กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งทำความเข้าใจเกษตรกร งดทำนาปรังรอบที่ 2 เสี่ยงเสียหายสิ้นเชิง
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 ว่านายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาฝนตกน้อยกว่าปกติ ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งถึงแล้งจัด อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำคงเหลือน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 1 บ้างแล้ว ซึ่งหากมีการปลูกข้าวอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ของปี (นาปรังรอบที่ 2) จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ นอกจากนี้จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์จากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือ เกษตรกรใน 14 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา งดปลูกข้าวได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน ลำพูน บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ราชบุรี ระยอง สระแก้ว ชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเกษตรกรควรพักนาและไถกลบฟางข้าวเพื่อเป็นปุ๋ย หรือเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน
นายเข้มแข็งกล่าวต่อว่า การปลูกข้าวในช่วงนี้จะทำให้เกษตรกรประสบปัญหาศัตรูพืชและโรคพืชเข้าทำลายได้ โดยศัตรูและโรคพืชที่สำคัญคือ โรคไหม้ข้าว มักพบในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อยและล่าช้า เพลี้ยไฟ มักพบโดยทั่วไป โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันหรือในสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ซึ่งเป็นศัตรูข้าวที่ทำความเสียหายทั้งในพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ดอน เพลี้ยไฟจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 20 วัน จึงสามารถทำความเสียหายให้กับนาข้าวเป็นบริเวณกว้างในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มักพบได้ในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้
สำหรับประโยชน์ของการพักนาไม่ปลูกข้าวต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลดีหลายด้านได้แก่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เนื่องจากพืชยืนต้นตาย ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว ปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนจะช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้ ทั้งนี้ในกรณีที่มีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ได้คือ กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง กลุ่มพืชสมุนไพร เช่น อัญชัน ตะไคร้ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรืองตัดดอก และอโกลนีมา และ กลุ่มพืชผัก เช่น ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ผักกินใบ พืชหัว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักสด และเห็ด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ