เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2564 Rocket Media Lab เปิดบทสำรวจการรับปริญญาในประเทศที่มีกษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันใน 196 ประเทศทั่วโลก มี 44 ประเทศที่ยังมีกษัตริย์ หรือคิดเป็น 22% โดย 13 ประเทศอยู่ในเอเชีย 12 ประเทศอยู่ในยุโรป 10 ประเทศอยู่ในอเมริกาเหนือ 6 ประเทศอยู่ในโอเชียเนีย และ 3 ประเทศอยู่ในแอฟริกา
ประเทศที่มีกษัตริย์รับปริญญากันยังไง
สำหรับพิธีการมอบปริญญาบัตรในประเทศที่มีกษัตริย์นั้น จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน พบว่า ประเทศที่สถาบันกษัตริย์/ราชวงศ์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมี 13 ประเทศ คือ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต การ์ตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน โอมาน บรูไน ไทย ภูฏาน ตองกา มาเลเซีย และเอสวาตีนี
เช่น ในซาอุดิอาระเบีย มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในซาอุดิอาระเบียมีความผูกพันกับรัฐ (ราชวงศ์) เป็นอย่างมาก เพราะก่อตั้งโดยราชวงศ์ และในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีตัวแทนราชวงศ์ของรัฐต่างๆ ไปร่วมงานมอบปริญญาบัตร เช่น Muhammad bin Nayef Al Saud หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Governor of Eastern Province, Saudi Arabia เสด็จเป็นประธานในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย King Fahd University of Petroleum and Minerals หรือ Mishaal bin Abdullah Al Saud หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ก็จะเสด็จร่วมงานพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย King Abdulaziz University ส่วน HRH Prince Khalid Bin Bandar bin Abdulaziz, Governor of Riyadh ก็จะไปมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัย King Saud University
หรือบรูไนดารุสซาลาม ในการจัดพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย Universiti Brunei Darussalam ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของบรูไน อยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ Hassanal Bolkiah โดยจะเสด็จเป็นประธานในพิธีและพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในช่วงเช้า ในขณะที่ช่วงบ่ายทรงมอบหมายให้มกุฎราชกุมาร Al-Muhtadee Billah เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร
แต่ถึงกระนั้นก็มีความแตกต่างกันไปทั้งกษัตริย์เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรด้วยตัวพระองค์เอง ได้แก่ ภูฏาน ไทย บรูไน การ์ตา ตองกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย เลโซโท และเอสวาตีนี หรือมอบให้ผู้แทนพระองค์ทั้งที่เป็นราชวงศ์และผู้แทนพระองค์อื่นๆ ไปแทน เช่น โอมาน ในการจัดพิธีรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย Sultan Qaboos ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงของโอมาน จะอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ Haitham bin Tariq Al Said (ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ในพิธี) โดยทรงมอบหมายให้ Mohammed bin Al Zubair ที่ปรึกษาฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจเป็นผู้ดูแล
ในขณะที่ประเทศที่มีกษัตริย์ส่วนใหญ่ในยุโรปนั้น กษัตริย์/ราชวงศ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศ เช่น เบลเยียม นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก แต่ในบางประเทศถึงแม้ไม่มีการเสด็จของกษัตริย์/ราชวงศ์ ในฐานะพระราชกรณียกิจประจำ ก็ปรากฏความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ในสเปน กษัตริย์ Felipe VI จะเสด็จร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรของผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากวิทยาลัยตุลาการ Barcelona Judicial College (เสด็จทุกปี 20 ปีติดต่อกันจนกระทั่งในปี 2020 ปฏิเสธที่จะร่วมงานเป็นครั้งแรก) โดยวิทยาลัยตุลาการเป็นหน่วยงานสาธารณะที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาตุลาการทั่วไป (CGPJ) ของสเปน
ในเดนมาร์ก แม้กษัตริย์และราชวงศ์จะไม่ได้เสด็จร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของเดนมาร์กอย่าง University of Copenhagen หรือมหาวิทยาลัยใดๆ แต่ในวันพิธีเฉลิมฉลองการก่อตั้งของมหาวิทยาลัย University of Copenhagen ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน จะมีสมาชิกราชวงศ์เข้าร่วมงานด้วยทุกครั้ง
หรือในสวีเดน แม้กษัตริย์และราชวงศ์จะไม่ได้เสด็จร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของสวีเดน อย่าง Lund University หรือ Stockholm University แต่กับมหาวิทยาลัย Sophiahemmet University อันเป็นมหาวิทยาลัยพยาบาล ตั้งขึ้นโดย Queen Sophia ในปี 1884 ซึ่งตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนี้จะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยกษัตริย์สวีเดน และในการงานพิธีมอบปริญญาบัตร มีการให้ผู้แทนอย่างเจ้าหญิงโซเฟียเป็นผู้เสด็จมอบปริญญาบัตร โดยมีการจัดพิธีอย่างเป็นทางการ และผู้รับปริญญาสวมชุดพิธีการและสวมทับด้วยครุยประจำมหาวิทยาลัย
ในขณะที่ประเทศในเครือจักรภพ พบว่าควีนเอลิซาเบธ ไม่ได้เสด็จร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยใดๆ ทั้งในสหราชอาณาจักรและในเครือจักรภพ โดยเฉพาะประเทศในแถบหมู่เกาะ พบว่าในหลายประเทศผู้ที่มีส่วนโดยตรงในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศก็คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและคนในฝั่งรัฐบาลเข้าร่วมด้วย เช่น ปาปัวนิวกินี เซนต์ลูเซีย แอนติกาและบาร์บูดา ตูวาลู หรือหมู่เกาะโซโลมอน และในหลายประเทศพิธีมอบปริญญาบัตรมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอีกด้วย เช่น เซนต์ลูเซีย
‘ครุย’ เครื่องแบบสำหรับพิธีมอบปริญญาบัตร
พิธีมอบปริญญาบัตรในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ส่วนมากยังใส่ครุยเป็นเครื่องแบบหลัก ซึ่งมีทั้งแบบชุดทางการ ที่ผู้รับปริญญาแต่งเหมือนกันทั้งหมด เช่นในประเทศไทย หรือในประเทศโอมาน ที่พิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย Sultan Qaboos สตรีผู้เข้ารับปริญญาจะสวมชุดตามหลักศาสนาทับด้วยครุย ที่มีลักษณะเป็นเครื่องแบบฮิญาบสีเดียวกัน (สีม่วง)
หรือในแบบกึ่งทางการ เช่น การสวมชุดสุภาพ/ชุดสวยงาม ทับด้วยครุย เช่น พิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยคูเวต ซึ่งมีตัวแทนราชวงศ์เสด็จ สตรีผู้เข้ารับปริญญาจะสวมชุดสุภาพตามหลักศาสนาสวมทับด้วยครุยแต่ฮิญาบไม่จำเป็นต้องสีเดียวกัน และสตรีที่ไม่ใช่มุสลิมไม่ต้องสวมฮิญาบ
ที่มาเลเซีย พิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย Universiti Malaysia Pahang กษัตริย์ Abdullah of Pahang เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร สตรีผู้เข้ารับปริญญาจะสวมชุดสุภาพตามหลักศาสนาที่สวยงามหลากสีไม่จำเป็นต้องเหมือนกันสวมทับด้วยครุย ฮิญาบไม่จำเป็นต้องสีเดียวกัน และสตรีที่ไม่ใช่มุสลิมไม่ต้องสวมฮิญาบ
หรือในแบบลำลองกับการสวมชุดสวยงามทับด้วยครุย เช่นที่เลโซโท ซึ่งกษัตริย์ King Letsie III เสด็จร่วมงานพระราชทานปริญญาบัตร
มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่พิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของประเทศ ไม่จำเป็นต้องสวมครุย ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สวีเดน ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ อันดอร์รา และญี่ปุ่น
เข้ารับปริญญาแต่งสวยได้แค่ไหน
สำหรับเรื่องการแต่งหน้า ทรงผม และการสวมใส่เครื่องประดับของผู้เข้ารับปริญญาใน 13 ประเทศที่สถาบันกษัตริย์/ราชวงศ์ เกี่ยวข้องกับพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศโดยตรง จากการทำงานของ Rocket Media Lab พบว่า มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่เข้มงวดกับการแต่งหน้าทำผม และการห้ามสวมใส่เครื่องประดับอย่างเคร่งครัด
ในขณะที่ประเทศมุสลิมในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งสถาบันกษัตริย์/ราชวงศ์ เสด็จร่วมในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเช่นเดียวกัน กลับพบว่าสามารถแต่งหน้าและทำทรงผมได้หลากหลาย รวมไปถึงยังสามารถสวมใส่เครื่องประดับได้ ทั้งต่างหู สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน เช่น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต การ์ตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หรือแม้กระทั่งประเทศในเอเชีย ซึ่งกษัตริย์/ราชวงศ์ เสด็จร่วมในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ก็ยังสามารถแต่งหน้าและทำทรงผมได้หลากหลาย รวมไปถึงยังสามารถสวมใส่เครื่องประดับได้ เช่น บรูไนดารุสซาลาม ภูฏาน มาเลเซีย
พิธีมอบปริญญาเอาอะไรเข้าไปได้บ้าง
พิธิรับปริญญาบัตรในประเทศที่กษัตริย์/ราชวงศ์เสด็จร่วมงานพิธีหลายประเทศมีรูปแบบเป็นงานเฉลิมฉลองมากกว่าเป็นพิธีการที่เข้มงวด เช่น ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมักจัดงานในสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่จุคนได้มาก รวมถึงมีการแสดง โดยผู้รับปริญญาสามารถพกโทรศัพท์มือถือ และเชิญญาติเข้าร่วมพิธีได้
ขณะที่ประเทศที่กษัตริย์เสด็จร่วมพิธีเช่นกัน อย่างบรูไนและมาเลเซีย แม้จะมีลักษณะงานรับปริญญาที่มีความเป็นทางการ แต่ก็อนุญาตให้บัณฑิตพกมือถือเข้างาน และเชิญญาติเข้าร่วมได้
โดยมีเพียงไทยและภูฏาน ที่ไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในพื้นที่พิธี รวมถึงไม่อนุญาตให้ญาติเข้าร่วมในพื้นที่พิธี
Disclaimer: ข้อมูลนี้มาจากการสำรวจเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงในประเทศที่มีกษัตริย์ ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ : https://tinyurl.com/monarchy-degree ติดต่อ Rocket Media Lab: contact.rocketmedialab@gmail.com https://www.facebook.com/rocketmedialab.co |
เกี่ยวกับ Rocket Media Lab Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์ Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564 https://rocketmedialab.co |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ