สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 11-17 ก.ค. 2021 ณ วันที่ 17 ก.ค. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 190,296,856 คน เสียชีวิต 4,091,909 คน รักษาหาย 173,492,206 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 391,989 คน รักษาหาย 278,184 คน เสียชีวิต 3,240 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 14,130,489 โดส
11 ก.ค. 2021
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 9,539 ราย ป่วยสะสม 336,371 ราย รักษาหาย 4,053 ราย หายสะสม 247,971 ราย เสียชีวิต 86 ราย เสียชีวิตสะสม 2,711 ราย ผู้รับวัคซีนสะสม 12,469,188 โดส
- รมว.สาธารณสุข จะพิจารณาปลดล็อก Rapid Antigen Test ชุดตรวจ COVID-19 หลังจากที่ กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว
- อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงตั้งแต่ 1 เม.ย. - 10 ก.ค. 2564 บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ COVID-19 รวม 880 ราย เสียชีวิต 7 ราย ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วยังป่วย 618 ราย บุคลากรหญิงติดเชื้อสูงสุด 54% เป็น 'พยาบาล-ผู้ช่วยพยาบาล'
- กรมศุลกากร ปฏิเสธข่าวลือในโลกออนไลน์ กรณีรัฐเก็บภาษีนำเข้า "โมเดอร์นา" กว่า 100% เพราะวัคซีนเป็นสินค้ายกเว้นภาษีนำเข้าอยู่แล้ว ยืนยันเก็บเพียง VAT 7% จากผู้นำเข้า
- บรรดาผู้เชี่ยวชาญในยุโรป ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 สองสายพันธุ์ในเวลาเดียวกันว่า มีความเป็นไปได้สูงและกำลังตรวจพบกรณีเช่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังหญิงชราวัย 90 ปี ในเบลเยียมเสียชีวิตลงด้วยเชื้อกลายพันธุ์ทั้งชนิดอัลฟาและเบตาอยู่ในร่างกาย
- จีน กระทรวงการต่างประเทศของจีนเปิดเผยว่าจีนได้จัดสรรวัคซีน COVID-19 จำนวน 500 ล้านโดส ให้กับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่ง คิดเป็น 1 ใน 6 ของการผลิตวัคซีน COVID-19 ในปัจจุบัน
- เวียดนาม สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงฮานอย แถลงเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2021 ว่าเวียดนามได้รับวัคซีน COVID-19 ของ Moderna ชุดแรกจำนวน 2 ล้านโดส ที่บริจาคให้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านโครงการ “COVAX” แล้ว ขณะที่เวียดนามกำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิดที่เลวร้ายที่สุด
- อิสราเอล จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสที่ 3 ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง อย่างคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ แม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และกำลังพิจารณาการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 กับประชาชนทุกคน
- สิงคโปร์ เข้มงวดมาตรการเข้าประเทศกับผู้เดินทางมาจากอินโดนีเซียที่สถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 กำลังระบาดรุนแรง
- ญี่ปุ่น จะเริ่มรับคำขอทำวัคซีนพาสปอร์ตของผู้ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2021 เพื่อให้สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้
12 ก.ค. 2021
สปสช.-สปคม.-ม.มหิดล ร่วมเปิดตรวจ COVID-19 เชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test รู้ผลใน 30 นาที เป็นวันแรก มีประชาชนแห่เข้าคิวรอตรวจจำนวนมาก | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 8,656 ราย ป่วยสะสม 345,027 ราย รักษาหาย 3,687 ราย หายสะสม 251,658 ราย เสียชีวิต 80 ราย เสียชีวิตสะสม 2,791 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 11 ก.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 12,569,213 โดส
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดรายชื่อ 24 บริษัท ที่โด้รับการอนุญาตให้ผลิต/นำเข้า "Rapid Antigen Test" หรือชุดทดสอบแบบรวดเร็ว ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
- มติที่ประชุม คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ ให้มีการบูสเตอร์โดส วัคซีนเข็ม 3 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยระยะห่างระหว่างเข็ม 2 และ เข็ม 3 อยู่ที่ 3-4 สัปดาห์ ตอนนี้มีบุคลากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และสามารถฉีดกระตุ้นได้ทันที (13 ก.ค. 2564) อาจใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์ ดูตามความเหมาะสม
- เปิดผลการวิจัยกลุ่มผู้ฉีดวัคซีน Sinovac โดยคณะแพทย์ธรรมศาสตร์กับทีมวิจัย BIOTEC สวทช. ร่วมกันทำวิจัยผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม 500 ตัวอย่าง เพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน พบผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม จะมีค่าลดลงร้อยละ 50 ทุก ๆ 40 วัน แนะฉีด AstraZeneca บูทภายใน 3 เดือน
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวถึงแนวทางการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่าได้ทำการตรวจค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง พบเชื้อ COVID-19 ทีเดียว 2 สายพันธุ์ (Suspected Mix infection) ต่อผู้ติดเชื้อ 1 ราย คือ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) โดยพบทั้งสิ้น 7 ราย สำหรับการตรวจค้นหาเชิงรุกจากแคมป์ก่อสร้างดังกล่าวทั้งสิ้น 1,737 ราย พบติดเชื้อ 242 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า 53 ราย และสายพันธุ์อัลฟ่า 168 ราย และสายพันธุ์เดลต้าผสมอัลฟ่า 7 ราย ไม่พบเชื้อ 180 ราย และไม่มีข้อมูล 230 ราย
- กองทัพอากาศ เผยทหารเกณฑ์ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 290 คน จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกทั้งหมด 718 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ยืนยันดูแลเป็นอย่างดีและเข้ารักษาตามขั้นตอนที่ สธ.กำหนด
- สปสช.-สปคม.-ม.มหิดล ร่วมเปิดตรวจ COVID-19 เชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test รู้ผลใน 30 นาที เป็นวันแรก มีประชาชนแห่เข้าคิวรอตรวจจำนวนมาก
- ญี่ปุ่น กรุงโตเกียวเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 ร้านอาหารและบาร์ถูกร้องขอไม่ให้ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการป้องกันการติดเชื้อ - บรรดานักวิจัยประมาณการว่ากว่าร้อยละ 30 ของกรณีติดเชื้อ COVID-19 ในกรุงโตเกียวและปริมณฑลเป็นการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดเดลตาซึ่งเป็นชนิดที่แรงติดต่อไปยังผู้อื่นได้ง่ายมาก
- เวียดนาม พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 1,953 คน ณ วันที่ 11 ก.ค. 2021 ถือเป็นวันที่เจ็ดติดต่อกันที่พบยอดผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 รายวันมากกว่า 1,000 คน และเพิ่มขึ้นจากวันที่ 10 ก.ค. 2021 ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ 1,853 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 29,800 คน และผู้เสียชีวิต 116 คน ทั้งนี้เวียดนามพบผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรค COVID-19 ของประเทศในตอนนี้
- ไต้หวัน ฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ประชากรแล้วร้อยละ 14 ขณะที่บริษัทใหญ่ของไต้หวัน 2 แห่งบรรลุข้อตกลงซื้อวัคซีนของไบโอเอนเทคแล้ว 10 ล้านโดสเพื่อบริจาคให้รัฐบาลนำไปฉีดให้ประชาชน
- อินโดนีเซีย บริษัทเวชภัณฑ์ของทางการอินโดนีเซียประกาศระงับแผนจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ของซิโนฟาร์มให้แก่สาธารณชนโดยตรง หลังผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายรายมองว่าแผนการขายวัคซีนดังกล่าวอาจมองข้ามกลุ่มเปราะบางในอินโดนีเซียที่ทางการสัญญาว่าจะให้ทุกคนฉีดวัคซีนฟรี
- ฟิลิปปินส์ ผลสำรวจระบุว่าชาวฟิลิปปินส์ต้องการฉีดวัคซีน COVID-19 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ในเดือน มิ.ย. 2021 เนื่องจากประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวความปลอดภัยของวัคซีนน้อยลง
- คิวบา ประชาชนชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี เรียกร้อง "อิสรภาพ" และขับไล่ประธานาธิบดีมิเกล ดิอาซ-กาเนล ด้วยความไม่พอใจกับแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและการรับมือกับโรค COVID-19 ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็นสถิติใหม่เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2021 จำนวน 6,923 ราย เสียชีวิตอีก 47 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 เท่า ยอดติดเชื้อสะสมของคิวบาเพิ่มเป็น 238,491 ราย เสียชีวิต 1,537 ราย
13 ก.ค. 2021
หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนถึงอันตรายจากการที่ประเทศต่าง ๆ ออกนโยบายฉีดวัคซีน COVID-19 แบบผสมสูตร ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก จนไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง | ที่มาภาพ: Clinical Trials Arena
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 8,685 ราย ป่วยสะสม 353,712 ราย รักษาหาย 3,797 ราย หายสะสม 255,455 ราย เสียชีวิต 56 ราย เสียชีวิตสะสม 2,847 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 12 ก.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 12,908,193 โดส
- ครม. อนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากล็อคดาวน์ 10 จังหวัด ชดเชยค่าจ้างรวม 9 สาขาอาชีพ ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 2 เดือน รวมวงเงิน 42,000 ล้านบาท
- กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตในบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว โดยวัคซีนที่ฉีดเกือบทั้งหมดเป็น Sinovac 2 เข็ม มีส่วนน้อยที่เป็น AstraZeneca 1 เข็ม ทั้งนี้ไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ 721,000 คน ฉีดวัคซีน 700,000 คน ติดเชื้อ 707 คน คิดเป็น 10 คนต่อหมื่น ส่วนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน 21,000 คน ติดเชื้อ 173 คน คิดเป็น 82 คนต่อหมื่นสรุปได้ว่าผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนติดเชื้อมากกว่าผู้ฉีดวัคซีน 8 เท่า ส่วนกรณีเสียชีวิตพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนเสียชีวิตมากกว่าผู้ฉีดวัคซีน 10 เท่า
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แจงการฉีดวัคซีนสลับชนิดมีความปลอดภัย หลังมีการศึกษาใน 4 มหาวิทยาลัยและในต่างประเทศ ส่วนบูสเตอร์เข็ม 3 WHO ยังไม่ได้แนะนำ ให้เป็นดุลยพินิจของแต่ละประเทศ แต่หนุนสมควรฉีดให้บุคลากรด่านหน้า
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนใช้ชุดตรวจ COVID-19 หรือ Antigen test self-test kits ด้วยตนเอง ขายทั้งในโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยาแผนปัจจุบัน
- รัฐบาลเผย ยา 'ฟาวิพิราเวียร์' วิจัยและพัฒนาในประเทศ เตรียมขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย.ในเดือน ก.ค.นี้ ขณะที่รัฐบาลและเอกชนจับมือต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ลดนำเข้าจากต่างประเทศ
- ความคืบหน้าโครงการ Phuket Sandbox ตลอดระยะเวลา 12 วัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 4,568 คน พบมีเชื้อ COVID-19 จำนวน 6 คน ซึ่งทั้งหมดเชื่อว่าติดเชื้อมาจากต้นทาง และยังไม่พบกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจพบเชื้อแต่อย่างใด
- หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนถึงอันตรายจากการที่ประเทศต่าง ๆ ออกนโยบายฉีดวัคซีน COVID-19 แบบผสมสูตร ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก จนไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ด้านผู้อำนวยการ WHO ชี้ประเทศร่ำรวยไม่ควรเร่งสั่งจองวัคซีนฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ในขณะที่ทั่วโลกยังคงขาดแคลนวัคซีนเข็มแรก
- สหรัฐฯ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เตือนว่าวัคซีน COVID-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันหรือเจแอนด์เจ (J&J) เสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติในระบบประสาทแบบหายาก หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 สัปดาห์ แต่มีโอกาสต่ำมากที่จะเกิดอาการกิลแลง-บาร์เรหรือจีบีเอส (GBS) ซึ่งเป็นโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ทำให้กล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนแรงเฉียบพลันทั้งสองข้างหลังฉีดวัคซีน แต่ผู้ฉีดควรพบแพทย์หากมีอาการ เช่น อ่อนแรง เสียวแปลบปลาบ มีปัญหาในการเดินหรือขยับใบหน้า ปัจจุบันคนในสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนของ J&J ไปแล้ว 12.8 ล้านคน มีรายงานเบื้องต้นว่า มีผู้เกิดอาการ GBS 100 คน ในจำนวนนี้ 95 คน อาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 1 คน
- แอฟริกาใต้ ขยายมาตรการควบคุมต่อไปอีก 14 วัน รวมถึงบังคับใช้เคอร์ฟิวและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เกาหลีใต้ ห้ามการรวมตัวกันตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไปในกรุงโซลหลัง 18.00 น.
- อาร์เจนตินา เปิดเผยตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทซิโนฟาร์มของจีน ว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตจาก COVID-19 สูงถึง 84% หลังฉีดครบ 2 โดส
- ฝรั่งเศส ประกาศกฎเหล็ก-บังคับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฉีดวัคซีนภายใน 15 ก.ย. 2021 ฝ่าฝืน 'ห้ามทำงาน-ไม่ได้เงินเดือน'
- มาเลเซีย พบผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่ 11,079 คน ทำสถิติยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวันทะลุหลักหมื่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พบการระบาดในประเทศ - ต้องปิดศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ในรัฐสลังงอร์ หลังจากบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครมีผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกกว่า 200 คน
14 ก.ค. 2021
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 9,317 ราย ป่วยสะสม 363,029 ราย รักษาหาย 5,129 ราย หายสะสม 260,584 ราย เสียชีวิต 87 ราย เสียชีวิตสะสม 2,934 ราย ผู้รับวัคซีน (ถึง 13 ก.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 13,230,681 โดส
- โฆษกรัฐบาล เผยนายกรัฐมนตรีไม่ระงับการใช้วัคซีน “ผสมสูตร” แต่ขอให้เน้นฉีดให้มากคนก่อน ขอให้รับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
- สปสช.จับมือชมรมแพทย์ชนบท ระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดลุยตรวจเชิงรุก COVID-19 กว่า 30 ชุมชนใน กทม. ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค. 2564 นี้ คาดตรวจได้ประมาณ 20,000-30,000 ราย
- นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าการยุติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จำเป็นต้องใช้วัคซีน 1.1 หมื่นล้านโดสเพื่อฉีดให้ครอบคลุมประชากรโลก 70%
- หัวหน้าคณะวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ โดยระบุว่าประชาชนไม่ควรฉีดวัคซีนสลับชนิด (Mix And Match Vaccine) จากผู้ผลิตต่างกันด้วยตนเอง และการตัดสินใจดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข
- ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียใช้เทคโนโลยี CRISPR ตัดต่อยีนเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส (SARS-CoV-2) ในเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อได้สำเร็จ นำไปสู่ยารักษา COVID-19 อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยี CRISPR มาใช้กับยาที่มีอยู่ทั่วไปอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่ถึงอย่างนั้นวิธีดังกล่าวก็มีประโยชน์ในการจัดการกับ COVID-19 ยารักษานี้จะเป็นยาต้านไวรัสง่าย ๆ โดยการรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยสามารถได้รับทันทีที่ทราบว่าติด COVID-19 เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยหนัก และลดความกดดันให้กับโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข
- ฝรั่งเศส เตรียมบังคับให้ผู้เข้าใช้บริการร้านอาหาร คาเฟ่ หรือห้างสรรพสินค้าฉีดวัคซีนครบหรือแสดงผลตรวจเชื้อเป็นลบ
- กรีซ เตรียมบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต้องฉีดวัคซีนเริ่ม ก.ย. 2021 เป็นต้นไป
- ญี่ปุ่น จะบริจาควัคซีน COVID-19 ของแอสตราเซเนกาจำนวน 3 ล้านโดสให้ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม
- เกาหลีใต้ ช่วงหลายสัปดาห์มานี้ฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ประชาชนได้เพียง 30,000 โดสต่อวันเท่านั้น จากระดับสูงสุดที่เคยฉีดได้ 850,000 โดสต่อวัน นอกจากนี้แผนฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มอายุ 55-59 ปี ต้องเลื่อนออกไปหนึ่งสัปดาห์ หลังจากการระบาดระลอกใหม่ทำให้คนแห่จองฉีดวัคซีนจนเว็บไซต์ของรัฐบาลล่ม นอกจากนี้ยังยกระดับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวดขึ้นเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อควบคุมการระบาดหลังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ 1,615 คน
- เปรู กลุ่มแพทย์ออกมาเรียกร้องขอให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุมกัน หลังแพทย์ 14 คนต้องเสียชีวิตจากการติด COVID-19 หลังรับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม
- ออสเตรเลีย ขยายมาตรการล็อกดาวน์ในนครซิดนีย์ในวันนี้ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วัน (ถึง 30 ก.ค. 2021) หลังจากการล็อกดาวน์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุ่ดของออสเตรเลียได้
- อังกฤษ นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ระบุว่าการสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเมื่อใช้เครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะในกรุงลอนดอนหลังวันที่ 19 ก.ค. 2021 ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษ เริ่มยกเลิกข้อกำหนดเกือบทั้งหมดที่ใช้ในการควบคุมการระบาดของ COVID-19
- ญี่ปุ่น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่โรงแรมที่พักที่มีนักกีฬาโอลิมปิกของบราซิลพักอยู่หลายสิบคน ทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลใหม่เกี่ยวกับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก
- กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 54,517 ราย ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดในปี 2020 แล้ว ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,670,046 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
- กัมพูชา จะปิดพรมแดนที่ติดต่อกับเวียดนามเป็นเวลา 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2021 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
15 ก.ค. 2021
จ.สุราษฎร์ธานี เปิดโครงการ “สมุยพลัสโมเดล” นำร่องเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ยืนยันมาตรการควบคุม COVID-19 เข้มข้น | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 9,186 ราย ป่วยสะสม 372,215 ราย รักษาหาย 5,543 ราย หายสะสม 266,127 ราย เสียชีวิต 98 ราย (สถิติเสียชีวิตรายวันสูงสุด) เสียชีวิตสะสม 3,032 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 14 ก.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 13,533,717 โดส
- กทม.เปิดให้บริการศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ รองรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่แสดงอาการ เริ่มต้น 9 แห่ง เร่งทยอยเปิดตั้งเป้าอย่างน้อย 20 แห่ง
- สธ. ประกาศปลดล็อก รพ.เอกชน-คลินิก สามารถดำเนินการให้ผู้ป่วย COVID-19 กักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
- 10 คณบดีคณะแพทย์หนุน มติ คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ทั้งฉีดวัคซีนไขว้สลับชนิด เข็ม 1 ซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตราฯ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น คุมโควิดสายพันธุ์เดลตา หลังพบมีอัตราการแพร่ระบาดกว่า ร้อยละ 69 แล้ว และเดินหน้าฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในหมอพยาบาล ไม่เกี่ยงเป็นไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA โดยเข็ม 3 นี้ห่างจากการรับเข็ม 2 ที่ซิโนแวค 4 สัปดาห์
- จ.สุราษฎร์ธานี เปิดโครงการ “สมุยพลัสโมเดล” นำร่องเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ยืนยันมาตรการควบคุม COVID-19 เข้มข้น
- สภากาชาดไทย เจรจาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 1 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนฟรี โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในขั้นตอนเซ็นสัญญาและนำเข้า
- ไบโอเอนเทค บริษัทเวชภัณฑ์ของเยอรมนี เผยว่าบริษัทไม่ได้เจรจาเรื่องวัคซีน COVID-19 ของไบโอเอนเทคกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขณะที่ไฟเซอร์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐฯ ระบุว่าบริษัทกำลังเจรจาเรื่องวัคซีนกับรัฐบาลไทยเท่านั้น
- อินโดนีเซีย จะฉีดวัคซีน COVID-19 เพิ่มเป็นเข็มที่ 3 ให้แก่แพทย์พยาบาลทั่วประเทศกว่า 1.4 ล้านคน โดยจะใช้วัคซีนของ Moderna กว่า 3 ล้านโดส หลังแพทย์พยาบาลยังคงเสียชีวิต แม้ได้รับวัคซีนครบโดส 2 เข็มแล้ว - ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย ระบุว่าอินโดนีเซียกลายเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเอเชีย
- สิงคโปร์ พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 56 คน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2021 สูงสุดในรอบ 10 เดือน โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อมากถึง 42 คนที่เชื่อมโยงกับการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่ร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง
- ญี่ปุ่น คณะผู้จัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกเผยว่าพบนักกีฬาโอลิมปิกต่างชาติคนหนึ่งที่อยู่ในญี่ปุ่นมีผลตรวจหาเชื้อ COVID-19 เป็นบวก
- มาเลเซีย ประกาศหยุดใช้วัคซีน COVID-19 เชื้อตายของซิโนแวค หากวัคซีนซิโนแวคที่ได้มา 16 ล้านโดสใช้หมดไป โดยจะไม่สั่งเพิ่ม
- อาร์เจนตินา เป็นประเทศที่ 5 ของลาตินอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เกิน 100,000 ราย
16 ก.ค. 2021
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 9,692 ราย (สถิติติดเชื้อรายวันสูงสุด) ป่วยสะสม 381,907 ราย รักษาหาย 5,730 ราย หายสะสม 271,857 ราย เสียชีวิต 67 ราย เสียชีวิตสะสม 3,099 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 15 ก.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 13,823,355 โดส
- สภากาชาดไทย คาดได้รับวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยมีแผนฉีดให้บุคลากรทางแพทย์ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐ และ อบจ. ขอรับการจัดสรรได้ แต่ต้องฉีดให้กลุ่มเป้าหมายฟรี
- ศบค. ไฟเขียวฉีดวัคซีน COVID-19 ผสมสูตร “ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา” พร้อมให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์
- สมาคม รพ.เอกชน เตรียมสำรวจความต้องการสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นารุ่น 2 กระตุ้นภูมิ ป้องกัน COVID-19 กลายพันธุ์ปี 2565
- ยารักษาโรค COVID-19 "ฟาวิพิราเวียร์" ที่องค์การเภสัชกรรมของไทย วิจัย พัฒนา และผลิตขึ้นเอง โดยมีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลเทียบเท่ากับยาต้นแบบ และได้รับทะเบียนจาก อย. แล้ว ใช้ชื่อว่า "ฟาเวียร์" ขนาด 22 มิลลิกรัมต่อเม็ด คาดว่าต้นเดือน ส.ค. 2564 จะกระจายเข้าสู่ระบบการรักษาผู้ป่วยได้ โดยระยะแรกผลิตได้ 2 ล้านเม็ดต่อเดือน และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการสืบสวนที่มาของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในจีนถูกปิดกั้น เนื่องจากขาดข้อมูลดิบในช่วงแรกของการระบาด และเรียกร้องความโปร่งใสที่มากขึ้นจากจีนในการสืบที่มาของโรค
- สหภาพยุโรป (EU) ปลดไทยออกจากบัญชี 1 ประเทศเดินทางปลอดภัยพร้อมกับรวันดา โดยกลุ่มประเทศประเทศที่มีความปลอดภัย (EU White List) นั้นจะต้องเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่เกิน 75 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในช่วง 14 วัน สำหรับบัญชี 1 ประเทศเดินทางปลอดภัยของ EU มี ณ 15 ก.ค. 2021 มี 23 ประเทศ ประกอบด้วย แอลเบเนีย อาร์เมเนีย ออสเตรเลีย อาเซอร์ไบจาน บอสเนีย บรูไน แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น จอร์แดน โคโซโว เลบานอน มอนเตเนโกร นิวซีแลนด์ กาตาร์ มอลโดวา นอร์ทมาเซโดเนีย ซาอุดีอาระเบีย เซอร์เบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ยูเครน และสหรัฐฯ
- สหรัฐฯ ลอสแองเจลิส กลายเป็นมหานครแรกของสหรัฐฯ ที่กลับมาบังคับสวมหน้ากากป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในห้างสรรพสินค้า ร้านขายของชำ ร้านอาการและสถานที่ทำงาน โดยไม่คำนึงว่าจะฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ทั้งนี้จากสถิติเมื่อ 15 ก.ค. 2021 ลอสแองเจลิส เคาน์ตี รายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่รายวัย 1,537 คน สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. 2021 และเป็นจำนวนที่เกิน 1,000 คน 7 วันติดต่อกัน
- ฮ่องกง ผลงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในนิตยสารแลนเซ็ทพบว่าระดับภูมิคุ้มกันของบุคลากรทางการแพทย์ในฮ่องกงที่ได้รับวัคซีนต้าน COVID-19 จากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอนเทคครบโดส สูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ของซิโนแวค ถึง 10 เท่า
- ฟิลิปปินส์ พบผู้ติดโรคติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาที่เป็นการติดเชื้อในชุมชนครั้งแรก
- ออสเตรเลีย เมลเบิร์น เมืองเอกของรัฐวิกตอเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย เข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์เป็นครั้งที่ 5 เพื่อควบคุมโรค COVID-19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด
- อินเดีย สั่งซื้อวัคซีน COVID-19 จำนวน 660 ล้านโดสสำหรับฉีดในเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2021 เป็นการสั่งซื้อครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
- มาเลเซีย จะจัดการเจรจาทวิภาคีกับรัฐบาลไทยเพื่อขอความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาต่อการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีการผลิตในประเทศไทย - กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย อนุมัติให้ใช้วัคซีน COVID-19 ของซิโนฟาร์มเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างมีเงื่อนไข
- เนเธอร์แลนด์ รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 1,050 คน ซึ่งคาดว่ามีความเชื่อมโยงกับงานเทศกาลดนตรี Verknipt ในเมืองอูเทรคต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์
17 ก.ค. 2021
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทยผู้ป่วยใหม่ 10,082 ราย ป่วยสะสม 391,989 ราย รักษาหาย 6,327 ราย หายสะสม 278,184 ราย เสียชีวิต 141 ราย (สถิติรายวันสูงสุด) เสียชีวิตสะสม 3,240 ราย ยอดผู้รับวัคซีน (ถึง 16 ก.ค. 2564) สะสมทั้งหมด 14,130,489 โดส
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุม เสี่ยงแพร่ระบาด COVID-19
- ผู้นำสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก ตกลงกันว่าจะเพิ่มการแบ่งปันวัคซีน COVID-19
- นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและที่ปรึกษารัฐบาลจากทั่วโลกประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2021 เตือนว่าอังกฤษกำลังเดินหน้าสู่หายนะด้วยการยกเลิกข้อจำกัดเกือบทั้งหมดในวันจันทร์ (19 ก.ค. 2021) นี้ ชี้ไร้จริยธรรมเป็นอันตรายต่อทั้งโลก
- จีน ออกคำสั่งใหม่ใช้ในเมืองและอำเภอเกือบ 12 แห่ง ห้ามคนไม่ได้ฉีดวัคซีน COVID-19 ไปสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า กระทบประชาชนหลายล้านคน
- สหรัฐฯ นายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรค COVID-19 ของทำเนียบขาวและผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ถูกตรวจพบในราว 100 ประเทศ และขณะนี้ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกแล้ว
- สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง เปิดเผยว่าตั้งใจบริจาควัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ประเทศอื่นผ่านโครงการโคแวกซ์ ทั้งนี้สิงคโปร์ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 6.57 ล้านโดส ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วกว่า 2.54 ล้านคน (ราว 43%)
- ญี่ปุ่น คณะผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียวแจ้งว่าพบผู้มีผลตรวจหาเชื้อโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นบวกรายแรกของหมู่บ้านนักกีฬา สถานที่ที่นักกีฬาส่วนใหญ่จะเข้าพักก่อนที่โอลิมปิกฤดูร้อนจะเปิดฉากในวันที่ 23 ก.ค. 2021 นี้
- สเปน แคว้นกาตาลุญญา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวตอนกลางคืนอีกครั้ง หวังควบคุมการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ง่าย ทั้งนี้แคว้นกาตาลุญญามีอัตราการติดเชื้อใหม่เกิน 1,000 ต่อประชากรทุก 100,000 คนในช่วง 14 วัน มากกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า ทางการเตรียมยกเลิกวันลาช่วงสุดสัปดาห์ของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะคาดว่ายอดผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้าหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 300 คนในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ข้อมูลจาก Worldometer ณ วันที่ 17 ก.ค. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 190,296,856 คน เสียชีวิต 4,091,909 คน รักษาหาย 173,492,206 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 391,989 คน รักษาหาย 278,184 คน เสียชีวิต 3,240 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 14,130,489 โดส
ที่มาข้อมูล Timeline เรียบเรียงจาก: กรมควบคุมโรค | Thai PBS | สำนักข่าวไทย | VOA | NHK-World | สำนักข่าวอินโฟเควสท์
*อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 2021 อนึ่งวันเวลาที่ระบุไว้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ