แนะลงทุนอุตสาหกรรมยา-การแพทย์ อย่างต่ำ 50,000 ล้านบาท สู้ COVID-19 กลายพันธุ์

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2304 ครั้ง

แนะลงทุนอุตสาหกรรมยา-การแพทย์ อย่างต่ำ 50,000 ล้านบาท สู้ COVID-19 กลายพันธุ์

นักวิชาการแนะลงทุนอุตสาหกรรมยา-การแพทย์ สำหรับ COVID-19 กลายพันธุ์และโรคระบาดอุบัติใหม่ อย่างต่ำ 50,000 ล้านบาท จัดตั้งในรูปกองทุน เตือนหากจำนวนผู้ติดเชื้อระลอก 3 เกินกว่า 3,000 รายต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คาดว่าอุปทานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์น่าจะไม่สามารถรองรับความต้องการในการรักษาได้ | ที่มาภาพประกอบ: Aluminium Trading

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ ม. รังสิต แสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนถึงการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ของไวรัส COVID-19 จะทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ได้ผลน้อยลง และอาจจำเป็นต้องฉีดใหม่ทุกปี สร้างต้นทุนมหาศาลต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้และต้องอาศัยนำเข้าวัคซีน และวิกฤติ COVID-19 เป็นวิกฤตสาธารณะครั้งใหญ่คุกคามประชากรมากกว่า 7 พันล้านคนพร้อม ๆ กันจึงประสบภาวะการขาดแคลนวัคซีน

มีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมยาและวัคซีนซึ่งควรจะลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50,000 หมื่นล้านบาทเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและขับเคลื่อนให้กลไกตลาดและภาคเอกชนพัฒนาการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง ตลาดยาและวัคซีนในประเทศไทยและในระดับโลกนั้นไม่ได้เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ รัฐจำเป็นต้องมีบทบาทส่งเสริม และขณะเดียวกันต้องกำกับไม่ให้เกิดการผูกขาดเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการได้เมื่อจำเป็น เนื่องจากต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูงมากจึงปิดกั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายใหม่สัญชาติไทย บริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ควบคุมองค์ความรู้ สิทธิบัตรอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้ซื้อที่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร เวชภัณฑ์ส่วนใหญ่ทางการแพทย์มักเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตร่วมกัน (Joint Production) เช่น วัคซีน ยารักษา กระบวนการรักษา อุปกรณ์ทางการแพทย์ จะมีความเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบูรณาการทางด้านการรักษาโรคและการจัดการทางด้านสาธารณสุข การแข่งขันในตลาดยาถูกควบคุมด้วยการคุ้มครองสิทธิบัตร การแทรกแซงด้านราคาโดยรัฐ การควบคุมพฤติกรรมในกานใช้ยาและสั่งจ่ายยาเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นมาตรฐาน มีการกระจุกตัวของผู้ผลิตยาและผู้ผลิตอาจทำการควบรวมกิจการกันเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ลดต้นทุนของการวิจัยและการทำตลาด

งบประมาณอย่างต่ำ 50,000 ล้านบาทเพื่อนำมาส่งเสริมอุดหนุนอุตสาหกรรมยาและจัดตั้งในรูปกองทุนนั้น ต้องนำมาวิจัยและพัฒนา ยาซึ่งเป็นยาสารเคมีและยาชีวภาพ เพราะบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมทางด้าน Genomics จะเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด บริษัทวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจึงมีความสำคัญมากและประเทศไทยนั้นมีความได้เปรียบในเรื่องการมีความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อไปบริษัทยาขนาดใหญ่จะจ้างหรือซื้อสิทธิบัตรจากบริษัท Genomics พวกนี้ สิทธิบัตรยาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายาสูงขึ้น หากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดและไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ และจำเป็นต้องมีการวัคซีนทุกปี อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงยาหรือวัคซีนรุ่นใหม่ได้ รัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ซึ่งเป็นการที่รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ผลิตยาที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรยาผลิตยาหรือนำเข้ายานี้จากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิบัตรยาเพื่อชดเชยในความเสียหายที่ขายยาหรือวัคซีนไม่ได้ รัฐบาลสามารถนำมาตรการนี้มาใช้ได้ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดจากโควิดกลายพันธุ์ในอนาคต หรือ รับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้เงินจากกองทุน 50,000 ล้านบาทที่จัดตั้งขึ้นได้

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและ Genomics นั้นเป็นเรื่องที่ประเทศมีความได้เปรียบเทียบเชิงเปรียบเทียบบางอย่างอยู่จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ หากเราไม่ลงทุนอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าวและไม่พัฒนาระบบและกลไกในการจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อได้เปรียบทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับสังคมไทยเท่าไหร่นัก ความพยายามของมนุษย์ในการยกระดับชีวิตของตัวเองเพื่อเอาชนะความแก่ชรา ความเจ็บป่วยและความทุกข์ยากต่างๆ จะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในอนาคตจากความใส่ใจของมนุษยชาติในเรื่องดังกล่าว การควบคุมฐานรากทางชีววิทยา (Biological Substratum) เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้มนุษย์อาจเข้าใกล้ความไม่ตายหรือความเป็นอมตะ แต่ความรู้และความเข้าใจของมนุษย์ยังห่างไกลนัก ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยอีกมาก การยกระดับความเป็นมนุษย์ให้มีอายุยืนยาว แข็งแรงจนกระทั่งเป็นอมตะ (ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน) สามารถทำผ่านวิธีการสามแนวทาง คือ การทำวิศวกรรมไซบอร์ก (Cyborg Engineering) การทำวิศวกรรมชีวภาพ (Biological Engineering) การทำวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตอนินทรีย์ (Engineering of non-organic beings) ตอนนี้สิ่งที่เราเห็นว่าก้าวหน้าที่สุด คือ วิศวกรรมไซบอร์ก โดยเฉพาะ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทเทสลา และ SpaceX ก็มีโครงการเกี่ยวกับมนุษย์ไซบอร์ก ขณะนี้เราสามารถเชื่อมร่างกายที่เป็นแบบอินทรีย์ (Organic Body) เข้ากับอุปกรณ์แบบอนินทรีย์ (Non-Organic Device) เช่น แขนขาไบโอนิก ดวงตาประดิษฐ์ หัวใจประดิษฐ์ ไตประดิษฐ์ เป็นต้น หุ่นยนต์นาโน สามารถท่องเข้าไปเส้นเลือดของเราเพื่อวินิจฉัยว่ามีปัญหาอะไรในร่างกายและซ่อมแซมอวัยวะส่วนไหน อย่างไรก็ตาม วิศวกรรมไซบอร์กก็ยังมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม เพราะยังคงตั้งต้นจากการใช้สมองแบบอินทรีย์เป็นศูนย์กลางในการควบคุมชีวิตและร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สามารถทำวิศวกรรมจิตมนุษย์ได้ เมื่อนั้น ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะพลิกโฉมอย่างไม่เหมือนเดิม

ล่าสุดมีข่าวดีว่ามีการผลิตยาเม็ด "Molnupiravir" ได้ผลดีรักษาผู้ป่วย COVID-19 ระยะแรก ได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยบริษัทยารายใหญ่สองแห่งคือ "Rigibel" ในเยอรมนีและ "Merck" ในสหรัฐอเมริกาและประสบความสำเร็จในการทดลองทางคลินิกขั้นที่ 1 และ 2 ในมนุษย์ การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในปัจจุบันใกล้สิ้นสุดลงและผลดีมาก หากเป็นไปได้ดีจะวางจำหน่ายในอนาคต ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ด้วยตัวเองที่บ้านและหายใน 5 วันซึ่งสะดวกในการใช้มาก การรักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตก็เหมือนกับการรักษาโรคหวัดในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ไทยต้องรอนำเข้าและยังไม่แน่ใจว่า คนไทยสามารถจะได้ใช้ยาแบบนี้เมื่อไหร่ การพึ่งพาตัวเองทางด้านยารักษาโรคและวัคซีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไทย

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19 ในระลอกสามเกินกว่า 3,000 รายต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คาดว่าอุปทานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์น่าจะไม่สามารถรองรับความต้องการในการรักษา ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขทั้งระบบ และ อาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยสูงขึ้น แม้นผลกระทบของการแพร่ระบาดในไทยหรือทั่วโลกจะไม่ได้ทำลายระบบการผลิตและอุปทาน แต่ระบบการผลิตและการเดินทางขนส่ง การท่องเที่ยวเกิดการชะงักงันจากการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นหลัก ทำให้เกิดการสินค้าบางชนิดจากการหยุดทำงาน หยุดการผลิต เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด กรณีการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆมากมายรวมทั้งการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ความต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งอุปสงค์ต่อบริการทางการแพทย์ได้พุ่งขึ้นอย่างกว้างกระโดดในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้ และ เราไม่สามารถผลิตแพทย์หรือผลิตการให้บริการได้ทัน การใช้การแพทย์ดิจิทัล การแพทย์ทางไกล การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ผ่านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และระบบสมองกลอัจฉริยะ รวมทั้งการใช้การตรวจเชื้อแบบตู้อัตโนมัติ Self-service จะช่วยบรรเทาภาวะวิกฤติได้ ตอนนี้ได้เริ่มมีสัญญาณของการเริ่มมีการขาดแคลนบริการทางการแพทย์และสาธารสุขบ้างแล้ว เช่น เริ่มมีโรงพยาบาลไม่รับผู้ป่วยและแนะนำให้ไปสังเกตอาการที่บ้าน แพทย์ไม่รับคนไข้เพิ่ม การรอรับการบริการทางสุขภาพและรักษาพยาบาลนานขึ้นกว่าเดิมมาก คุณภาพของบริการด้อยลง เวลาในการตรวจและให้บริการสั้นลง กำหนดเวลาที่ผู้บริการอาจไม่สะดวกเพราะบุคลากรทางการแพทย์งานล้นมือ ภาวการณ์ขาดแคลนแพทย์และบริการสาธารณสุขนี้จะยิ่งเห็นชัดตามโรงพยาบาลจังหวัดตามแนวชายแดนตะวันตกของประเทศ ประเทศไทยต้องป้องกันการเกิดกลายพันธุ์ในประเทศไทยด้วยการฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 500,000 คน และ ฉีดให้ครบ 70% เป็นอย่างน้อยก่อนเปิดประเทศ โดยควรตั้งเป้าทำให้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ตั้งเป้า 500,000 คนต่อวัน โดยสามารถใช้พื้นที่อื่นๆที่ไม่ใช่โรงพยาบาลในการจัดฉีด และ สามารถให้อาสาสมัครทางด้านสาธารณสุขที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเร่งรัดฉีดได้

ทั้งนี้หลายประเทศประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การดำเนินการดังกล่าวนอกจากช่วยประชาชนของประเทศตัวเองแล้ว ยังเป็นการป้องกันให้ไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดอีกด้วย หากปล่อยให้แพร่ระบาดยืดเยื้อและรุนแรง โอกาสกลายพันธุ์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษเข้ามาแพร่ระบาดในไทยแล้ว และยังไม่สามารถสอบสวนได้ว่า หลุดมาอย่างไร แต่สันนิษฐานว่ามาจากเขมร ความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านสุขภาพอนามัยของชาวไทยจึงไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยสามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันและมีการเดินทางข้ามพรมแดนไปมา โจทย์เฉพาะหน้าตอนนี้ คือ ทำอย่างไรสามารถป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์จากบราซิล

"การควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในบางประเทศด้วยการฉีดวัคซีน ทำให้เศรษฐกิจของบางประเทศหรือกิจการบางอย่างสามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว และน่าจะทำให้รูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดการทางด้านสาธารณสุข อันจะส่งผลต่อปริมาณเงิน ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร รวมทั้งความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงิน" อนุสรณ์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: