รัฐเตรียมใช้เกณฑ์ LOLE ใน แผน PDP 2022 เปิดทางซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3998 ครั้ง

รัฐเตรียมใช้เกณฑ์ LOLE ใน แผน PDP 2022 เปิดทางซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น

สื่อ Energy News Center รายงานว่ากระทรวงพลังงานเตรียมใช้เกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้ หรือ Loss of Load Expectation (LOLE) ที่จะยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้ 0.7 วันใน 1 ปี มาใช้ในการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP 2022 ฉบับใหม่ แทนเกณฑ์สำรองไฟฟ้า 15% ซึ่งจะมีผลให้สามารถเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าเข้ามาในระบบได้มากขึ้น เนื่องจากจะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเข้าระบบในอนาคตถึง 50% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการจ่ายค่าลงทุน Back upในระบบเพิ่มสูงขึ้นด้วย

เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2564 Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การวัดประสิทธิภาพไฟฟ้าของประเทศไทยโดยเกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้ หรือ Loss of Load Expectation LOLE ว่าจะยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้กี่วันใน 1 ปี นำมาใช้แทนเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) เพื่อจะรองรับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนมากขึ้นในอนาคตนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณา LOLE ที่ทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและเสนอให้ใช้เกณฑ์การยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้เพียง 0.7 วันต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่ต่างประเทศใช้อยู่ที่ระดับ 0.5-0.7 วันต่อปี และจากนั้นจะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่ หรือ PDP 2022

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มอบหมายให้จุฬาฯ ศึกษาเรื่อง LOLE มาเกือบ 2 ปีแล้ว เนื่องจากเห็นว่าทิศทางการผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงขึ้น ซึ่งข้อเสียของไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนคือ ความไม่เสถียรของไฟฟ้าที่จ่ายให้กับระบบ ดังนั้นจะต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก ประเภทโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ที่สามารถสั่งเดินหรือหยุดเครื่องได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจจะเป็นในรูปของระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ในแผนPDP2018 rev1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังใช้ระบบ Reserve Margin มาเป็นเกณฑ์ในการรับซื้อไฟฟ้าเข้ามาในระบบซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว ถูกใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยโรงไฟฟ้าที่ใช้เสริมความมั่นคงในระบบจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และมีการกำหนดเกณฑ์ปริมาณสำรองไฟฟ้าเอาไว้ 15% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้การที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้าหลายวันในการสั่งเดินเครื่อง หรือหยุดเดินเครื่อง จะไม่ตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่ากระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบดูแล การสร้างโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่เหมาะสม เพื่อคอย Back up ระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงรองรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบตามเป้าหมายที่รัฐกำหนดได้ โดยที่จะมีการกำหนดค่าBack up ที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าวเอาไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ระบบ LOLE จะเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตเท่านั้น และจะเป็นเกณฑ์พิจารณาว่าโรงไฟฟ้าใดควรเข้าระบบก่อนหรือหลังเพื่อไม่ให้ไฟฟ้าดับเกิน 0.7 วันต่อปี ซึ่งจะไม่มีผลเรื่องค่าพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า (Availability Payment หรือค่า AP) ที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าจะต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นเงื่อนไขให้โรงไฟฟ้าต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลา โดยการกำหนดค่า AP สำหรับโรงไฟฟ้าเก่ายังคงเหมือนเดิม

ทั้งนี้การเปลี่ยนเกณฑ์ Reserve Margin มาเป็น LOLE จะทำให้ตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกิน 50 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้า จะไม่เป็นปัญหากับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ โดยเฉพาะจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจาก โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก ช่วย Back up เพิ่มขึ้น ซึ่ง กฟผ.ก็มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนกำลังการผลิตเดิมที่จะปลดระวางให้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: