กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ใกล้ได้ข้อสรุปขอบเขตเอฟทีเอของทั้งสองฝ่าย เตรียมเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา เพื่อพิจารณาเปิดการเจรจา ก.ย. 2564 นี้ คาดสินค้าเกษตร สินค้าวัตถุดิบ ภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทยจะได้ประโยชน์ | ที่มาภาพ: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ว่านายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เพื่อเร่งหาข้อสรุปขอบเขตสาระที่อาจครอบคลุมในเอฟทีเอ ของทั้งสองฝ่าย ก่อนเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อพิจารณาเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน (ASEAN Priority Economic Deliverable) ในปี 2564 นี้ด้วย
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและแคนาดาใกล้ได้ข้อสรุปในเรื่องประเด็นที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา แล้ว โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งในส่วนการเตรียมการของไทยนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มอบให้สถาบันวิจัยภายนอกศึกษาประโยชน์และผลกระทบในการจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา รวมถึงได้จัดประชุมหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มิถุนายน 2564 พร้อมถ่ายทอดผ่านช่องทาง Facebook Live ของกรมฯ เพื่อเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าร่วมและสามารถรับชมย้อนหลังได้ด้วย
นายดวงอาทิตย์ เสริมว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการจัดทำเอฟทีเอดังกล่าว จะเป็นโอกาสผลักดันให้แคนาดาลดเลิกภาษีศุลกากร ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าศักยภาพของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่เป็นวัตถุดิบขั้นต้น โดยแคนาดาเป็นประตูบานสำคัญในการเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือ เนื่องจากมีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และเม็กซิโก นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์กับสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบอาชีพพ่อครัวและแม่ครัว บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในขณะที่ด้านการลงทุน ความตกลงนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่ประเทศไทย เช่น พลังงาน ขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาที่แคนาดามีความเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ดี ไทยก็ต้องใช้ความรอบคอบในการเจรจา โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยอาจมีความอ่อนไหว โดยคำนึงถึงความพร้อมและประโยชน์ภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องพิจารณาระยะเวลาปรับตัว และการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยกรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ไทยสามารถจับมือกับอาเซียนและแคนาดาร่วมประกาศเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา ได้ทันตามกำหนดการในเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับแคนาดา ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 1,333.48 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแคนาดามูลค่า 902.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 21.7% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนการนำเข้าจากแคนาดามีมูลค่า 431.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.8% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ