เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (FRN) ได้รับชัยชนะ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างไว้

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 4327 ครั้ง

เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (FRN) ได้รับชัยชนะ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างไว้

แรงงานประมงสัญชาติเมียนมาจำนวน 11 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (FRN) จะได้รับชัยชนะในการร้องเรียนเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย้อนหลังแก่ลูกจ้างเป็นเงินกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท หลังพบว่านายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงไม่จ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนแก่ลูกเรือทั้งหมดที่ได้ทำงานประมงนานกว่า 6 เดือน

ระนอง ประเทศไทย - ภายหลังการดำเนินการอยู่หลายเดือน แรงงานประมงสัญชาติเมียนมาจำนวน 11 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (FRN) จะได้รับชัยชนะในการร้องเรียนเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย้อนหลังแก่ลูกจ้างเป็นเงินกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท หลังพบว่านายจ้างพยายามหลีกเลี่ยงไม่จ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนแก่ลูกเรือทั้งหมดที่ได้ทำงานประมงนานกว่า 6 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือน และท้ายที่สุดเมื่อนายจ้างจ่ายเงิน เงินนั้นกลับน้อยกว่าจำนวนที่ระบุตามสัญญาจ้างของลูกเรือกว่าร้อยละ 20 ลูกเรือจึงได้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้และด้วยความช่วยเหลือจากสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ITF และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษย์ชนและการพัฒนา (มสพ.)ในการร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระนอง ภายหลังระยะเวลา 2 เดือนของตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายเต็มจำนวนต่อลูกเรือทั้งหมด

“เราลุกขึ้นสู้ด้วยกันในฐานะสหภาพแรงงาน และในที่สุดเราก็ได้รับความยุติธรรม นี่หมายถึงว่าเราสามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวของเราได้มากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงพลังเมื่อพวกเราลุกขึ้นสู้ด้วยกัน” อัง เมียว อู แกนนำลูกเรือ FRN กล่าว “ถ้าเราสู้ด้วยกันในฐานะสหภาพแรงงานเราจะเข้มแข็ง และเราจะหยุดยั้งนายจ้างไม่ให้เอาเปรียบเราได้”

“เป็นที่น่าเสียดายที่ถึงแม้ว่าจะมีการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงเมื่อปี 2019 ประเทศไทยยังคงล้มเหลวในการดำเนินการบังคับใช้บทบัญญัติหลักๆอย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานและการตรวจแรงงานของไทยในปัจจุบันยังคงไม่เป็นไปตามมาตราฐานตามที่อนุสัญญาดังกล่าวระบุ ซึ่งควรจะสามารถช่วยปกป้องแรงงานจากการถูกเอาเปรียบและการละเมิดสิทธิแรงงาน” จอนนี่ ฮันเซน ประธานสาขาประมงITF กล่าว “ITF ได้รับรายงานจากลูกเรือในไทยอยู่บ่อยครั้งว่าพวกเขายังคงประสบการปัญหาหลักๆ เช่น การโกงค่าแรง การยึดเอกสารและจำกัดการเคลื่อนย้าย แรงงานขัดหนี้ อาหารและน้ำดื่มสะอาดที่ไม่เพียงพอบนเรือ ยาปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ไม่ครบถ้วนและเข้าถึงได้ยาก หรือแม้กระทั้งการข่มขู่คุกคามไม่ให้รายงานต่อเจ้าหน้าที่”

“ลูกเรือยังคงพบเจอกับปัญหาต่างๆ แต่เรารวมตัวขึ้นสู้เพื่อสิทธิของพวกเราและเพื่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้น” อัง เมียว อู แกนนำลูกเรือ FRN กล่าว “มันนานเกินไปแล้วที่ลูกเรือเมียนมาและกัมพูชาทำงานให้กับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยที่พวกเขายังสามารถทำกำไรจากการทำธุรกิจอาหารทะเลจากแรงงานของพวกเรา ก่อนหน้านี้ เราไม่ได้สู้อย่างจริงจังเพื่อสิทธิของเรา แต่ในฐานะสมาชิกของ FRN เราจะตอบโต้และคว้าชัยชนะมา ความสำเร็จนี้พิสูจน์แล้วว่าเราสามารถหยุดการเอาเปรียบของนายจ้างที่มีต่อเราได้”

ในความพยายามที่จะตรวจสอบการจ่ายค่าจ้าง จำกัดการโกงค่าแรง และทำให้แน่ใจว่านายจ้างจะปฎิบัติตามบทบัญญัติเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ประเทศไทยได้กำหนดให้ลูกเรือรับค่าแรงเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคาร อย่างไรก็ตามลูกเรือเกือบทั้งหมดได้บอกกับ FRN ว่าไต๋ก๋งหรือนายจ้างเป็นผู้เก็บและควบคุมเอกสารทางการเงินของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น สมุดธนาคาร บัตร ATM รหัสบัตร ATM และควบคุมการฝากถอนเงินทั้งหมด นายจ้างฝากและถอนเงินในบัญชีธนาคารลูกเรือเพื่อสร้างหลักฐานปลอมให้ดูเหมือนว่าตนได้ดำเนินการตามกฎหมาย ในขณะที่ยังคงหาผลประโยชน์จากลูกเรือผู้ซึ่งถูกจำกัดการเข้าถึงการเยียวยาทางกฎหมาย นายจ้างหลายคนไม่ได้จ่ายเงินเดือนแก่ลูกเรือตามที่ระบุในสัญญาจ้าง และลูกเรือหลายคนเผชิญความยากลำบากในการร้องเรียนหรือพิสูจน์หลักฐาน

ด้วยการก่อตั้ง FRN แรงงานประมงข้ามชาติสามารถรวมตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งและต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานเหล่านี้ และเพื่อยกขีดความสามารถให้เท่าเทียมกับนายจ้างในการเจรจาต่อรองเพื่อสัญญาจ้างงานที่เป็นธรรม ค่าแรงและสวัสดิการที่เหมาะสม และสภาพการทำงานที่ปลอดภัย

ประเทศไทยล้มเหลวต่อการให้สัตญาบัญอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อปกป้องเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมสำหรับคนงานทุกคน “การปฏิรูปครั้งใหญ่จะต้องเกิดขึ้น แรงงานทุกคนรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติควรได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมไปถึงการเข้าร่วมหรือก่อตั้งสหภาพแรงงาน” ฮันเซนกล่าว “หากปราศจากสิทธิพื้นฐานที่จะรวมตัวที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายข้อนี้ แรงงานข้ามชาติก็ยังคงเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางในการถูกแสวงหาผลประโยชน์และเสี่ยงต่อการถูกนายจ้างทำโทษ การลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมและไล่ออกเกิดขึ้นได้หากพวกเขามีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าแรงและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: