แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานใหม่และแคมเปญ 'นับถอยหลัง 100 วัน' #100DayCountdown เรียกร้องจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน 2 พันล้านโดสก่อนสิ้นปี 2021 นี้
22 ก.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานฉบับใหม่ชี้ บริษัทรายใหญ่หกแห่งซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากปฏิเสธที่จะยกเว้นการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการแบ่งปันเทคโนโลยีด้านวัคซีน โดยบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศยากจน พร้อมเปิดตัวแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown เรียกร้องรัฐต่าง ๆ และบริษัทยาส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี
ในรายงานฉบับใหม่ชื่อ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนเข็มสอง: บริษัทยาและวิกฤติด้านวัคซีนโควิด-19” (A Double Dose of Inequality: Pharma companies and the Covid-19 vaccine crisis) ซึ่งทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการประเมินหกบริษัทที่เป็นผู้กุมชะตากรรมของประชาชนหลายพันล้านคน ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) ไบออนเทค เอสอี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา อิงค์ โนวาแวกซ์ อิงค์ และไฟเซอร์ อิงค์ ทำให้เห็นภาพที่เลวร้ายของอุตสาหกรรมที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตินี้ได้ ถึงเวลาที่ควรยกย่องบริษัทเหล่านี้ในฐานะวีรบุรุษ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่น่าละอายและเป็นความเศร้าสลดของคนจำนวนมากที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กลับขัดขวางการถ่ายทอดความรู้ และมุ่งทำสัญญาขายวัคซีนให้กับประเทศร่ำรวย ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนวัคซีนตามที่คาดการณ์ไว้ และสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย
“หลายประเทศในแถบละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชีย ต้องประสบกับวิกฤติครั้งใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพที่อ่อนแออยู่แล้วให้ถึงจุดต่ำที่สุด ก่อให้เกิดการเสียชีวิตที่ควรจะป้องกันได้ของคนจำนวนหลายหมื่นคนในทุกสัปดาห์ ในหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่ได้รับและเข้าถึงวัคซีน”
“ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเหล่านี้ ไบออนเทค โมเดอร์นา และไฟเซอร์ น่าจะมีรายได้รวมกัน 130 พันล้านเหรียญภายในสิ้นปี 2565 ผลกำไรไม่ควรสำคัญเหนือกว่าชีวิตคน”
ไม่ปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน
เพื่อประเมินการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ศึกษานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทแต่ละแห่ง โครงสร้างการกำหนดราคาวัคซีน สถิติด้านทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การจัดสรรวัคซีนที่มีอยู่อย่างเป็นธรรม และความโปร่งใสของบริษัทเหล่านี้ เราพบว่าบริษัทผู้พัฒนาทั้งหกแห่ง ต่างไม่สามารถปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนในระดับที่แตกต่างกัน
จากวัคซีน 5.76 พันล้านโดสที่มีการฉีดให้กับประชากรทั่วโลกในทุกวันนี้ มีเพียงแค่ 0.3% ที่เป็นการฉีดในประเทศรายได้ต่ำ โดยกว่า 79% เป็นการฉีดในประเทศรายได้ปานกลางระดับบนและประเทศรายได้สูง แม้มีข้อเรียกร้องเพื่อให้ความสำคัญและร่วมมือกับโครงการโคแวกซ์ ฟาซิลิตี้ (COVAX Facility) ซึ่งเป็นกลไกระหว่างประเทศเพื่อประกันให้เกิดการจัดสรรวัคซีนระดับโลกอย่างเป็นธรรม แต่บริษัทบางแห่งที่ถูกประเมินครั้งนี้ ยังคงเก็บวัคซีนของตนเพื่อขายให้เฉพาะกับประเทศที่กักตุนวัคซีน
บริษัททุกแห่งในการประเมินครั้งนี้ ต่างปฏิเสธไม่เข้าร่วมในกลไกประสานงานระดับประเทศ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการจัดสรรวัคซีนระดับโลกโดยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี พวกเขาต่อต้านข้อเสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการชั่วคราว รวมทั้งการยกเว้นการบังคับใช้ตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPS) ตามข้อเสนอของอินเดียและแอฟริกาใต้
เรายังค้นพบต่อไปว่า
-
ไฟเซอร์และไบออนเทค ได้จัดสรรวัคซีนให้กับสวีเดนในจำนวนมากถึงเก้าเท่า เมื่อเทียบกับวัคซีนที่จัดสรรให้กับประเทศยากจนทุกแห่งรวมกัน ซึ่งต่างได้รับวัคซีนไม่ถึง 1% ที่บริษัทผลิตได้ ราคาวัคซีนที่สูงทำให้บริษัทน่าจะมีรายได้ถึง 86 พันล้านเหรียญภายในสิ้นปี 2565
-
โมเดอร์นา ยังไม่ได้จัดสรรวัคซีนแม้แต่โดสเดียวให้กับประเทศรายได้ต่ำ โดยที่ผ่านมาได้ส่งมอบวัคซีนเพียง 12% ให้กับประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง และจะไม่ส่งวัคซีนที่ผลิตได้เป็นส่วนใหญ่ให้กับโครงการโคแวกซ์ ฟาซิลิตี้ก่อนปี 2565 ราคาวัคซีนที่สูงทำให้บริษัทน่าจะมีรายได้ถึง 47 พันล้านเหรียญภายในปี 2565
-
จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นบริษัทเดียวในโลกที่ได้พัฒนาวัคซีนแบบฉีดเข็มเดียว และขายในราคาต้นทุน แต่ทางบริษัทก็จะไม่ส่งมอบวัคซีนให้กับโครงโคแวกซ์ ฟาซิลิตี้และสหภาพแอฟริกาก่อนปี 2565 ตามพันธกิจที่ให้ไว้ ทั้งยังปฏิเสธที่จะอนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตจากแคนาดาใช้สิทธิในการผลิต เพื่อให้สามารถพัฒนาวัคซีนได้อีกหลายล้านโดส
-
แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบริษัทที่ส่งมอบวัคซีนมากสุดให้กับประเทศรายได้ต่ำ และขายในราคาต้นทุน อีกทั้งยังอนุญาตให้ใช้สิทธิด้วยความเต็มใจกับบริษัทผู้ผลิตรายอื่น อย่างไรก็ดี ทางบริษัทยังคงปฏิเสธที่จะถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีกับโครงการขององค์การอนามัยโลก และต่อต้านการยกเว้นการบังคับใช้สิทธิตามความตกลง TRIPS
-
โนวาแวกซ์ ยังไม่ได้รับการอนุมัติการใช้วัคซีนของตน แต่มีแผนที่จะจัดสรรวัคซีนจำนวนสองในสามที่ผลิตได้ให้กับโครงโคแวกซ์ ฟาซิลิตี้ อย่างไรก็ดี ทางบริษัทปฏิเสธที่จะถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีกับโครงการขององค์การอนามัยโลก และต่อต้านการยกเว้นการบังคับใช้สิทธิตามความตกลง TRIPS
แม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะได้รับเงินสนับสนุนและคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากรัฐบาล ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ แต่ผู้ผลิตวัคซีนยังคงผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญา ขัดขวางการถ่ายทอดเทคโนโลยี และล็อบบี้อย่างเข้มแข็งเพื่อต่อต้านมาตรการที่ส่งเสริมการขยายการผลิตวัคซีนเหล่านี้ในระดับโลก ความเพิกเฉยอย่างต่อเนื่องของพวกเขาส่งผลร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนกับประชากรหลายพันล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ซึ่งช่วยรักษาชีวิตคนได้ ้
เปิดตัวแคมเปญ “นับถอยหลัง 100 วัน” #100DayCountdown
“วันนี้เป็นการเริ่มต้นนับถอยหลัง 100 วันก่อนสิ้นปี เราเรียกร้องรัฐต่าง ๆ และบริษัทยาดังกล่าว ให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอย่างจริงจัง และดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อส่งมอบวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับต่ำ โดยให้เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เราไม่ควรปล่อยให้ใครต้องทนทุกข์ทรมาน และอยู่กับความหวาดกลัวต่อไปอีกหนึ่งปี” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว
ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดตัวรายงานพร้อมกับเริ่มรณรงค์ระดับโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อตรวจสอบรัฐและบรรษัทยายักษ์ใหญ่ แคมเปญนับถอยหลัง 100 วัน: วัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดส ในตอนนี้! เป็นการเรียกร้องตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ที่จะฉีดวัคซีนให้กับ 40% ของประชากรในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับล่างภายในสิ้นปีนี้ เราเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ จัดสรรวัคซีนที่เกินความจำเป็นหลายร้อยล้านโดส ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้เฉย ๆ และให้บริษัทผลิตวัคซีนดำเนินการเพื่อส่งมอบอย่างน้อย 50% ของวัคซีนที่ผลิตได้ให้กับประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้ หากรัฐและบริษัทยายังคงดำเนินการตามทิศทางในปัจจุบัน เราย่อมมองไม่เห็นทางที่จะหลุดพ้นจากปัญหาโรคโควิด-19 ได้
“บริษัทยาได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีของประชาชนหลายพันล้านเหรียญ และยังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ จนทำให้พวกเขากลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ แต่ตอนนี้ พวกเขาต้องดำเนินการส่งมอบวัคซีนหลายพันล้านโดสให้กับประชาชนโดยทันที เพื่อให้มีคนได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและรวดเร็ว บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้องให้ความสำคัญกับการส่งมอบให้กับประเทศที่ต้องการใช้วัคซีนมากสุด และต้องระงับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ต้องถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และอบรมให้ผู้ผลิตที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยเร่งการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว
ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนเตรียมประกาศพันธกิจใหม่ในที่ประชุมสุดยอดที่เกิดขึ้นวันนี้ เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส รวมทั้งการฉีดวัคซีนให้กับ 70% ของประชากรโลกภายในเดือนกันยายนปีหน้า แอกเนส คาลามาร์ดกล่าวว่า
“เราต้องจัดสรรวัคซีนโควิด-19 และทำให้เกิดการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและบริษัทยาที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เราต้องการผู้นำอย่างประธานาธิบดีไบเดน เพื่อระดมวัคซีนหลายพันล้านโดส และเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่าและเราอาจต้องสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ประกันว่า บุคคลทุกคนต้องสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลและยารักษาโรคในปริมาณที่มากพอ เข้าถึงได้ ยอมรับได้ และมีคุณภาพ โดยต้องมีการออกกฎหมายและนโยบายเพื่อประกันว่าบริษัทยาจะปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายถึงแต่ละบริษัท ก่อนจะเปิดตัวรายงานฉบับนี้ และได้รับจดหมายตอบกลับจากห้าบริษัท ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ไบออนเทคและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บริษัทเหล่านี้ยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและเท่าเทียม โดยเฉพาะสำหรับประเทศรายได้ต่ำ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถปฏิบัติตามอุดมการณ์และความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนได้
ข้อมูลพื้นฐาน
รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้ประเมินอย่างละเอียดถึงบทบาทของบริษัทจากรัสเซียและจีน ซึ่งได้ผลิตวัคซีนหลายพันล้านโดสเช่นกัน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยกว่า การขาดความโปร่งใสทำให้เราไม่สามารถทำการประเมินได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้จัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยมีการกันตุนวัคซีนส่วนใหญ่ไว้ใช้ภายในประเทศ และไม่ได้เข้าร่วมในโครงการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี
ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีน เป้าหมายการผลิต และการคาดการณ์ถึงรายได้ของแต่ละบริษัท เป็นข้อมูลที่เราได้มาจาก Airfinity ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิทยาการข้อมูล ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ทางแอมเนสตี้ ได้มาจากเว็บไซต์ Our World In Data
การใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งเช่นนี้ ทำให้แอมเนสตี้สามารถคำนวณได้ว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอีก 1.2 พันล้านคนในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับล่าง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในการฉีดวัคซีนให้กับ 40% ของประชากรในประเทศเหล่านี้ และทำให้จำเป็นต้องได้รับวัคซีนอีกกว่า 2 พันล้านโดส ถ้ามีการจัดสรร 50% ของวัคซีนที่คาดว่าจะมีการผลิตในโลกภายในสิ้นปีนี้ ให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับล่าง ย่อมสามารถทำให้มีการจัดสรรวัคซีนจำนวน 2.6 พันล้านโดส ได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ