ครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร คสช. นักวิชาการย้ำเศรษฐกิจไทยยังผูกขาด-เหลื่อมล้ำสูง

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3829 ครั้ง

ครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร คสช. นักวิชาการย้ำเศรษฐกิจไทยยังผูกขาด-เหลื่อมล้ำสูง

ครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร คสช. 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ชี้การรัฐประหารไม่ได้ทำให้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงกว่าเดิม

22 พ.ค. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “รัฐประหาร” ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ใด ๆ และไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว การยึดมั่นในหลักการปกครองโดยกฎหมาย การดำเนินการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาวิกฤตต่างหาก คือ ทางออกที่แท้จริงของประเทศ นำมาสู่ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เสียงของประชาชนจะดังขึ้นและผู้มีอำนาจต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์จะนำสู่ความเจริญก้าวหน้าพัฒนาสู่ความรุ่งเรือง ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาค ลดผูกขาดเพิ่มการแข่งขันและแบ่งปัน ความสมบูรณ์พูนสุขและสันติธรรมย่อมบังเกิดขึ้นในสังคมไทย

วิกฤต COVID-19 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบอบ คสช. ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา ตลอดระยะเวลา 7 ปี ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงความจริงของเครือข่ายฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยที่ได้ร่วมกันสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดการรัฐประหาร สิ่งต่างๆได้ถูกเปิดเผยและได้มีการพิสูจน์ถึง วาทกรรม “ปราบโกง” ก็ดี วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ก็ดี วาทกรรม “สร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง” ก็ดี วาทกรรม “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็ดี วาทกรรม “ไม่สืบทอดอำนาจ” ก็ดี วาทกรรม “เอาคนดีคนเก่งมาบริหารประเทศ” ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแต่สิ่งที่เราเห็นอยู่วันนี้ คือ ความถดถอยลงของระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิติรัฐรวมทั้งจริยธรรมของผู้ปกครอง โดยในทางการเมืองนั้น ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 43 ปี โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงบทเฉพาะกาลเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560

ในทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ก่อนการรัฐประหารสองปี คือ ปี พ.ศ. 2555 อัตราการเติบโตจีดีพีอยู่ที่ 6.5% และ ปี พ.ศ. 2556 อยู่ที่ 2.9%
หลังรัฐประหาร 6-7 ปี โดยในปี พ.ศ. 2563 ติดลบ -6.1% และในปีนี้น่าจะเติบโตได้ไม่ถึง 2% โดยอัตราการขยายตัวไตรมาสแรกยังคงติดลบที่ -2.6% และประเมินเบื้องต้นว่า ผลกระทบจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ได้สร้างความเสียหายและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนไม่ต่ำกว่าสองล้านล้านบาท เมื่อผนวกเข้ากับการไม่สามารถเจรจาทำข้อตกลงการค้าได้ ระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์อำนาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปมาก

หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและตามมาด้วยการรัฐประหาร รวมทั้งมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง ปานฉะนี้ประเทศไทยของเราก็อาจสามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและเริ่มต้นเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะมีระบบรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไปแล้วก็ได้

แม้น “ระบอบ คสช.” จะผลักดันให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากโดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง ผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในบางมิติ แต่ภาพรวมแล้ว ไม่ได้ทำให้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงกว่าเดิม สาเหตุน่าจะมาจากการที่ต้นทางแห่งอำนาจของ คสช. นั้นไม่ได้มีที่มาจากประชาชนและไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

แม้นหลังการเลือกตั้งแล้วในปี พ.ศ. 2562 ดูประหนึ่งว่าได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นเปลือกนอกส่วนเนื้อแท้ยังเป็นระบอบอำนาจนิยมอยู่เพราะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้งจึงถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านระบบกลไก ระบบเลือกตั้งและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่สมดุลและบิดเบี้ยว

รัฐบาลประยุทธ์สองที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาล คสช. จึงก่อเกิดขึ้นจากเสียงของประชาชนบางส่วนบวกกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้น ระบอบ คสช. จึงไม่ต่างจากระบอบการปกครองของเผด็จการทหารเมียนมาร์มากนัก เพียงแต่ระบอบ คสช. ฉลาดในการใช้อำนาจมากกว่าระบอบของเผด็จการมิน อ่อง หลาย

ระบอบ คสช. จึงมีลักษณะคล้ายกับระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในยุคซูฮาร์โต ขณะที่เวลานี้ อินโดนีเซียได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวกระโดดหลังสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลทหารของนายพลซูฮาร์โต ผู้นำกองทัพเป็นทหารอาชีพ พากองทัพกลับสู่กรมกองปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก และไม่มีรัฐประหารมามากกว่า 30 ปีแล้ว การปฏิรูปการเมืองในยุคประธานาธิบดี นายพลซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน นายทหารประชาธิปไตยทำให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงมากยิ่งขึ้นเป็นผลบวกอย่างมากต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปัจจุบันและอนาคต สังคมไทยจึงควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จจากอินโดนีเซีย
ระบอบ คสช. กึ่งประชาธิปไตยในปัจจุบันมีความโปร่งใสและประสิทธิภาพต่ำกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบยุครัฐบาลเปรมและรัฐบาลอานันท์หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลสุรยุทธ์หลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่ามีการออกแบบรัฐธรรมนูญปิดประตูไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามชนะการเลือกตั้ง มีการใช้ศาลและองค์กรอิสระในการปฏิบัติการต่อคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมของระบอบ คสช. เหมือนกับเผด็จการทหารเผด็จการพม่าดำเนินการต่อ “อองซาน ซูจี” และ “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย”

การกระทำดังกล่าวจะนำมาสู่ความพังทะลายต่อความน่าเชื่อถือของระบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เมื่อสถาบันหลักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและฝ่ายที่เห็นต่างทำให้ประเทศเสี่ยงต่อสภาวะอนาธิปไตยและรัฐล้มเหลวในอนาคตได้

แม้นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการประนีประนอม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็รักความเป็นธรรม การได้เห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปใหญ่ในระบบยุติธรรมได้ในอนาคต

แม้น “ระบอบ คสช.” ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆสามารถสร้างความสงบได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่เข้ามาแทนที่ ความขัดแย้งระหว่าง “เสื้อเหลือง” กับ “เสื้อแดง” คือ ความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมืองที่ใหญ่กว่าเดิม ซับซ้อนกว่าเดิมและหยั่งรากลึกยิ่งกว่าเดิม

หากไม่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 และ รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีปัญหาความชอบธรรมต้องหมดอำนาจลงจากผลการเลือกตั้ง ระบบและสถาบันประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้ ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้นเช่นเดียวกับในอินโดนีเซียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน

เรามีความเสี่ยงสูงมากที่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศเมียนมาร์หรือพม่าหากผู้มีอำนาจตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ก็มีการรวบอำนาจการบริหารไว้ที่คนๆเดียวโดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อระบอบกึ่งประชาธิปไตยให้เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบอำนาจนิยมอีกครั้งหนึ่ง

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว สถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนแปลงของอนาคตของประเทศไทย ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในกลไกรัฐสภาและแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชนได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ความเป็นธรรม ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

จึงมีข้อเสนอต่อทางออกจากวิกฤติทางการเมืองรอบใหม่อันเป็นผลจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติชาติและการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการพิจารณาถึงบทเรียนจากการรัฐประหาร 22 พ.ค. ดังนี้

1. ขอให้ทุกฝ่ายเคารพเจตจำนงและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่เรียกร้องให้สถาปนาระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม รวมทั้งแก้ไขปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ด้วยกลไกรัฐสภาและเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักนิติรัฐ การเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองหรือการเมืองควรต้องยึดแนวทางประชาธิปไตยและเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

2. ขอให้ทุกฝ่ายพึงระลึกว่าระบอบประชาธิปไตยจะมั่งคงอยู่ได้ต้องประกอบด้วยกฎหมายที่สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย พร้อมด้วยศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

3. ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ เราจึงฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤตทางการเมือง วิกฤติจากผลกระทบของโรคระบาด COVID-19

4. ความกล้าหาญและเสียสละของประชาชน ความมีเอกภาพและสามัคคีของประชาชนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ การเสียสละของผู้นำและกลุ่มผู้นำสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้

5. ผู้มีอำนาจรัฐทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องเร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว ควรคืนอำนาจให้ประชาชนในเวลาที่เหมาะสมหลังจากปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 คลี่คลายลงด้วยการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจโปร่งใส ยุติธรรมและสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

6. ต้องลดเงื่อนไขหรือสภาวะเพื่อที่นำไปสู่ความขัดแย้งอันต้นทางของสงครามกลางเมือง และ ยึดในแนวทางสันติ ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงใด ๆ หรือ มีผู้สูญเสียชีวิต เพราะหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นแล้วจะทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากลุกลามไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นติดตามมา

7. รัฐประหารสองครั้ง (2549, 2557) การฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และ ยกเลิกการร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ วิกฤตการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในรอบ 14 ปี จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากมีการก่อรัฐประหารขึ้นอีก การรัฐประหารครั้งนี้จะนำไปสู่เส้นทางหายนะของประเทศ และจะสร้างความแตกแยกมากยิ่งกว่า รัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านี้ ผู้นำทหาร ผู้นำตุลาการ ผู้นำภาคธุรกิจ ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการหรือระบอบสืบทอดอำนาจ หากผู้นำกองทัพ ผู้นำศาล ผู้นำภาคธุรกิจ ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่มีทางมั่นคงได้ และ ประเทศไทย คนไทย จะมีชะตากรรม ไม่ต่างจากประเทศเมียนมาและคนพม่า ในเวลานี้ ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ป้องปราม ไม่ให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ภาวะดังกล่าว

8. ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้มั่นคง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทำให้กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกันความปลอดภัยในชีวิตและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ยารักษาโรคและวัคซีน ความยุติธรรม ประโยชน์ส่วนรวมและศีลธรรมจักบังเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริงโดยปราศจากความกลัวจากการคุกคามโดยอำนาจรัฐและการกลั่นแกล้งจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่าความสามัคคีและความมีเอกภาพภายใต้รัฐบาลที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาจะก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้จะเป็นรากฐานในการทำให้ “สังคมไทย” ฝ่าวิกฤต COVID-19 และ วิกฤติแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: