ก่อนหน้าการประชุม COP26 ที่สก็อตแลนด์ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าบรรดานักการเมืองกำลังให้คำมั่นสัญญาเรื่อง 'net zero carbon' ที่อาจไม่สามารถรักษาได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในแง่ค่าใช้จ่ายที่จะต้องแบกรับด้วย
VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2021 ว่าก่อนหน้าการประชุม COP26 ที่สก็อตแลนด์ในเดือน พ.ย. 2021 ซึ่งคาดว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ จะให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายภาวะก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero carbon emissions เพื่อชะลอความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนนั้น
นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า บรรดานักการเมืองกำลังให้คำมั่นสัญญาที่อาจไม่สามารถรักษาได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในแง่ค่าใช้จ่ายที่จะต้องแบกรับด้วย
โดยในการประชุมระหว่างประเทศ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ของสก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้นำจาก 129 ประเทศโดยเฉพาะจากประเทศตะวันตกได้ให้สัญญาเรื่องการบรรลุเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้มีภาวะสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือก่อนหน้านั้น
ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้บรรดาผู้กำหนดนโยบายจะต้องลงมือดำเนินการอย่างจริงจังและเห็นพ้องต้องกันในเรื่องแผนปฎิบัติระหว่างการประชุมในเดือนหน้า
อย่างไรก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่เตือนว่า คำมั่นสัญญาจากนักการเมืองเหล่านี้อาจต้องแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ และนักการเมืองก็ไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่จำเป็น รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะเกิดขึ้นซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องแบกรับภาระโดยประชาชนผู้เสียภาษีโดยทั่วไป
นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งในจำนวนนี้ คือ นายเลียม ฮัลลิแกน ซึ่งได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษ และตั้งคำถามว่าการบรรลุเป้าหมาย net zero carbon ดังกล่าวจะเป็นไปได้จริงหรือไม่โดยไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีปัญหาด้านอื่นอยู่แล้ว ทั้งในแง่ห่วงโซ่อุปทานที่ต้องหยุดชะงักลง จากภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งราคาค่าพลังงานที่สูงขึ้นด้วย
นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เหตุผลส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าพลังงานที่สูงขึ้นนั้นมาจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือต้นทุนค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนในอังกฤษขณะนี้ 23% เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และขณะนี้ค่าไฟฟ้าในอังกฤษก็สูงกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถึงสามเท่าตัวด้วย
ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายต้องตัดสินใจสำหรับทางเลือกระหว่างค่าใช้จ่ายและต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นในระยะสั้นเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย net zero carbon กับความเสียหายทางเศรษฐกิจและต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาวหากไม่เร่งลงมือดำเนินการนั้น ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปจะยังไม่ได้ประโยชน์จากค่าพลังงานที่ถูกลงด้วยการผลิตโดยอาศัยแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะสิ่งที่จะต้องพบอย่างแน่นอนคือภาระค่าใช้จ่ายจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงในวิธีผลิต รวมทั้งภาษีด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
และในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำของหลายประเทศในยุโรปตอนกลาง เช่นโปแลนด์และสโลวาเกียได้เริ่มต่อต้านแผนของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือ green policy ที่จะจัดเก็บภาษีใหม่กับเชื้อเพลิงที่สร้างมลภาวะและกำหนดเส้นตายในปีค.ศ. 2035 เพื่อห้ามการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการต้องเลือกระหว่างต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นในระยะสั้นซึ่งต้องแบกรับโดยประชาชนกับความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อส่วนรวมหากไม่มีการดำเนินการนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย
อย่างไรก็ตาม รายงานจาก Oxford Economics เมื่อต้นปีนี้ได้เตือนว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความปรวนแปรของสภาพภูมิอากาศของโลกจะเลวร้ายและสร้างความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมากในหลายประเทศมากกว่าภาระค่าใช้จ่ายในระยะสั้นหลายเท่าตัว
โดยรายงานการวิจัยชิ้นนี้ให้ตัวเลขว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปีค.ศ. 2100 หรืออีกราว 80 ปีข้างหน้าแล้ว ผลผลิตจีดีพีของโลกอาจจะลดลงได้ถึง 21%
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ