Rocket Media Lab: ทำไมคนไทยต้องเสียเงินซื้อน้ำดื่ม 45% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 7236 ครั้ง


Rocket Media Lab พาไปสำรวจว่า หากต้องจ่ายเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดบริโภคให้เพียงพอในหนึ่งวันประมาณ 2 ลิตร ตามที่สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์ของ สหรัฐอเมริกา (The U.S. National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine) แนะนำ คนในแต่ละประเทศต้องทำงานกี่นาทีเมื่อเทียบจากค่าแรงขั้นต่ำ โดยประเทศที่นำมาเปรียบเทียบ เป็นประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งจำนวนแหล่งน้ำจืดในประเทศ, GDP ต่อหัว (GDP Per Capita PPP), ความหนาแน่นประชากร, ดัชนีการพัฒนามนุษย์, และสัมประสิทธิ์จีนี 

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน พบว่าจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งสำรวจเพื่อออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไป 244 ประเทศทั่วโลก (รวมเขตปกครองพิเศษ) มีประเทศที่น้ำประปาได้รับการแนะนำว่าสามารถดื่มได้เพียง 56 ประเทศ ในขณะที่อีก 188 ประเทศ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยง ส่วนไทยนั้นเป็นประเทศที่ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา โดยมีระดับคุณภาพของน้ำประปาตามการสำรวจของ CDC เพียง 30%

ซื้อน้ำดื่ม 2 ลิตรต่อวัน ใช้เงินเท่าไหร่ 

Rocket Media Lab พาไปสำรวจว่า หากต้องจ่ายเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดบริโภคให้เพียงพอในหนึ่งวันประมาณ 2 ลิตร ตามที่สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (The U.S. National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine) แนะนำ  คนในแต่ละประเทศต้องทำงานกี่นาทีเมื่อเทียบจากค่าแรงขั้นต่ำ โดยประเทศที่นำมาเปรียบเทียบ เป็นประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งจำนวนแหล่งน้ำจืดในประเทศ, GDP ต่อหัว (GDP Per Capita PPP), ความหนาแน่นประชากร, ดัชนีการพัฒนามนุษย์, และค่าสัมประสิทธิ์จีนี 

สำหรับประเทศไทย พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงคือ 41.31 บาท หากต้องซื้อน้ำดื่มเพื่อบริโภคให้เพียงพอในหนึ่งวัน จะต้องใช้เงิน 18.70 บาท หรือ 45% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง คิดเป็นการทำงานราว 27 นาทีจึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำ ขณะที่กานา ที่มีประชากรหนาแน่นพอกับไทยและ CDC ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำประปา หากต้องซื้อน้ำดื่ม ต้องจ่าย 362.66% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง หมายความว่าชาวกานา ต้องทำงาน 3.63 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 217 นาที เพื่อให้มีเงินเพียงพอซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่สะอาดและคุณภาพดี 

ที่น่าสนใจคือมัลดีฟส์ ประเทศที่มี GDP ต่อหัวใกล้เคียงกับไทย มัลดีฟส์มีสภาพเป็นหมู่เกาะ รอบล้อมไปด้วยมหาสมุทร มีระบบเก็บกักน้ำฝนที่มีประสิทธิภาพ และพึ่งพาการกลั่นน้ำทะเลเป็นหลัก แต่คุณภาพน้ำประปาในมัลดีฟส์ตามการสำรวจของ CDC อยู่ที่ 19% เท่านั้น และหากต้องซื้อน้ำดื่ม ชาวมัลดีฟส์ต้องทำงาน 33.23 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำดื่มบรรจุดขวดในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย

ไม่ไกลจากไทยเท่าใดนัก ฟิลิปปินส์ ซึ่งใกล้เคียงกับไทยเรื่องค่าสัมประสิทธิ์จีนี น้ำประปาในประเทศไม่ได้รับการแนะนำจาก CDC ให้ดื่มเช่นเดียวกัน หากชาวฟิลิปปินส์ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ต้องทำงาน 45.71 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำดื่ม 2 ลิตร 

แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรของจีน ไทยไม่อาจเทียบได้เลย แต่จีนก็ยังมีความใกล้เคียงกับไทยในด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์ ทั้งนี้ CDC ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำประปาในจีนเช่นกัน ดังนั้น หากชาวจีนต้องการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดดื่ม ต้องทำงาน 14.35 นาที จึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำ 

ขณะที่ฝรั่งเศส ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรที่ 123 คนต่อตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับไทย แต่น้ำประปาในฝรั่งเศสสามารถดื่มได้ ยกเว้นในชนบทและอ่างล้างมือในห้องน้ำรถไฟ ซึ่งในกรณีนี้จะมีป้ายบอกอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถดื่มได้ โดยคุณภาพน้ำทั่วฝรั่งเศสคิดเป็น 61% หากประชาชนอยากซื้อน้ำดื่ม ก็ทำงานเพียง 8.73 นาทีเท่านั้น ก็จะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำดื่มบรรจุขวดแล้ว แต่ทั้งนี้ประชาชนฝรั่งเศสก็อาจจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ เนื่องจากน้ำประปาในฝรั่งเศสดื่มได้ทั่วไป และยังมีสิทธิเข้าถึงน้ำประปาดื่มได้ฟรีแม้แต่ในร้านอาหารก็ตาม โดยที่รัฐออกกฎหมายให้ร้านอาหารต้องให้น้ำประปาดื่มฟรีโดยไม่คิดเงิน 

ประเทศที่พัฒนาแล้วน้ำประปาดื่มได้?

แม้จะใช้ตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน แต่จะเห็นได้ว่าในแต่ละตัวชี้วัดนั้น ประเทศที่แม้จะมีความใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว น้ำประปาในประเทศนั้นก็จะสามารถดื่มได้ เช่น อิตาลี มีแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศใกล้เคียงกับไทย แต่น้ำประปาในประเทศดื่มได้ หากน้ำประปาตรงจุดไหนที่ไม่สามารถดื่มได้ จะระบุไว้ว่า “Acqua non potabile (น้ำไม่เหมาะสำหรับดื่ม)” 

นอกจากนี้น้ำประปาในบางพื้นที่ของอิตาลี (เช่น ซาร์ดิเนีย หรือพื้นที่ทางใต้) อาจมีสีขุ่น รสชาติผิดเพี้ยน ชาวอิตาลีบางคนก็เลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเพื่อความปลอดภัย แต่ที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงโรม สามารถดื่มน้ำประปาได้ทั่วไป และพกขวดไปเติมได้ตลอด 

ในขณะที่ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว หรือ GDP ต่อหัวใกล้เคียงกันกับไทย เช่น มัลดีฟส์ อิเควทอเรียลกินี โดมินิกัน รีพับลิก และเซอร์เบีย เป็นประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนา ซึ่ง CDC ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำประปา เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนในแต่ละชั่วโมงนั้น ไม่เพียงพอแม้แต่จะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ปัจจัยเรื่องน้ำดื่มจึงเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีและทั่วถึง 

น้ำประปาดื่มได้คือสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง

น้ำเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นทรัพยากรของสาธารณชนที่จะต้องแบ่งปัน ปกป้อง จัดการร่วมกัน ไม่ใช่แหล่งในการแสวงหาผลกำไร กรณีที่เห็นได้ชัดคือ ที่สหรัฐอเมริกา บริษัทน้ำดื่มยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งยื่นขออนุญาตสูบน้ำออกจากน้ำพุร้อนธรรมชาติ เพื่อนำไปใส่ขวดขายวันละล้านแกลลอน ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยแล้ง และผลกระทบจากอุตสาหกรรมน้ำดื่มเหล่านี้ เมื่อสูบน้ำออกไปแล้ว มักทำให้ผิวหน้าดินแห้ง กระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ 

บรรษัทบรรจุน้ำดื่มขวด กลายเป็นผู้ผูกขาดทรัพยากรน้ำบาดาล น้ำพุธรรมชาติ หรือแม้แต่แหล่งน้ำสาธารณะเพื่อนำมาแสวงหาผลกำไร ขณะเดียวกันประชาชนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำเหล่านี้กลับต้องซื้อน้ำบรรจุขวดเพื่อนำมาใช้บริโภค ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามว่าน้ำควรเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ขายโดยเอกชน หรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ขณะที่กรีนแลนด์ที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดมีราคาแพง ราคา 1.5 ลิตรราคาอยู่ที่ 140 บาท (4.57 ดอลลาร์สหรัฐ) และนอร์เวย์ ที่ขายน้ำดื่มบรรจุขวด 1.5 ลิตร ในราคา 104 บาท (3.32 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ทั้งสองประเทศนี้สามารถดื่มน้ำประปาได้อย่างปลอดภัย สามารถพกขวดเติมได้ ดังนั้นประชาชนก็มีทางเลือกมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำดื่มแบบบรรจุขวด 

ที่อินเดียเอง ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 21 ระบุไว้ว่า ประชาชนอินเดียมีสิทธิที่จะมีน้ำและอากาศที่ปราศจากมลพิษเพื่อการมีชีวิตที่ดี เป็นบทบัญญัติเพื่อให้มีการบังคับใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน แม้ว่าน้ำประปาที่อินเดียคุณภาพไม่ดีนัก แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐาน

ประเทศไทยกับพันธกิจน้ำประปาดื่มได้และเข้าถึงได้ง่าย

ประเทศไทยนั้นอยู่ในรายชื่อประเทศที่ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา แต่กรมอนามัย และการประปานครหลวง เคยบอกว่า น้ำประปาไทยผ่านเกณฑ์คุณภาพ ตรงตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกดื่มได้ 100% เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยทดสอบดื่มน้ำเพื่อยืนยันว่าน้ำประปาสามารถดื่มได้จริง ทั้งยังกล่าวว่าที่บ้านตนเองก็ดื่มน้ำประปาเป็นประจำ 

แม้จะบอกว่าน้ำประปาดื่มได้ แต่ความสะอาดนั้นไม่ได้หมายถึงคุณภาพน้ำอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคุณภาพของท่อลำเลียงน้ำ ที่จะส่งต่อน้ำไปให้ประชาชนใช้ด้วย ซึ่งนายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า การประปานครหลวงมีการควบคุมคุณภาพน้ำทุกขั้นตอน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชากร แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับปรุงระบบท่อ และการซ่อมท่อให้ได้มาตรฐาน เพื่อคงคุณภาพน้ำประปาปลายทาง

ปัญหาท่อลำเลียงน้ำประปาไม่สะอาด ทำให้การประปานครหลวงไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำประปาปลายทางได้ 100% ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในคุณภาพน้ำประปา และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยังเกิดวิกฤตน้ำประปาเค็ม จนท้ายที่สุดประชาชนก็ต้องหันไปซื้อน้ำดื่มเพื่อบริโภค 

อย่างไรก็ตามมีความพยายามผลักดันโครงการน้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ และโครงการแท่นน้ำประปาดื่มได้ในกรุงเทพฯ ดังที่การประปาส่วนภูมิภาคชี้ว่ามีแหล่งน้ำประปาดื่มได้ในประเทศไทยจำนวน 184 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ "โครงการน้ำประปาดื่มได้" เมื่อปี พ.ศ. 2542 ซึ่ง กปภ.ร่วมมือกับกรมอนามัย เมื่อ Rocket Media Lab สำรวจก็พบว่าการสร้างโครงการน้ำประปาดื่มได้ หยุดอัปเดตความเคลื่อนไหวในปี 2559 โดยสาขาล่าสุดคือที่จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณหน้าเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี และ หน้าสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 

ส่วนโครงการแท่นน้ำประปาดื่มได้ในกรุงเทพมหานครซึ่งริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 นั้น โดยปัจจุบันมีแท่นน้ำประปาดื่มได้รวมแล้วประมาณ 809 จุดทั่วกรุงเทพฯ แต่ปัญหาคือแท่นน้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น ริมถนน เมื่อรถวิ่งผ่านก็อาจมีเศษฝุ่นไปเกาะติดอยู่ที่ท่อน้ำ ทำให้เมื่อดื่มแล้วอาจได้รับสารปนเปื้อนเข้าไปด้วย ประชาชนเองก็ไม่แน่ใจว่ามีการตรวจเช็คแท่นน้ำประปาครั้งล่าสุดเมื่อใด รวมทั้งไม่มั่นใจเรื่องความสะอาดของท่อลำเลียงน้ำประปา และกลิ่นคลอรีนแรงอีกด้วย 

นอกจากนี้ในปัจจุบัน ไทยมีกฎหมายให้นายจ้างต้องจัดหาน้ำดื่มฟรีให้แก่ลูกจ้าง ตามกฎหมายการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งลูกจ้างบางแห่งก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามข้อกฎหมายนี้ ยังปรากฏสถานประกอบการหลายแห่งที่ลูกจ้างยังต้องซื้อน้ำดื่มเพื่อบริโภคระหว่างวัน 

ในการบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรน้ำ ยังพบว่าการประปานครหลวงมีการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดในชื่อ “PAPA” ขายในราคาย่อมเยาว์ ขนาด 600 ซีซีในราคา 3.75 บาท แต่หากต้องการซื้อต้องติดต่อที่การประปานครหลวงและสาขาย่อโดยตรงเท่านั้น ยังไม่มีหน้าร้านหรือส่งขายตามห้างสรรพสินค้า ให้เป็นทางเลือกแก่ประชาชน ดังนั้นการจะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดในราคาถูกก็ยังคงเข้าถึงได้ยากเช่นเดิม 

หากน้ำประปาดื่มได้จริงและเข้าถึงได้ง่าย

การทำให้น้ำประปาดื่มได้จริง เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เพราะน้ำคือปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่จำเป็น โดยเฉพาะในประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนา ที่ปรากฏค่าแรงขั้นต่ำนั้นน้อย แต่กลับต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มสะอาดมาเพื่อบริโภคในจำนวนเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 

เช่น คนเม็กซิกัน ต้องจ่ายเงินมากขึ้น 116.27% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง หรือทำงานมากถึง 1.16 ชั่วโมง จึงจะได้เงินเพื่อซื้อน้ำดื่ม ขณะที่ประชาชนกานาต้องทำงานถึง 3.63 ชั่วโมงจึงจะได้เงินเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำดื่มบรรจุขวดในปริมาณ 2 ลิตร เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ต้องจ่ายเงิน เพื่อจะได้มาซึ่งน้ำดื่มที่สะอาดในการบริโภคในการดำรงชีวิตในหนึ่งวัน 

จะดีแค่ไหนหากเงินจำนวน 45% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมง จะเป็นเงินที่ไม่ต้องจ่ายและถูกนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ โดยที่รัฐสามารถจัดหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตนี้ให้แก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงได้ฟรีและทั่วถึงดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มองว่าการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ฟรี และทั่วถึง คือหนึ่งในพันธกิจของรัฐในการบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 



หมายเหตุ: 

ข้อมูลน้ำประปามาจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control: CDC) และการวัดคุณภาพน้ำของ CDC เป็นค่าเฉลี่ยรวมกันของทั้งประเทศ ราคาน้ำดื่มอ้างอิงจาก numbeo.com 

ค่าเงินที่แปลงเป็นบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 7 พ.ค 2564

ดูข้อมูลพื้นฐาน https://tinyurl.com/tapwatersheet 

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: