Rocket Media Lab: สำรวจโลกของทุเรียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 9690 ครั้ง


ทุเรียนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ และแม้จะมีพื้นที่การปลูกไม่มากนัก แต่กลับกลายมาเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมหาศาล

จากกระแสข่าวการที่ไทยกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตทุเรียนสูงที่สุดในโลกแซงอินโดนีเซียในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ยังคงครองแชมป์ส่งออกทุเรียนมากที่สุดในโลก รวมไปถึงการที่ไทยสามารถส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนในไตรมาสแรกได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 14% มูลค่ากว่า 5.79 พันล้านบาท

Rocket Media Lab ชวนมาสำรวจโลกของทุเรียน ว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง

ใครส่งออกทุเรียนมากที่สุดในโลก

จากข้อมูลของ TRIDGE ว่าด้วยการส่งออกทุเรียนในปี 2020 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก UN Comtrade ประเทศไทยยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในการส่งออกทุเรียน มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 49.1% คิดเป็นมูลค่า 609.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยฮ่องกงที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 47.19% คิดเป็นมูลค่า 585.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับสามคือเวียดนาม 2.72% มูลค่า 33.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามาด้วยมาเลเซีย 0.72% มูลค่า 8.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับดับห้าคือเนเธอร์แลนด์ 0.17% มูลค่า 2.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้จากตัวเลขจะเห็นว่าฮ่องกงนั้นมีการส่งออกสูงเกือบจะเท่ากับประเทศไทย และมีอัตราการส่งออกที่เติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในกรณีของฮ่องกง รวมไปถึงเวียดนามนั้น เป็นการนำเข้าเพื่อนำมาส่งออกเพื่อขายต่ออีกที (Import to Re Trade) จึงทำให้มีอัตราการส่งออกสูง แต่หากนับเป็นการส่งออกสุทธิจากการผลิตโดยตรง ประเทศที่ยังเป็นผู้ส่งออกทุเรียนหลักของโลกก็ยังเป็นประเทศไทย รองลงมาก็คือมาเลเซีย 

โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังฮ่องกงสูงที่สุด มูลค่า 592.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาก็คือฮ่องกงที่ส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน มูลค่าสูงถึง 582.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยเวียดนามที่ส่งออกไปยังฮ่องกง 29.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา 8.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซียส่งออกยังฮ่องกง 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ใครนำเข้าทุเรียนมากที่สุดในโลก

จากข้อมูลของ TRIDGE ว่าด้วยการนำเข้าทุเรียนในปี 2020 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก UN Comtrade พบว่าประเทศที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดก็คือฮ่องกง สูงถึง 50.57% มูลค่า 628.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาก็คือจีน 46.89% มูลค่า 582.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สามคือ สหรัฐอเมริกา 0.83% มูลค่า 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยมาเก๊า 0.66% มูลค่า  8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น 0.3% มูลค่า 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้จากตัวเลขจะเห็นว่าฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าทุเรียนมากที่สุดในโลก เป็นการนำเข้าเพื่อขายต่ออีกที (Import to Re Trade) แต่หากนับเป็นการนำเข้าสุทธิจะพบว่าตลาดการนำเข้าและบริโภคทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังคงเป็นประเทศจีน 

โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ฮ่องกงนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยสูงที่สุด มูลค่า 592.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาก็คือจีน นำเข้าจากฮ่องกง มูลค่า 582.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยฮ่องกงนำเข้าจากเวียดนาม 29.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกานำเข้าจากไทย 8.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงนำเข้าจากมาเลเซีย 5.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ราคาทุเรียนในตลาดโลก

แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกทุเรียนมากที่สุดในโลก แต่เมื่อดูราคาผลผลิตจะพบว่า ทุเรียนจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออก (สุทธิ) ทุเรียนเป็นอันดับสองนั้น กลับมีราคาในตลาดโลกที่สูงมากกว่า

โดยเฉพาะพันธุ์มูซังคิง (Musang King) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เหมาซานหวัง” ซึ่งเป็นทุเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยมีราคาสูง และสามารถทำราคาในตลาดต่างประเทศได้ดี ข้อมูลจาก Durian Harvests กล่าวว่าในมาเลเซีย ทุเรียนมูซังคิงมีราคาประมาณ 24.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม แต่สามารถทำราคาในต่างประเทศได้สูง โดยส่งไปขายที่สิงคโปร์ ที่ราคาประมาณ 27.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในฮ่องกง ราคาประมาณ 50.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม หรือแม้แต่ในประเทศจีนที่สามารถทำราคาได้สูงถึง 122.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม

ไม่เพียงแค่พันธุ์มูซังคิงเท่านั้น มาเลเซียยังมีทุเรียนพันธุ์อื่น ที่ล้วนแล้วแต่มีราคาสูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ Sultan Golden Phoenix (หรือที่ชาวจีนรู้จักกันในชื่อ Jin Feng) Red Pawn (Hong Xia, Ang Hei, Ang Heh) Green Bamboo (Tek Kah, Zhu Jiao, Qing Zhu, Buluh Bawa) ซึ่งมีราคาในท้องถิ่นตั้งแต่ 6-15 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในขณะที่หมอนทอง ก้านยาว และชะนี ของไทยนั้นมีราคาในท้องถิ่นประมาณ 3-5 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมเท่านั้นเอง

การส่งออกทุเรียนจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบก็คือทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง และทุเรียนแปรรูป การที่ประเทศไทยมีอัตราการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนที่เติบโตสูงขึ้น นอกจากความนิยมรับประทานทุเรียนของคนจีนแล้ว ยังเกิดจากไทยร่วมเซ็นสัญญาการค้าเสรีกับจีน (FTA) จึงทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีนได้ กว่า 98% ของทุเรียนที่บริโภคในประเทศจีนนั้นมาจากประเทศไทย

ในขณะเดียวกันจีนก็เพิ่งจะเปิดตลาดทุเรียนสดแช่งแข็งให้กับมาเลเซีย (2019) ในการส่งออกมายังประเทศจีนไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกทุเรียนของมาเลเซียสูงขึ้น และมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ และด้วยความที่ทุเรียนมาเลเซียส่งออกได้น้อย ผสมผสานกับการทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจังในประเทศจีนโดยร่วมมือกับอาลีบาบากรุ๊ป ก็ทำให้เกิดความต้องการทุเรียนมาเลเซียโดยเฉพาะพันธุ์มูซังคิงสูงขึ้น จึงทำให้ราคาเพิ่มมากขึ้นไปด้วย  

ทุเรียนไทยมาจากที่ไหนบ้าง

พื้นที่ในการปลูกทุเรียนหลักๆ ของประเทศไทยจะอยู่ที่ภาคตะวันออกในแถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง และในส่วนของภาคใต้ทั้งจังหวัดชุมพร สงขลา นราธิวาส ปัตตานีและยะลา โดยกว่า 44% ของทุเรียนไทยนั้นมาจากจังหวัดจันทบุรีเพียงจังหวัดเดียว ตามมาด้วยระยอง และชุมพร จากข้อมูลของ BRC Research Report Bangkok Research Center พบว่าโดยปกติทุเรียนไทยจะมีการส่งออกประมาณ 60-70% จากการผลิตทั้งหมดภายในประเทศ เว้นแต่ในบางปีที่มีความต้องการในตลาดโลกสูงก็จะมีการส่งออกกว่า 80% ที่เหลือจึงเป็นการบริโภคภายในประเทศ

จากข้อมูลของ Grand View Research กล่าวว่าบริษัทหลักๆ ที่ส่งออกทุเรียนนั้นประกอบไปด้วย Charoen Pokphand Group, Sunshine International Co., Ltd., Chainoi Food Company Limited, Thai Agri Foods Public Company Limited Interfresh Co., Ltd., ในส่วนของบริษัทต่างประเทศ ได้แก่ TRL (South East Asia) Sdn Bhd, Top Fruits Sdn Bhd, Hernan Corporation, and Grand World International Co., Ltd

สำหรับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีความสำคัญในการส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน  ข้อมูลจาก Bangkok Post กล่าวว่า ซีพีได้ร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ร่วมพัฒนาชาวสวนทุเรียนพื้นที่ในแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งยะลา นราธิวาส และปัตตานี ในการปลูกทุเรียนและรับซื้อทั้งหมดอีกด้วย จากข้อมูลชิ้นนี้พบว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถผลิตทุเรียนสดได้ประมาณ 1,800 ตัน และเครือซีพีมีการส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีนประมาณ 4,500 ตัน

อนาคตของทุเรียนไทย

นอกจากอัตราการส่งออกไปยังประเทศจีนที่สูงขึ้นถึง 14% ในช่วงต้นปีของปีนี้แล้ว ในปี 2020 ที่ผ่านมายังพบว่าอัตราการส่งออกทุเรียนของไทยไปยังเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และยังพบความนิยมในการบริโภคทุเรียนเพิ่มสูงขึ้นในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก

ในขณะเดียวกัน ความนิยมและการทำราคาได้สูงของทุเรียนมาเลเซียในประเทศจีน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญในการโปรโมตทุเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลงลับแล พวงมณี หรือพันธุ์ภูเขาไฟ ที่อาจจะทำราคาได้สูงด้วยหลักการตลาดมากกว่าทุเรียนพันธุ์เดิมที่มีปริมาณการส่งออกมากจนทำให้ราคาไม่สูงนัก 

นอกจากนั้นยังพบว่า จีนเองก็อาจจะกลายมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนได้ในอนาคต เพราะปรากฏข่าวล่าสุดว่าประเทศจีนสนใจจะลงทุนในประเทศลาวในการเช่าที่ดินในเวียงจันทน์ประมาณ 3,200-4,800 เฮกเตอร์เพื่อปลูกทุเรียนและส่งกลับไปขายในประเทศจีน ซึ่งหากความนิยมทุเรียนในประเทศจีนยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการนำเข้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย

 

อ้างอิง

https://www.producereport.com/produce/fresh-fruits/durian

https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/durian-fruit-market

http://ptdurian.com/pdf/DurianGlobalMarketReport.pdf

https://www.tridge.com/trades/chart?code=081060 

https://core.ac.uk/download/pdf/234628201.pdf

https://www.ide.go.jp/library/English/Publish/Download/Brc/pdf/21_05.pdf

http://www.focusongeography.org/publications/articles/durian/index.html

https://www.tridge.com/intelligences/durian/import

https://www.durianharvests.com/global-trade/

https://www.bangkokpost.com/business/1958175/china-demand-spiking-for-thai-durian

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: