จับตา: ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2377 ครั้ง


ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ - กำหนดให้วัดสามารถมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดได้ - ให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์หรือ “สิ่งปลูกสร้าง” เกิน 3 ปีต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม - กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน “100,000 บาทขึ้นไป” ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด (จากเดิม 3,000 บาทขึ้นไป) | ที่มาภาพประกอบ: mangothara (Pixabay License)

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ พศ. เสนอว่า 

1. ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีสาระสำคัญการให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก พศ. [กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดิม] และกำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยวิธีการฝากไว้กับธนาคาร หรือนิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ   

2. จากการใช้บังคับกฎกระทรวงในข้อ 1. พบว่า ที่ผ่านมาในการกำกับดูแลการให้เช่าที่ดินของวัดของมหาเถรสมาคมและ พศ. นั้น ทำได้เพียงในส่วนของการให้เช่าที่ดินโดยไม่รวมถึงการให้เช่าอาคารซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าว ทำให้วัดสามารถให้เช่าที่ดินของวัดได้ตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมและ พศ. ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 57/2528 เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 [การให้เช่าที่ดินของวัด ตามข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511)ฯ และมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 14/2521] โดยเรื่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาการแสวงหาประโยชน์ในที่ดินของวัดจนทำให้วัดขาดประโยชน์ที่ควรได้รับโดยชอบธรรม นอกจากนี้ การกำหนดให้วัดสามารถเก็บรักษาเงินสดได้เพียง 3,000 บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในวัด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎกระทรวงในข้อ 1. เกี่ยวกับการให้เช่าที่ดินของวัดให้ครอบคลุมถึงกรณีการให้เช่าอาคารที่ปลูกบนที่ดินดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ในที่ดินของวัด และแก้ไขจำนวนเงินที่วัดสามารถเก็บรักษาได้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในประเด็นอื่น ๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติให้การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  

3. ในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงในข้อ 2. แล้ว  

จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ 

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 

ปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎกระทรวงเดิม ดังนี้

ประเด็น

กฎกระทรวงเดิม

ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้

1. การมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัด

ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัดได้

กำหนดให้วัดสามารถมอบอำนาจให้ พศ.             จัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนวัดได้

2. การให้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. (กรมการศาสนา ศธ. เดิม)

กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์หรือ “สิ่งปลูกสร้าง” ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปีต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

3. การเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออก

ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออกไว้

กำหนดให้ในกรณีที่มีผู้ขอเช่าที่ดินของวัดเพื่อเป็นทางเข้าออก ไม่ว่าจะกำหนดระยะเวลาการเช่ากี่ปีก็ตาม ให้วัดจัดทำเป็น “สัญญาภาระจำยอม” เท่านั้น โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

4. การเก็บรักษาเงินของวัด

กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือนิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ

กำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน “100,000 บาทขึ้นไป” ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: