เสนอรัฐบาลจัดทำงบฯ ปี 2565 เพิ่มแผนการใช้จ่ายอีก 2-3% กระตุ้นการจ้างงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1123 ครั้ง

เสนอรัฐบาลจัดทำงบฯ ปี 2565 เพิ่มแผนการใช้จ่ายอีก 2-3% กระตุ้นการจ้างงาน

อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เสนอรัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณปี 2565 เพิ่มแผนการใช้จ่ายอีก 2-3% จากปี 2564 เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน อาจต้องกู้เพิ่มชดเชยขาดดุลอีก 1 ล้านล้านบาทหากจำเป็น ไม่จับกุมผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงอันนำมาสู่เหตุการณ์บานปลายกระทบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึงผลของแผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของโจ ไบเดน และ มาตรการแจกเงินรัฐบาลไทยต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ว่าหากรัฐบาลโจ ไบเดน สามารถดำเนินการได้ตามรายละเอียดของแผนเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ประกาศเอาไว้เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา มีการคาดการณ์โดยสถาบันการเงินระดับหลายแห่งมองว่า อาจทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 0.7-2% จากที่สำนักวิจัยส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้เดิม และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แผนเศรษฐกิจ American Rescue Plan น่าจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯสูงถึง 8-9% ในปีนี้และน่าจะให้ตลาดแรงงานเข้าสู่การจ้างงานเต็มที่ตามปรกติได้ภายในปลายปีหน้า (หากไม่มีมาตรการนี้อาจต้องใช้เวลา 3-4 ปีตลาดแรงงานจึงปรับเข้าสู่ภาวะปรกติ) เม็ดงบประมาณขนาดใหญ่ภายใต้ Build Back Better Campaign Agenda ของโจ ไบเดน เมื่อบวกเข้ากับงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้สหรัฐอเมริกาแซงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรังเศส และเยอรมันในแง่ของสัดส่วนการใช้จ่ายทางการคลังที่เป็น Fiscal Support เทียบกับจีดีพีเพื่อสู้กับวิกฤติสุขภาพที่นำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ (Health Crisis and Economic Crisis)

ด้วย Fiscal Support เทียบกับจีดีพีที่ขึ้นมาอยู่อันดับที่หนึ่งของโลก รวมเม็ดเงินทั้งหมดตั้งแต่เกิดโรคระบาดอยู่ที่ 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ (CARES Act 2.4 trillion+Covid Relief 0.9 Tril.+Biden’s American Fiscal Recue Plan 1.9 Tril.) ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯจีนคลี่คลายลง ผลกระทบการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 บรรเทาลงโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในระยะต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดการเงินเอเชีย ตลาดหุ้นเศรษฐกิจดาวรุ่ง (Emerging Markets) รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ไหลย้อนกลับ ไปตลาดสหรัฐอเมริกาบางส่วน ทำให้ราคาหุ้นและค่าเงินอาจเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ในช่วงต่อไป กระแสเม็ดเงินที่ไหลเข้ามายังเอเชียตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมาอาจมาถึงจุดวกกลับไปยังสหรัฐอเมริกา โดยที่ตลาดหุ้นที่จะมีการปรับฐานลงแรงสุดน่าจะเป็นตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นไทย แต่อาจจะเกิดขึ้นหลังไตรมาสแรก

หลังจากที่ American Recue Plan เริ่มมีผลเต็มที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม และ น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสสองของสหรัฐฯปรับขึ้นแรงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนบางส่วนไหลย้อนกลับไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ เม็ดเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์นี้ หากศึกษาในรายละเอียดพบว่า มีทั้งมาตรการช่วยเหลือโดยตรงไปยังภาคธุรกิจ ชุมชนและประชาชนและเม็ดเงินสูงกว่าข้อเสนอของพรรครีพับรีกันมาก ใช้เม็ดเงิน 4 แสนล้านดอลลาร์สำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขรวมทั้งการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงให้กับประชาชน มอบเงินชดเชยรายได้ครอบครัวละ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือนจนกว่าการจ้างงานจะกลับคืนมานอกเหนือจากเงินจากประกันการว่างงานในระบบประกันสังคม การคุ้มครองที่อยู่อาศัยและการช่วยเหลือทางด้านอาหารโภชนาการ รวมเม็ดเงินทั้งสิ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ เม็ดเงินอีก 440,000 ล้านดอลลาร์นำไปช่วยเหลือ SMEs และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการขนส่ง การลงทุนทางด้านไอทีดิจิทัลและ Cybersecurity กองทุนช่วยเหลือเด็กในรูป กองทุน Childcare Stabilization Fund การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและ Tax credit ต่าง ๆ มีเงินงบประมาณสนับสนุนไปยังสถานศึกษาเพื่อให้มีการเปิดการเรียนการสอนอย่างปลอดภัย (Safety Reopen and Operate Schools) เป็นต้น

การก่อหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ยอดรวมตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์ต่อเนื่องมายังรัฐบาลโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกาสามารถทำได้เพราะเงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักของระบบการเงินโลกอยู่ การก่อหนี้ในระดับนี้ย่อมส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในระยะปานกลางและระยะยาว และ สหรัฐอเมริกาอาจใช้วิธีการจ่ายหนี้ด้วยการทำให้เกิดเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นช่วยลดหนี้สาธารณะผ่าน 3 ช่องทาง ช่องทางแรก ปล่อยเงินเข้ามาในระบบเพิ่มจนเกิดเงินเฟ้อ (Seigniorage) ช่องทางที่สอง อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆลดมูลค่าที่แท้จริงของหนี้สาธารณะ หรือทำให้มูลค่าหนี้ภาครัฐลดลงนั่นเอง ช่องทางที่สาม เงินเฟ้อส่งผลต่อดุลการคลังของประเทศ จากงานวิจัยของ Krause and Moyen โดยอาศัย Long Term Public Debt ภายใต้ New Keynesian Model พบว่า การเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ 2-6% ทำให้หนี้สาธารณะลดลงได้ถึง 29% การศึกษาไม่ได้รวมผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ

นายอนุสรณ์ ระบุอีกว่าขณะเดียวกันก็อาจมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่แผนการใช้งบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์อาจถูกปรับลดโดยรัฐสภา เนื่องจากเกรงผลกระทบจากวิกฤติการขาดดุลงบประมาณมหาศาลและหนี้สาธารณะ ผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดการเงินเป็นอย่างไรต้องรอประเมินอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระแสเม็ดเงินไหลกลับตลาดการเงินสหรัฐฯอาจทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างแต่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการอ่อนค่าอันเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังมีการขาดดุลการค้าและขาดดุลงบประมาณมหาศาล

ส่วนการที่รัฐบาลไทยแจกเงินเพิ่มอีก 3,500 บาท 2 เดือน พร้อมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” อีกหนึ่งล้านสิทธิ และ ลดค่าน้ำค่าไฟอีก 2 เดือนนั้นไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงแต่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มี Lockdown ในบางพื้นที่ โดยภาพรวมแล้วมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิดรอบใหม่ไม่เพียงพอ เพียงบรรเทาไปได้ช่วงสั้นๆ โจทย์ของรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้ ภาคส่งออก ภาคลงทุน ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเลิกจ้างรอบใหม่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์การลดเงินเดือนลดชั่วโมงการทำงาน ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเน้นยึดหลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว รัฐบาลควรเน้นเจรจาหารือกับผู้ชุมนุม ละเว้นการใช้ความรุนแรง หรือ จับกุมด้วยความรุนแรงเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ คือ เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติและต้องดูแลบ้านเมืองต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะพวกเขาจะต้องแบกรับภาระสังคมผู้สูงวัยหนักมาก และ ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ได้สร้างเอาไว้และสะสมหมักหมมเอาไว้จนยากที่จะแก้ไขหากไม่ใช้ “แนวทางการปฏิรูปครั้งใหญ่” ไม่จับกุมผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงอันนำมาสู่เหตุการณ์บานปลายกระทบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายอนุสรณ์ ยังเสนอประเด็นเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2565 และ การก่อหนี้สาธารณะว่ารัฐบาลควรก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศ และมีความเห็นว่า งบประมาณปี 2565 ที่มีการกำหนดวงเงินแผนการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากปี 2564 เป็นการกำหนดวงเงินการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจต่ำกว่าประมาณการมากพอสมควรแม้นมีแนวโน้มเป็นบวกก็ตาม งบประมาณวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและการว่างงานยืดเยื้อ กรอบวงเงินการใช้จ่ายปี 2565 นั้นลดลงถึง 5.66% หรือ ประมาณ 185,900 ล้านบาท ควรเพิ่มกรอบวงเงินการใช้จ่ายอีกอย่างน้อย 2-3% แทนที่จะลดลง 5-6% โดยให้เพิ่มไปที่งบลงทุนอย่างต่ำอีก 100,000-200,000 ล้านบาท เพื่อการจ้างงานในประเทศโดยเฉพาะระบบชลประทานขนาดเล็ก การขุดลอกคูคลองแม่น้ำและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับทักษะการทำงานทั้งระบบ จึงเสนอให้ทำงบประมาณปี 2565 เพิ่มจากงบประมาณปี 2564 อีกอย่างน้อย 2-3%

โดยให้แหล่งรายรับมาจากสองส่วน คือ กู้เงินและเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้ง ภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีออนไลน์ และ ภาษี Betterment Tax เป็นต้น การที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการอัตราการขยายตัวปี 2565 อยู่ที่ 3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% มีความเป็นได้ที่เกิดขึ้นจริงน้อยมาก หากเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ควรต้องทบทวนให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินตามอัตราที่เคยกำหนดเอาไว้เดิมไม่ควรปรับลดลง ก่อนที่จะพิจารณากู้เงินเพิ่มจากที่วางแผนไว้จะก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 700,000 ล้านบาทอาจต้องกู้ 1 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย ส่วนหนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน 60% ของจีดีพีหรือไม่ อยู่ที่ว่า รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแค่ไหน หากรัฐบาลนำเงินกู้ไปใช้จ่ายอย่างมียุทธศาสตร์ ตรงเป้าหมาย มีประสิทธิภาพสูงไม่รั่วไหลทุจริตคอร์รัปชันแล้ว มันจะกลับมาเป็น รายได้ของประชาชน รายได้ของภาคธุรกิจ มีการจ้างงานในระบบเพิ่มขึ้น แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลงโดยอัตโนมัติ การกู้เงินเพิ่มถึง 1 ล้านล้านบาท (จากที่วางแผนกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 65 เพียงแค่ 700,000 ล้านบาท) ก็จะไม่สร้างปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในระยะปานกลางหรือระยะยาวแต่อย่างใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: