประกอบกับคำสั่งล็อกดาวน์ในนครโฮจิมินห์ ทำให้การส่งสินค้าไทยข้ามแดนไปเวียดนามมีอุปสรรค”นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้การค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนก.ย.2564 เพิ่มสูงขึ้น มาจากการทำงานร่วมกันของกระทรวงพาณิชย์กับเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์. ที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีการดำเนินการโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ช่วยให้ SMEs ส่งออกมีเงินทุนหมุนเวียน ได้อนุมัติไปแล้วถึง 2,500 ล้านบาท และมีผลในเดือนก.ย.ด้วย และค่าเงินบาทของไทยยังคงอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาแข่งขันได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน มีการทำงานเชิงรุกระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เร่งเจรจาเวลามีปัญหาตรงด่านชายแดน ช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่าสินค้าที่ส่งผ่านไปในจีนผ่านด่านต่าง ๆ ได้ มีการเจรจาจนกระทั่งมีการเปิดด่านเพิ่มขึ้นจาก 9 ด่านเป็น 16 ด่าน (ด่านส่งออกนำเข้าผลไม้ไปจีนทางบก) โดยไทยเพิ่มจาก 5 ด่านเป็น 6 ด่าน คือ เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด และบึงกาฬ อีก 1 ด่าน คือ จังหวัดหนองคาย ส่วนฝั่งจีนเพิ่มจุดนำเข้าที่ด่านจาก 4 ด่านเป็น 10 ด่าน เดิม 4 ด่าน คือ โมฮาน โหย่วอี้กวน ตงซิง และผิงเสียง เพิ่มอีก 6 ด่าน คือ ด่านรถไฟโมฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว เทียนเป่า หลงปังและสุยโข่ว ส่วนด่านไทย-มาเลเซีย ได้เดินทางไปประชุมกับด่านตากใบและบูเก๊ะตา ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งไทยประสงค์จะเห็นการเปิดด่าน 2 ด่านนี้โดยเร็ว เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า ตั้งเป้ากลางเดือนพ.ย.2564 นี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ที่หมดอายุโครงการวันที่ 7 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับ SMEs ต่อไป จะได้ช่วยกันส่งเสริมตัวเลขการค้าชายแดนและข้ามแดนได้มากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: