เนื่องใน 'วันผู้ลี้ภัยโลก' แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน กับผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านเกิดมาเพื่อแสวงหาความปลอดภัย และขอผลักดันให้รัฐบาลไทยร่วมปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย
วันที่ 20 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก เนื่องในโอกาสนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน กับผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านเกิดมาเพื่อแสวงหาความปลอดภัย และขอผลักดันให้รัฐบาลไทยร่วมปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในวันผู้ลี้ภัยโลกของทุกปีนั้น ควรเป็นวันที่พวกเราทุกคนจะได้หวนย้อนมองและตรวจสอบมาตรการที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ว่ามีอะไรที่ได้ช่วยผู้ลี้ภัยไปแล้วบ้าง รวมถึงมองไปแผนงานในปีต่อ ๆ ไป ที่เราจะก้าวไปสู่บทใหม่ของมาตรการการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่ย้ำเตือนให้เรานึกถึงแก่นแท้ของสิทธิมนุษยชน ที่กว้างและไปไกลกว่าทุกขอบเขตที่ผ่านมา
“ตลอดปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่ามีเพื่อนมนุษย์จำนวนมากที่แสวงหาที่พักพิงจากประเทศเมียนมา จากการถูกกดขี่ในฐานะชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ รวมถึงชาวโรฮิงญา และรัฐบาลไทยเอง ต้องมอบการปกป้องที่ดียิ่งขึ้นให้กับเพื่อนมนุษย์ที่กำลังมองหาความปลอดภัย โดยปราศจากการกีดกันทางเชื้อชาติ และในฐานะประเทศหนึ่ง ประเทศไทยเองต้องต้อนรับผู้ลี้ภัยและโอบกอดพวกเขาแทนที่จะกักขัง เพียงเพราะสถานะการอพยพของเขา หรือเพราะต้องการผลักไสเขาข้ามดินแดนกลับไป”
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการการรับมือ ยิ่งทำให้เราเห็นความท้าทายต่าง ๆ และชี้ให้เห็นข้อกังวลระยะยาวเกี่ยวกับผู้อพยพ ที่อยู่ในสถานกักกันที่แออัด นอกจากนี้ มีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาทางทะเลยังคงมีอยู่เสมอ เมื่อทุกชีวิตของพวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ห้ามไม่ให้พวกเขาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย
“รัฐบาลไทยนั้นมีความรับผิดชอบในการปกป้องผู้ลี้ภัยในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ประเทศทั่วประชาคมโลกเองก็ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน นั่นคือการรับผิดชอบที่จะปกป้องผู้ลี้ภัย ไม่ให้อยู่ในประเทศเพียงประเทศเดียว โดยที่พวกเราต่างต้องทำในส่วนของตนเองให้ดีที่สุด ในการรับรองความเป็นอยู่ที่ดี ของประชากรที่เปราะบางที่สุดในโลก”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ