รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งปรับปรุงแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2564 ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกที่ประชุมได้หารือถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมในรายละเอียดของแผนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ จึงมีมติมอบหมายให้ ขสมก.รับข้อสังเกตของทั้ง 3 หน่วยงาน ไปดำเนินการศึกษารายละเอียดให้มีความชัดเจน และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ไปควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ตามกฎหมาย อำนาจหน้าที่ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ คณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ซึ่งมีนายชัยวัฒน์ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานฯ และอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นเลขานุการคณะทำงาน นั้นได้มีการนำเสนอผลการดำเนินการต่อที่ประชุมโดยได้นำข้อสังเกตของหน่วยงานจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบกไปพิจารณาและเห็นว่าการดำเนินการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม 5 ลด ได้แก่ การลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน การลดปัญหาการจราจร การลดปัญหามลพิษทางอากาศ การลดการขาดทุนของ ขสมก. และการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ภายใต้แนวคิดเดินรถเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Single Network) การกำหนดอัตราค่าโดยสารเดียว (Single Price) และการบริหารจัดการระบบเดียว (Single Management) เป็นนโยบายที่ดี และสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักบริการสาธารณะ คือ มีความทั่วถึง มีการเชื่อมต่อ มีความเป็นธรรม และมีคุณภาพที่ดี
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นการสนับสนุนให้ใช้รถโดยสารไฟฟ้า เนื่องจากระบบรถสาธารณะในปัจจุบันยังคงมีการให้บริการยานยนต์หลากหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่มีระบบเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน (ICE) ซึ่งส่งผลต่อระบบการบริหารจัดการในเชิงต้นทุนที่มีความอ่อนไหว รวมถึงคงส่งผลต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ จึงได้กำหนดให้มีนโยบายสนับสนุนให้ใช้รถโดยสารไฟฟ้าในการขนส่งสาธารณะและสนับสนุนแนวทางดำเนินการในรูปแบบ Smart Bus เช่น รถโดยสารสามารถให้บริการผู้โดยสารที่ใช้ Wheel Chair ติดตั้งและใช้เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทาง (GPS) ติดตั้งและใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์บนรถโดยสาร (E-Ticket System) การต่อเชื่อมกับระบบตั๋วร่วม (ตั๋วโดยสารร่วม) สถานที่เก็บซ่อมและบำรุงรักษารถที่เพียงพอและเหมาะสม การนำระบบ Artificial intelligence (AI) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเดินรถและจำนวนผู้โดยสาร ติดตั้งระบบ CCTV รถโดยสารเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เป็นต้น
โดย มีมติ ดังนี้ 1.เห็นชอบแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบ Smart Bus และ 2. ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบ Smart Bus
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ