นักวิชาการเสนอเพิ่มงบกลางเป็น 3 แสนล้าน ใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข-กระตุ้นการจ้างงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1967 ครั้ง

นักวิชาการเสนอเพิ่มงบกลางเป็น 3 แสนล้าน ใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข-กระตุ้นการจ้างงาน

อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เสนอเพิ่มงบกลางจากที่มีอยู่ 139,000 ล้านบาทเป็น 300,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข การกระตุ้นการจ้างงานและโครงการชดเชยรายได้และช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่าความไม่สมดุลของตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นมามากกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว ปัญหาความไม่สมดุลเกิดขึ้นจากโครงสร้างประชากรในวัยทำงานลดลง ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น พัฒนาการและการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้อุปสงค์ในตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อน COVID-19 ระบาด ขณะที่อุปทานแรงงานนอกจากเกิดปัญหาในเรื่องประชากรในวัยทำงานลดลงแล้ว ยังสะท้อนถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ไม่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้รองรับความต้องการและอุปสงค์ในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้ พลวัตของพฤติกรรมในการเลือกอาชีพของคนไทย พลวัตของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ทำให้ภาวะความไม่สมดุลตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นแต่ยังคงบริหารจัดการได้ผ่านการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเข้ามาทำงานในบางลักษณะที่ไม่สามารถหาแรงงานไทยทำได้ แรงงานต่างด้าวทักษะต่ำกระจายทำงานอยู่ในภาคการผลิต ภาคบริการ ในระบบเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน (ทั้งเข้าเมืองถูกกฎหมายและลักลอบเข้าเมือง) ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการมีมาตรการปิดเมือง ปิดกิจกรรม ปิดประเทศ ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านทำให้ “แรงงานต่างด้าว” จำนวนหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามปรกติและอย่างถูกกฎหมาย จึงก่อให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจำนวนมากโดยไม่มีการกักกันโรคระบาด เป็นส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาสาธารณสุขและการแพร่ระบาดหลายระลอกในประเทศไทย การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในภาคการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมเวลานี้ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลจากการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการบางส่วน มีความจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวและขณะนี้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 300,000-500,000 คนในบางกิจการแม้นอัตราการว่างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แรงงานต่างด้าวใบอนุญาตทำงานหมดอายุเฉลี่ยเดือนละ 100,000 คนและได้เดินทางกลับประเทศไปและยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการผลิตและแปรรูปอาหาร ภาคก่อสร้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนพอๆกับปัญหาวิกฤติการว่างงานในกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง ภาวะความไม่สมดุลของตลาดแรงงานที่รุนแรงนี้แก้ไขได้ยากและต้องใช้เวลา นอกจากนี้ยังขาดแคลนแรงงานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข แรงงานชาวไทยที่ว่างงานอยู่จำนวนมากก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการขาดแคลนได้ทันที การวางแผนกำลังแรงงานอย่างมียุทธศาสตร์และคาดการณ์ล่วงหน้าในการวางแผนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การมีระบบการรวมศูนย์ข้อมูลตลาดแรงงานทั้งทางด้านอุปสงค์ อุปทานให้สมบูรณ์และถูกต้องเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการบริหารจัดการภาวะวิกฤติความไม่สมดุลของตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจาก ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดของระบบข้อมูลของแรงงานอิสระที่มีอยู่ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน (1 ใน 5 ของกำลังแรงงาน) โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านรายได้และข้อมูลทางการเงินของครัวเรือนประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการออกแบบมาตรการในการช่วยเหลือให้ตรงจุดตรงเป้ามากกว่าเดิม นอกจากนี้การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในกิจการก่อสร้างทำให้โครงการก่อสร้างบางส่วนอาจเกิดการชะงักงัน เสนอผู้ประกอบการควรใช้แรงงานไทยที่ว่างงานแทน

ส่วนการเคลื่อนย้ายของแรงงานว่างงานจากภาคท่องเที่ยวที่มีการเติบโตติดลบมายังภาคการผลิตส่งออก ภาคก่อสร้างที่เริ่มมีการฟื้นตัวบ้างต้องใช้เวลาในการปรับทักษะของแรงงาน และ ต้องมีโครงการ Reskill และ Upskill อย่างเป็นระบบกว่านี้ แรงงานอิสระที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย คนขับรถแท็กซี่ คนขับวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย พนักงานบริการในร้านอาหาร พนักงานในสถานบันเทิง คนงานรับจ้างทั่วไปและก่อสร้างรายวัน เป็นจุดเปราะบางที่สุดของตลาดแรงงานไทยตอนนี้ คนเหล่านี้มักจะมีรายได้เป็นรายวัน การที่คนกลุ่มนี้ต้องหยุดงานนาน เขาจะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้ และ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีหนี้สินครัวเรือนในระดับสูง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่าจากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด จึงขอเสนอให้มีการเตรียมงบประมาณสำหรับรองรับผลกระทบระบาดระลอกสามและรับมือกับการระบาดระลอกสี่เอาไว้เลย ต้องเพิ่มงบกลางจากที่มีอยู่ 139,000 ล้านบาทเป็น 300,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อยเพื่อใช้ในโครงการด้านสาธารณสุข การกระตุ้นการจ้างงานและโครงการชดเชยรายได้และช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระ อย่างไรก็ตาม งบที่เสนอให้เพิ่มเติมในงบกลางนั้นขอให้มีการใช้งบกลางอย่างมียุทธศาสตร์ มีประสิทธิภาพไม่รั่วไหล ไม่เอื้อประโยชน์ต่อฐานเสียงทางการเมืองแต่เน้นไปที่ความจำเป็นเร่งด่วนเป็นหลัก ต้องใช้งบกลางให้มีประสิทธิผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากกว่าเดิม เพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้ภายในปลายปีนี้ ส่วนการเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังและทำผ่านระบบข้อตกลงระหว่างประเทศเท่านั้น ตำแหน่งงานใดที่แรงงานไทยสามารถทำได้ต้องพิจารณาให้ “แรงงานไทย” ทำก่อน เนื่องจาก “แรงงานไทย” ก็ประสบปัญหาการว่างงานอยู่จำนวนมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: