การทำบุญในบ้านเรานั้นมีประวัติมายาวนานพร้อมกับการรับเอาศาสนาพุทธเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
ในทางพระพุทธศาสนาได้วางหลักเกณฑ์การทำบุญไว้ 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา เรียก บุญกิริยาวัตถุทาน แปลว่า การให้ คือ ตั้งใจให้ สละให้ หรือ บริจาค ในทางพระพุทธศาสนา กำหนดวิธีการทำบุญที่เป็นทานไว้หลายอย่าง โดยมีวัตถุประสงค์ของการให้ทาน คือ 1.เพื่ออนุเคราะห์ คือ ช่วยเหลือผู้มีความต้องการ เช่นประสบภัย หรือขาดแคลน หรือได้รับความทุกข์ยาก ด้วยความกรุณา คือคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ 2. เพื่อสงเคราะห์ คือเกื้อกูลกันในระหว่างญาติเพื่อนบ้าน มิตรสหาย เป็นการแสดงไมตรีจิตต่อกัน ด้วยความเมตตา คือคิดจะให้เป็นสุข เป็นการแสดงออกซึ่งความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว และ 3.เพื่อบูชาคุณ เช่น บูชาคุณบิดา มารดา ผู้มีอุปการะอื่น ๆ รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นการบูชาท่านผู้ควรบูชา[1]
แม้ศาสนาพุทธและการทำบุญจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาการอยู่เนือง ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระแสการทำบุญสะทกสะท้านแต่อย่างใด
หากใครคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจ จะทำให้การทำบุญลดน้อยถดถอยลงเป็นอย่างมาก ความเชื่อนี้ก็เป็นความเชื่อที่ผิด หนำซ้ำในหลาย ๆ วิกฤตที่ผ่านมากลับได้กระตุ้นให้เกิดการทำบุญในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เช่น 'การทำบุญไหว้พระ 9 วัด' เป็นคติการทำบุญของชาวไทยพุทธที่พัฒนาขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจราวปลายทศวรรษที่ 2530 ในมุมหนึ่งการทำบุญไหว้พระ 9 วัด ถือเป็นที่พึ่งทางจิตใจของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว[2] และแม้แต่วิฤตในช่วงอันใกล้นี้อย่างช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 ระบาดและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนไทยยังทำบุญและใช้จ่ายกิจกรรมความเชื่อที่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,800 ล้านบาท[3]
ใครบ้างทำบุญ?
คำตอบก็คือ เกือบทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนชั้นกลาง และคนจน
มีงานศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่นำข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยในปี 2552-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาวิเคราะห์ พบว่า 96% ของครัวเรือนไทยทั้งหมดมีรายจ่ายเพื่อการกุศล (คือมีสมาชิกในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนที่มีรายจ่ายเพื่อการกุศลตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปภายในระยะเวลา 1 ปี) โดยรายจ่ายในส่วนนี้ประกอบไปด้วย ค่าอาหาร/ของถวายพระ/ไหว้เจ้า และเงินทำบุญและการซื้อของให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้มูลค่าของรายจ่ายเพื่อการกุศลรวมทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 6,200 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี)[4]
ถ้ามีตังค์ในมือ 100 บาท คนรวยทำบุญ 1.4 บาท คนจนทำบุญ 5.1 บาท
ที่น่าสนใจในงานศึกษาชิ้นนี้อีกประเด็นหนึ่ง คือครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้มากกว่า แม้ครัวเรือนไทยจะทำบุญตามกำลังทรัพย์ที่มี (รายได้มากทำมาก รายได้น้อยทำน้อย) แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการทำบุญต่อรายได้ระหว่างครัวเรือนในระดับรายได้ต่าง ๆ แล้วจะพบว่าครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้สูงกว่า โดยในปี 2560 คนรายได้สูง 10% บนสุด มีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 1.4% ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% ล่างสุด มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 5.1%[5] -- ตีความหมายแบบง่าย ๆ คือหากทั้งเนื้อทั้งตัวคนรวยและคนจนมีตังค์กำในมือ 100 บาท คนรวยจะทำบุญ 1.4 บาท ส่วนคนจนจะทำบุญ 5.1 บาท
การศึกษาน้อย ยิ่งชอบทำบุญ
งานศึกษาชิ้นนี้ยังระบุว่าครัวเรือนในต่างจังหวัดมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนในกรุงเทพฯ โดยสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้ของครัวเรือนในต่างจังหวัดอยู่ที่ 2.8% ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1.3%
นอกจากนี้ ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนนอกภาคเกษตร โดยครัวเรือนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพในภาคเกษตร สัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้จะอยู่ที่ 3.3% ขณะที่ในส่วนของครัวเรือนนอกภาคเกษตรจะอยู่ที่ 2.5% รวมทั้งครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มี โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกในครัวเรือนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 1 คนจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 3.2% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนของรายจ่ายดังกล่าวอยู่ที่ 2.3%
ครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวมีการศึกษาสูงกว่าจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลน้อยกว่า โดยครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวมีระดับการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ 1.7% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนมีระดับการศึกษาต่ำกว่านั้น สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ 2.8% -- ตีความหมายแบบง่าย ๆ คือหากทั้งเนื้อทั้งตัวคนจนและคนรวยมีตังค์กำในมือ 100 บาท
ไม่ไว้ใจองค์กรการกุศล แต่ชอบทำบุญกับคนดัง
นอกจากวัดแล้ว ในการทำบุญของคนไทยมักจะไม่ไว้ใจองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกับการบริจาคในเมืองนอก โดยสิ้นเชิง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 คนไทยบริจาคเงิน/สิ่งของให้แก่องค์กรต่าง ๆ เพียง 29 บาท แต่ให้เงินทำบุญ/เงินช่วยเหลืออื่น (ที่ไม่ได้ให้แก่องค์กรต่าง ๆ) ถึง 274 บาท เลยทีเดียว[6]
แต่สำหรับดาราคนดัง (ช่วงหลังก็หมายความรวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย) พบว่าคนไทยมีความมั่นใจพอสมควรที่จะบริจาคให้คนดังเหล่านี้นำไปทำบุญต่อ/ร่วมกันทำบุญ ปรากฎการณ์นี้จะเห็นได้จากกรณีตูน บอดี้สแลม ที่จัดกิจกรรมวิ่งเพื่อรับบริจาคเงินให้โรงพยาบาลรัฐ หรือพระเอกอย่างบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ที่เป็นตัวกลางการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอยู่เป็นประจำ ก็ประสบความสำเร็จเกือบทุกแคมเปญรับบริจาค (หรือควักเงินส่วนตัวเอง)
หวังผลประโยชน์ส่วนตน (หากจะเป็นไปตามความเชื่อ)
ทั้งนี้ในรอบเกือบ 20 ปีมานี้เคยมีโพลหลายชิ้นสำรวจความคิดเห็นตัวผู้ทำบุญในแง่ของการหวังผลตอบแทนจากการทำบุญ ตัวอย่างดังเช่น
การสำรวจความเห็นครั้งหนึ่งเมื่อปี 2548 ที่ได้ทำการสำรวจความเห็นในเขตกรุงเทพมหานครที่นับถือศาสนาพุทธ จำนวน 1,128 คน เมื่อถามว่าหวังผลอะไรจากการทำบุญ 24.9% หวังความสบายใจ 16.9% หวังให้มีความสุขความเจริญในชาตินี้ 12.0% หวังให้รอดพ้นจากเรื่องเลวร้ายที่ประสบอยู่ และ 11.5% หวังสั่งสมบุญไว้เป็นทุนในชาติหน้า (มีเพียง 1.7% ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ)[7]
การสำรวจความเห็นครั้งหนึ่งเมื่อปี 2556 ที่ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,581 คน ให้เหตุผลในการทำบุญ 2 อันดับแรกคือ 1.เพื่อความสุขและสบายใจ 2.หวังผล บุญกุศลในภายภาคหน้า[8]
และจากการสำรวจความเห็นครั้งหนึ่งเมื่อปี 2563 ที่ได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนในทุกอำเภอของประเทศไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่าวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรกในการทำบุญไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ 42.42% เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต 29.64% ขอโชคลาภ เงินทอง และ 10.95% ขอเรื่องการงาน ธุรกิจ[9]
จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่า ความเชื่อที่ว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตนของผู้ทำบุญ ขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญของคนไทย.
ข้อมูลอ้างอิง
[1] ความหมายและวิธีการการทำบุญของคนไทย (กระทรวงวัฒนธรรม, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 11 ม.ค. 2563)
[2] ทัวร์ไหว้พระ 9 วัดและการก่อตัวของสูตรมหามงคลในสังคมบริโภคนิยม (เอกรินทร์ พึ่งประชา, ดำรงวิชาการ Vol. 6 No. 1 (2007): January - June)
[3] “พาณิชย์” ทำโพล พบคนไทยยังนิยมทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้เศรษฐกิจซบ โควิด-19 ระบาด (ผู้จัดการออนไลน์, 8 พ.ย. 2563)
[4] EIC Data Infographic: คนไทยใจบุญ (SCB-EIC, 30 ส.ค. 2562)
[5] EIC Data Infographic: คนไทยใจบุญ (SCB-EIC, 30 ส.ค. 2562)
[6] สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20 ก.ย. 2562)
[7] คนไทยกับการทำบุญ (กรุงเทพโพลล์, 22 ก.พ. 2548)
[8] เปิดโพลพฤติกรรม "การให้" (สสส., 4 มี.ค. 2556)
[9] “พาณิชย์” ทำโพล พบคนไทยยังนิยมทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้เศรษฐกิจซบ โควิด-19 ระบาด (ผู้จัดการออนไลน์, 8 พ.ย. 2563)
เกี่ยวกับผู้เขียน Dada Journalism เป็นนามปากกาของคนทำงานในแวดวงสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2006 ผู้นิยามระดับความสามารถในวิชาชีพของตนเองว่าเป็น 'นักก้อปปี้วางชำนาญการพิเศษอาวุโส' มีเครื่องมือหลักในการประกอบอาชีพ ได้แก่ กูเกิล โปรแกรมโน้ตแพด โปรแกรมเพนท์ และโปรแกรมเครื่องคิดเลข ที่แถมมากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์. |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ