ก.อุตสาหกรรม ขอโรงงานเข้มมาตรการป้องกันโควิด ด้วย 'Bubble and Seal' และเข้าประเมินตนเองออนไลน์ TSC ชี้ลดการระบาดโควิดได้ 4.5 เท่า
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 ว่านางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จากการส่งออก การบริโภค การจ้างงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยจะมีการดำเนินการดังนี้
1. ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้แรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ
2. สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ
3. ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การจัดรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน
4. เร่งขอความร่วมมือโรงงาน โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก เข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้น จึงขอเชิญชวนโรงงานทุกขนาดเข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดในโรงงาน 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 53,135 คน ใน 62 จังหวัด โดย 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ เพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน
“ปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง เฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัด และพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน-17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก” นายเดชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้ว 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์ 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34%
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ