มูลนิธิเอเชียฯ เผยความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เป็นปัญหาสำคัญของการเรียนออนไลน์

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2729 ครั้ง

มูลนิธิเอเชียฯ เผยความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เป็นปัญหาสำคัญของการเรียนออนไลน์

มูลนิธิเอเชียฯ เผยความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เป็นปัญหาสำคัญของการเรียนออนไลน์ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนุนใช้ Thailand Learning เป็นทางออกในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย รายงานเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2564 ว่าการศึกษาเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกครั้ง เมื่อถึงเวลาที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเพื่อยกระดับสู่ความมั่นคง เพราะการศึกษาคือรากฐานของทุกสิ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังติดปัญหาสำคัญในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมาก

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ชัดเจนมากขึ้น โรงเรียนที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี ทั้งห้องคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน จะสามารถตอบสนองการเรียนการสอนออนไลน์ ได้มากกว่าโรงเรียนที่ห่างไกลและขาดความพร้อม เมื่อต้องหยุดเรียนไปหลายเดือน นักเรียนที่ไม่มีเครื่องมือจะส่งผลให้การเรียนหยุดชะงัก แต่อย่างไรก็ตามโควิด 19 ก็ได้ทำให้นักเรียนรู้ว่าจะต้องกระตือรือร้นหาความรู้ ในรูปแบบการศึกษาตลอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ทางมูลนิธิเอเชียฯ จึงได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย จัดทำเว็บพอร์ทัลภายใต้ชื่อ www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการเรียนรู้ทั่วโลกให้กับเด็กไทย ที่มีการจัดระบบให้เข้ากับแต่ละชั้นปี มีหมวดหมู่ที่ชัดเจน เป็น One Stop Service ที่นักเรียนสามารถเข้ามาใช้เวลาเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ตามความสนใจ ในลักษณะการศึกษาตามความต้องการของแต่ละบุคคล (on demand) ภายใต้ปรัชญาการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นด้วยตนเองในทุกสถานที่และตลอดเวลา โดยสิ่งที่มูลนิธิเอเชียคาดหวังให้เกิดขึ้นมากกว่านี้คือ การผลักดันให้คุณครูได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างบทเรียนที่เข้มแข็ง ซึ่งเว็บพอร์ทัลมีตัวอย่างและเกมจากต่างประเทศ เป็นห้อง สมุดขนาดใหญ่ และแหล่งสืบค้นข้อมูลให้กับโรงเรียน โดยตัวเว็บไซต์ได้มีการพัฒนาเนื้อหา และอัพเดทอยู่ตลอดเวลา

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ทางมูลนิธิเอเชียฯ ยังได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลการวิจัย เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้พบว่านอกเหนือจากความยากจนแล้ว ยังมีเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรที่ยังเป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานของเยาวชนไทยไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ จากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียนว่าการเรียนรู้คืออะไร ส่วนใหญ่ให้คำตอบว่าคือการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้จากการลงพื้นที่ ยังได้เห็นถึงความกระตือรือร้น ความเข้าใจ รวมถึงความหวังที่การศึกษาจะทำให้ชีวิตเขาดีและมีโอกาสมากขึ้น ในส่วนของเรื่องความเหลื่อมล้ำพบว่ามีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็น โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานที่ในแต่ละโรงเรียนมีไม่เท่ากัน ทั้งในด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเตอร์เนต ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพไม่ทัดเทียมกัน โดยในเรื่องนี้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรจะจับมือพูดคุยกันว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง และที่สำคัญก็เรื่องการศึกษาควรจะไม่ใช่งานอดิเรกหรือไม่ใช่เทรนด์ที่พูดแล้วเท่ แต่ควรเป็นอาหารหลักของบทสนทนาในทุกกระทรวง ทุกคนควรมีส่วนร่วมในความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาไปในทิศทางที่ยั่งยืนและมั่นคงค่ะ” ดร.รัตนา กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายอเล็กซ์ วิลล์ส เลขานุการโท ฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียฯ ได้กล่าวว่า “สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ได้มีความร่วมมือกับประเทศไทยมายาวนานในหลายด้าน อาทิ การทูต การค้า-การลงทุน การทหาร ฯลฯ สำหรับด้านการศึกษาได้มีความร่วมมือมาหลายสิบปี ทั้งโครงการให้ทุนการศึกษาและอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญอย่างมาก สำหรับโครงการ Thailand Learning เป็นการทำงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปีแล้ว เป็นสิ่งที่ทางสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียมีความภาคภูมิใจ เพราะได้มีส่วนทำให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทางออนไลน์ได้ครับ”

สำหรับนักเรียน, ครูอาจารย์, ผู้ปกครอง และผู้สนใจที่ต้องการศึกษาหาความรู้, ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ หรือแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถคลิกไปใช้บริการที่ www.thailandlearning.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


สนใจชมคลิปการสัมภาษณ์ฉบับเต็ม จากรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอน Thailand Learning สู่ความท้าทายการศึกษาไทย คลิก : https://www.youtube.com/watch?v=fszvHXhaYlA&t=161s

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: