รมว.คลัง เผย ครม. มีมติเห็นชอบโครงการ 'เราชนะ' ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรค COVID-19 โดยจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 วงเงินโครงการรวม 210,200 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: เดลินิวส์
19 ม.ค. 2564 สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการเราชนะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินโครงการรวม 210,200 ล้านบาท
คาดว่าจะสามารถเริ่มสนับสนุนวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยวงเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพดังกล่าว จะก่อให้เกิดการนำไปใช้เพื่อการใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง อันจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน
การพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับสิทธิจะพิจารณาจากความสามารถด้านรายได้ การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ได้รับไปแล้วเป็นสำคัญ ซึ่งความช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น โดยผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
นายอาคม กล่าวว่า เพื่อความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าของชีพให้แก่ประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ ภาครัฐจะคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลกลุ่มที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วเป็นอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าวสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2564 ในช่วงเวลา 06.00 - 23.00 น.
"โครงการเราชนะ จะมีเป้าหมายกว้างกว่าโครงการคนละครึ่ง ครอบคลุมผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง อาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อย ทั้งหาบเร่แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร...จะให้สิทธิผ่านแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือทั้งหมด เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการรับโอนเงินจากรัฐบาล ลดภาระแบบปีที่แล้ว ที่ต้องมีการมาเข้าคิวกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม โดยจะโอนเงินเข้าแอป เป๋าตัง" รมว.คลังระบุ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการเราชนะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสะสมวงเงินช่วยเหลือและสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 โดยรูปแบบการจ่ายเงินจะมีลักษณะเป็นการจ่ายรายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลาได้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในรูปแบบของวงเงินช่วยเหลือผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
1. กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือตลอดระยะโครงการฯ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น
1.1 กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท
1.2 กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาท
ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
2. กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ (กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง") ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"ฯ สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
3. กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"ฯ (กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลฯ) หลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ก่อน จึงจะได้รับวงเงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลฯ สามารถตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
อย่างไรก็ดี กลุ่ม 2 และ 3 จะได้รับเงินโอนเข้าช้ากว่ากลุ่ม 1 ดังนั้น รัฐบาลจะทบต้นโดยโอนให้ในงวดแรก 2,000 บาท
สำหรับผู้ได้รับสิทธิตามโครงการฯ สามารถใช้วงเงินช่วยเหลือได้ที่ (1) ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ (2) ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และ (3) ร้านค้าและผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเราชนะ ทั้งนี้ สำหรับร้านค้าและผู้ให้บริการที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม - 31 มีนาคม 2564
"ผู้ที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าตามร้านค้าที่ได้สิทธิเข้าโครงการ เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งอยู่แล้ว รวมทั้งใช้จ่ายในค่าบริการขนส่ง เช่น แท็กซี่ วินมอร์เตอร์ไซค์ ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในโครงการเราชนะ...เมื่อโอนเงินเข้าไปแล้ว ระยะเวลาการใช้งานจะมากกว่าคนละครึ่ง โดยยืดให้ถึง 31 พ.ค.64 เมื่อเงินอยู่ในกระเป๋า ก็ต้องวางแผนการใช้งานให้ดี" รมว.คลังกล่าว
ส่วนโครงการคนละครึ่ง ในรอบเก็บตกจากเฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งยังมีสิทธิเหลืออีก 1.34 ล้านสิทธินั้น จะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ คนละครึ่ง.com ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 20 ม.ค.64 โดยเริ่มใช้สิทธิซื้อสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.64 ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ก่อนจะใช้สิทธิต้องรอรับ SMS แจ้งยืนยันก่อน
นายอาคม ประเมินว่า คนละครึ่ง มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเฟสละ 6 - 7 หมื่นล้านบาท แต่โครงการเราชนะ รัฐบาลจ่ายฝ่ายเดียว ดังนั้น เม็ดเงิน 2.1 แสนล้านบาทใช้ได้ถึง พ.ค.64 ซึ่งเงินจะหมุนเวียนไปในระบบเศรษฐกิจ คาดว่ามีผลต่อ GDP ราว 0.5-0.6% และถ้ารวมกับโครงการคนละครึ่งแล้ว ก็จะได้ราว 1%
"จะเกิดการหมุนเวียนแบบเศรษฐกิจชาวบ้าน เป็นกำลังซื้อสำคัญ ตอนนี้เศรษฐกิจเรา ดีมานด์จากต่างประเทศยังไม่มา โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หากการบริโภคที่เข้าไปกระตุ้น จะทำให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น เราต้องกระตุ้นการบริโภคต่างประเทศให้มากขึ้น" รมว.คลังระบุ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ