แอมเนสตี้เรียกร้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเเละเยาวชนทุกรูปแบบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2263 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเเละเยาวชนทุกรูปแบบ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง และการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเเละเยาวชนทุกรูปแบบ แนะรัฐต้องเร่งดำเนินนโยบายคุ้มครองเด็กเเละเยาวชนซึ่งออกมาเเสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ทั้งการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ตระหนักถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

20 พ.ค. 2564 นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตัวแทนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีและครอบครัวร่วมทำกิจกรรม “การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเด็กและเยาวชนไม่ใช่อาชญากรรม” บริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม ตรงข้ามสนามหลวง ฝั่งโรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพ เพื่อเรียกร้องทางการไทยยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อเด็กเเละเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ โดยมีการนำหุ่นเด็กจำนวน 41 ตัวตั้งไว้พร้อมคำบรรยายข้อกล่าวหา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าข้อมูลจากการบันทึกและสังเกตสถานการณ์การใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการเเสดงออกแสดงพบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมและแสดงออกมากถึง 41 คน ใน 39 คดี ในจำนวนนี้ มี 5 คนใน 6 คดี ที่มีอายุต่ำสุดเพียง 14 ปี

“ปัจจุบันมีเด็กและเยาชนถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริยและความผิดร้ายแรงอื่น เช่น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ รวมทั้งความผิดอันมุ่งจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมชุมนุมโดยตรง เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เเละข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการดำเนินคดีกับเด็กในที่ชุมนุมภายใต้การบังคับใช้มาตรา 112”

“เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีจากที่ชุมนุมมักถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่รัฐมีเเนวโน้มที่จะใช้กำลังในการควบคุมตัวบุคคลในที่ชุมนุมและนำไปควบคุมตัวในสถานที่ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เด็กและเยาวชนจึงถูกปฏิเสธสิทธิในการพบผู้ปกครอง เเละทนายความ รวมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง เเละอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรับรองสิทธิในการแสดงออกเเละการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบไว้ตามมาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้

ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อเด็กเเละเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องลดทอนความเป็นอาชญากรรมและนำเด็กตลอดทั้งเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ยุติการใช้ความรุนเเรงต่อเด็กและเยาวชนในที่ชุมนุมและภายหลังการชุมนุม และต้องประกันว่าการจับกุมเเละควบคุมตัวต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ กระทำการเท่าที่จำเป็นเเละได้สัดส่วน เด็กหรือเยาวชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำอันไม่สอดคล้องต่อหลักการนั้น ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐต้องเร่งดำเนินนโยบายคุ้มครองเด็กเเละเยาวชนซึ่งออกมาเเสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ทั้งการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ตระหนักถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิที่จะได้รับการรับฟัง เเละสิทธิที่จะเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบของเด็ก ตรวจสอบเเละทบทวนเเนวปฏิบัติในการควบคุมการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักการสากลอย่างเเท้จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: