จับตา: ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมุ่งสู่การเติบโตในอัตราเลขสองหลัก

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 3260 ครั้ง


รายงานที่จัดทำขึ้นโดยได้รับมอบหมายจากอเมซอน ระบุว่าการส่งออกอีคอมเมิร์ซแบบ B2C สามารถเติบโตจาก 1.102 แสนล้านบาทในปี 2564 ขึ้นเป็น 4.858 แสนล้านบาท ภายในปี 2569 นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับเอสเอ็มอีไทย 90% ของเอสเอ็มอีในประเทศไทยเชื่อว่า อีคอมเมิร์ซมีความสำคัญต่อการขยายตัวไปสู่ระดับโลก โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ที่ต่างประเทศมากกว่าในประเทศ | ที่มาภาพประกอบ: Tim Reckmann (CC BY 2.0)

กรุงเทพฯ ประเทศไทย 16 พ.ย. 2564 — มูลค่าการส่งออกประจำปีของอีคอมเมิร์ซแบบธุรกิจขายสินค้าให้กับลูกค้าผู้บริโภคโดยตรง (Business-to-Consumer: B2C) ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.102 แสนล้านบาทในปี 2564 และสามารถขึ้นแตะถึงระดับ 4.858 แสนล้านบาทในปี 2569 หากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSMEs) เร่งฝีเท้าของตัวเองได้ทันอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ ปัจจุบันคาดว่า MSMEs นั้นช่วยสนับสนุน 31% ของการส่งออกอีคอมเมิร์ซ B2C ในไทยในปี 2564

ผลวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนจากรายงานชิ้นใหม่ที่จัดทำขึ้นโดยได้รับมอบหมายจากอเมซอน (Amazon) เรื่อง “ผู้ขายสินค้าจากประเทศไทย และผู้บริโภคทั่วโลก: โอกาสเติบโตของธุรกิจไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ” (Local Sellers, Global Consumers: Capturing Thailand’s e-commerce export opportunity)” ที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ที่งาน เสวนา ของอเมซอนที่มีชื่อเดียวกันว่า “ผู้ขายสินค้าจากประเทศไทย และผู้บริโภคทั่วโลก: โอกาสเติบโตของธุรกิจไทยไปสู่ตลาดโลกด้วยการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ (Local Sellers, Global Consumers: Capturing Thailand’s e-commerce export opportunity)” โดยงานวิจัยดังกล่าวได้สำรวจ MSMEs กว่า 300 รายทั่วประเทศไทย รายงานดังกล่าวจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาชื่อว่า AlphaBeta ถือเป็นบทวิเคราะห์ด้านขนาดศักยภาพตลาดส่งออกอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงมุมมองของ MSMEs ในท้องถิ่น ไปจนถึงแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อช่วยให้ผู้ขายรายอื่น ๆ สามารถเพิ่มศักยภาพดังกล่าวได้

รายงานชิ้นนี้ได้รับการเปิดตัวที่งานเสวนาในรูปแบบออนไลน์ที่ร่วมจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (Department of International Trade Promotion: DITP) กระทรวงพาณิชย์ โดยมีหลายสิบหน่วยงานจากภาครัฐ รวมถึงสมาคมต่าง ๆ ผู้ขายในปัจจุบัน ตลอดจนผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ขาย เข้าร่วมงานในครั้งนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จาก DITP ยังแบ่งปันถึงวิธีที่รัฐบาลไทยตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ธุรกิจในประเทศสามารถเข้าถึงโอกาสด้วยอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ

เจมี่ เบรนแนน หัวหน้าทีมอเมซอนโกลบอลเซลลิ่ง ประจำประเทศไทย (Jamie Brennan, Head of Amazon Global Selling team in Thailand) กล่าวว่า “อเมซอนช่วยให้ทุกคนที่มีแนวคิดที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สามารถเริ่มขายสินค้าให้กับผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกทางออนไลน์ได้ เราช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กทำในสิ่งที่ธุรกิจขนาดใหญ่ทำ และทีมอเมซอนโกลบอลเซลลิ่งในประเทศไทยมุ่งมั่นอย่างสม่ำเสมอในการช่วยให้ผู้ขายสามารถคว้าโอกาสได้ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ที่กำลังเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจของพวกเขา รวมถึงเตรียมความพร้อมด้วยองค์ความรู้ ทรัพยากร และคอนเนคชันเพื่อขยายธุรกิจของตนออกสู่ทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน”

โอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการเติบโตระดับภูมิภาคสำหรับการส่งออกอีคอมเมิร์ซ

รายงานระบุว่า หากเทรนด์การนำอีคอมเมิร์ซมาใช้ในธุรกิจในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป มูลค่าการส่งออกอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ประจำปีในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตที่ 15% ต่อปีเป็น 2.198 แสนล้านบาทในปี 2569 เพิ่มขึ้นจาก 1.102 แสนล้านบาทในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หาก MSMEs เร่งการนำอีคอมเมิร์ซมาใช้เพื่อส่งออกสินค้า คาดว่ามูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และแตะถึง 4.858 แสนล้านบาทภายในปี 2569 หาก “อีคอมเมิร์ซแบบ B2C” จัดอยู่ในประเภทของการส่งออก ก็จะทำให้ไต่ระดับขึ้นสามอันดับกลายเป็นประเภทการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทยในเวลาห้าปี

MSMEs ในประเทศไทยได้รับการสำรวจ และมีการคาดการณ์ว่า ยอดขายในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น (39%) มากกว่าในประเทศ (17%) ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 90% เห็นด้วยว่าอีคอมเมิร์ซมีความสำคัญต่อศักยภาพโอกาสในการส่งออกของพวกเขา โดยมีแรงจูงใจอันดับต้น ๆ ประกอบไปด้วยความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าต่างประเทศ การเข้าถึงเครื่องมือทางการขายและการตลาดที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มตลาดขายของอีคอมเมิร์ซ และการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และระบบชำระเงินที่ได้รับจากตลาดขายของเหล่านี้ จากการสำรวจ 29% ของ MSMEs ในประเทศไทยระบุว่าการส่งออกผ่านทางอีคอมเมิร์ซปัจจุบันช่วยสร้างยอดขายอีคอมเมิร์ซประจำปีได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

ความท้าทายสำคัญที่ MSMEs ในประเทศต้องเผชิญในการส่งออกอีคอมเมิร์ซ

ท่ามกลางโอกาสในการเติบโตและการขยายตัวสู่ระดับโลกผ่านอีคอมเมิร์ซ จากผลสำรวจของ MSMEs ในประเทศไทยเปิดเผยว่า ความท้าทายที่สำคัญแบ่งออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ อุปสรรคในด้านต้นทุน กฎระเบียบ ข้อมูล และความสามารถ

ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูง ถือเป็นความท้าทายหลักที่ MSMEs ในประเทศไทยต้องเผชิญ โดย 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งเปรียบเทียบกับเพียง 42% ของ MSMEs ที่คิดว่าการสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อแก้ไขอุปสรรคในเรื่องของต้นทุนนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ 83% ของ MSMEs พบว่าต้นทุนที่สูงในการติดตั้งและการใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) ระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยจากผลสำรวจ พบว่ามีเพียง 41% ของ MSMEs ที่บอกว่าโปรแกรม e-payment ถือเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ในปัจจุบัน

และสุดท้าย ผลสำรวจเปิดเผยว่า 81% ของ MSMEs ระบุว่าการขาดข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการนำเข้าสินค้าในต่างประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งของการขายในต่างประเทศ มีเพียง 37% เท่านั้นที่รู้สึกว่านโยบายปัจจุบันเอื้ออำนวยต่อความพยายามในการส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซในทุกวันนี้

การรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและก้าวไปสู่ระดับโลก

จากรายงานดังกล่าว มีการเสนอให้มุ่งเน้นถึงนโยบาย 3 ด้านเพื่อสนับสนุน MSMEs ในประเทศไทยในความพยายามที่จะส่งออกสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการให้เงินสนับสนุนและการอุดหนุนจากภาครัฐในการส่งออกอีคอมเมิร์ซ การสร้างพันธมิตรและสร้างแรงจูงใจในการนำกรอบการทำงานของระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานร่วมกันได้ข้ามประเทศมาใช้งาน การจัดฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าในต่างประเทศ

นับตั้งแต่ที่ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2562 ทีมอเมซอนโกลบอลเซลลิ่งประจำประเทศไทยได้ช่วยเหลือผู้ขายในไทยหลายพันรายสามารถขยายธุรกิจออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วยการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกของอเมซอน ทีมงานได้ทุ่มเทให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ขายในไทยด้วยหลากหลายแง่มุมของการขายของบนอเมซอน ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2563 อเมซอนโกลบอลเซลลิ่งได้เปิดตัว Seller Central เวอร์ชันภาษาไทยสำหรับผู้ขายในไทย ทำให้ผู้ขายไทยสามารถใช้งานได้บนแดชบอร์ด ตั้งค่ารายการสินค้า ตรวจสอบการขาย และจัดการสินค้าคงคลังทั้งหมดเป็นภาษาไทย ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์การขายที่ทั้งสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“บานานาโจ (Banana Joe) มีความปรารถนาที่จะส่งชุดสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคในไทยและไปยังทั่วโลก ดังนั้นเราจึงตัดสินใจนำบานานาโจและผลิตภัณฑ์ของเราไปวางขายบนร้านค้าของอเมซอน ขั้นตอนนี้ถือได้ว่าเป็นบทบาทสำคัญต่อแผนกลยุทธ์ของเราในการขยับและขยายธุรกิจ นอกจากนี้ อเมซอนยังช่วยให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ซึ่งเราไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากขายผ่านช่องทางการขายแบบดั้งเดิม และบริการ Fulfillment by Amazon (FBA) ช่วยให้เราเลือก บรรจุ และจัดส่งสินค้า รวมไปถึงดูแลการบริการลูกค้าหรือแม้กระทั่งการส่งคืนสินค้า ปัจจุบันกว่า 90% ของรายได้ของเราในต่างประเทศมาจากร้านค้าต่าง ๆ ของอเมซอน และผมรู้สึกดีใจที่เราดำเนินธุรกิจมาได้ถูกทางแล้ว” คุณแนท มีชูบท จาก บานานาโจ กล่าว

ดาวน์โหลดรายงานวิจัยเรื่อง “Local Sellers, Global Consumers: Capturing Thailand’s e-commerce export opportunity”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: