ส.ค. 64 ผู้ประกันตนว่างงาน 304,884 คน - หนุนจ้างแรงงานไทยวุฒิไม่เกิน ม.6 ทดแทนนำเข้าแรงงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 6414 ครั้ง

เดือน ส.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,079,956 คน ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 304,884 คน ถูกเลิกจ้าง 90,933 คน - รมว.แรงงาน สั่งทำแผนจ้างแรงงานไทยวุฒิไม่เกิน ม.6 ทดแทนนำเข้าแรงงานลงทะเบียนกว่า 1.1 แสนคน | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ส.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน ก.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,079,956 คน ลดลงร้อยละ -0.33 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,117,083 คน) และเมื่อเทียบกับ เดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,127,233 คน) ลดลงร้อยละ -0.42

สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม) เดือน ส.ค. 2564 มีผู้ว่างงานจำนวน 304,884 คน ลดลงร้อยละ -29.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา (จำนวน 435,010 คน) และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 308,295 คน) ร้อยละ -1.11 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 2/2564 เท่ากับร้อยละ 1.9

สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน ส.ค. 2564 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง จากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 90,933 คน ลดลงร้อยละ -58.73 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา (จำนวน 220,324 คน) และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 90,957 คน) ร้อยละ -0.03 และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน ส.ค. 2564 เท่ากับร้อยละ 0.80 [1]

รมว.แรงงาน สั่งทำแผนจ้างแรงงานไทยวุฒิไม่เกิน ม.6 ทดแทนนำเข้าแรงงานลงทะเบียนกว่า 1.1 แสนคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการ บางประเภทกิจการชะลอการจ้างงาน หรือปิดกิจการไปจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีสถานประกอบการที่ยังคงประกอบกิจการได้ และมีความต้องการแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะในอุตสากรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋อง และเสื้อผ้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ดีประเทศไทยได้ชะลอการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการศบค. จึงไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ในขณะนี้ และส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน

“นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณามาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ต่อเนื่อง ปรับแผนงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชื่อว่าเรื่องสำคัญตอนนี้คือช่วยให้คนไทยมีงานทำ จึงมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานแรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าว

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยที่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุไม่เกิน 35 ปี เพื่อทำงานในกิจการประเภทเกษตรและปศุสัตว์ กิจการต่อเนื่องการเกษตร กิจการก่อสร้าง และงานในไลน์ผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอย่างน้อยจะได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามวุฒิการศึกษา รวมทั้งค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยขยัน และสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทกำหนด

มอบหมายให้กรมการจัดหางานสำรวจความต้องการการจ้างงานจากสถานประกอบการทั่วประเทศที่ยินดีจ้างแรงงานไทยทำงานทดแทนในส่วนที่ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งผลสำรวจ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกว่า 4 แสนอัตรา

ในขณะที่มีแรงงานไทยขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน ผ่านเว็บไซต์ไทยมีงานทำ.doe.go.th วุฒิการศึกษา ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 112,759 คน หากสามารถบรรจุงานได้ทั้งหมดจะสามารถช่วยคนไทยจำนวนมากให้มีรายได้ และช่วยให้สถานประกอบการดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าตามข้อสั่งการท่านนายกรัฐมนตรี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเรื่องส่งเสริมการจ้างงานแรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าว ได้มีข้อสั่งการให้จัดหางานทุกจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพพื้นที่ 1-10 เร่งดำเนินการ ดังนี้

1.สำรวจ ความต้องการผู้ที่ลงทะเบียนหางานและยังต้องการทำงานแต่ละพื้นที่ให้เป็นปัจจุบัน ตามวุฒิการศึกษา ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เพื่อดำเนินการจัดหางานให้ตามความถนัด

2.สำนักงานจัดหางานจังหวัดเร่งประสานสถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ประเภทกิจการที่แรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าวได้ เพื่อจัดทำคลิปวีดีโอตำแหน่งงาน (Company Profile) ประกอบด้วย สถานที่ตั้ง ลักษณะงานที่ต้องการจ้างงาน สวัสดิการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้แก่ผู้สมัครงาน

3.สำนักงานจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างแก่ผู้ขึ้นทะเบียนหางานและยังต้องการมีงานทำ จากเว็บไซต์ไทยมีงานทำ.doe.go.th รวมทั้งผู้ประกันตนกรณีว่างงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมครบถ้วนแล้ว แต่ยังหางานทำไม่ได้

4.จัดงานนัดพบแรงงานเฉพาะกิจ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เช่น จัดหางานรายบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ

มาให้บริการสัมภาษณ์งานทาง Online และบรรจุงานได้ทันที

5.อำนวยความสะดวกและประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ ระหว่างจังหวัดที่มีความต้องการจ้างงานแต่ไม่มีกำลังแรงงาน กับจังหวัดที่มีคนต้องการหางานทำ

จำนวนมากแต่มีตำแหน่งงานว่างไม่เพียงพอที่จะรับเข้าทำงาน

“สำหรับคนหางาน คนว่างงาน และทุกคนที่ต้องการมีงานทำ กรมการจัดหางานได้เตรียมช่องทางการให้บริการผ่านทางออนไลน์ (E – Services) โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ ไทยมีงานทำ.doe.go.th ซึ่งระบบจะจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้สมัครงานกับตำแหน่งงานว่างของสถานประกอบการ โดยแนะนำงานที่ตรงกับคุณสมบัติและความต้องการ ให้ผู้สมัครงานพิจารณา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” อธิบดี กกจ. กล่าว [2]

 

ที่มาข้อมูล
[1] รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ส.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
[2] สุชาติ สั่งทำแผน จ้างแรงงานไทยวุฒิไม่เกินม.6 ทดแทนนำเข้าต่างด้าว ลงทะเบียนกว่า 1.1 แสนคน (มติชนออนไลน์, 18 ก.ย. 2564)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: