ยอดคุมขังผู้สื่อข่าวหญิงพุ่ง ท่ามกลางการจับกุมนักข่าวที่สูงขึ้นทั่วโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ธ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1929 ครั้ง

ยอดคุมขังผู้สื่อข่าวหญิงพุ่ง ท่ามกลางการจับกุมนักข่าวที่สูงขึ้นทั่วโลก

VOA รายงานปี 2021 เป็นปีที่เรียกได้ว่ามีการคุมขังผู้สื่อข่าวทั่วโลกมากที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาเมื่อปี 1995 และยังเป็นปีที่จำนวนผู้สื่อข่าวสตรีที่ถูกจับกุมตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มมากขึ้น 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับตัวเลขเดิม | ที่มาภาพ: Reporters Without Borders (RSF)

ช่วงเดือน ธ.ค. 2021 VOA รายงานว่าปี 2021 เป็นปีที่เรียกได้ว่ามีการคุมขังผู้สื่อข่าวทั่วโลกมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ และยังเป็นปีที่จำนวนผู้สื่อข่าวสตรีที่ถูกจับกุมตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มมากขึ้น 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับตัวเลขเดิม จากรายงานขององค์การ Reporters Without Borders (RSF) หรือผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน

จำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมตัวโดยปราศจากเหตุผล หรือโดยพลการ สูงขึ้น 20% มากที่สุดตั้งแต่ RSF เริ่มเก็บข้อมูลในปี ค.ศ.1995

การที่มีผู้สื่อข่าวและคนทำข่าวเพศหญิงเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ทำให้พวกเธอมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยในปีนี้ที่มีผู้สื่อข่าวที่ถุกควบคุมตัว 488 คน เป็นผู้หญิง 60 คน

จีนรั้งอันดับที่หนึ่งติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 และยังเป็นประเทศที่คุมขังนักข่าวหญิงมากที่สุดในโลกถึง 19 คนทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และในฮ่องกง

ตัวอย่างผู้สื่อข่าวหญิงที่ถูกทางการจีนคุมขังเอาไว้ ได้แก่ โซเฟีย หวง สเหว่ฉิน (Sophia Huang Xueqin) นักข่าวที่ทำรายงานแนวสืบสวนเปิดโปงพฤติกรรมการคุกคามทางเพศสตรี หรือกระแส #MeToo ในประเทศจีน ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือน ก.ย. 2021 ทางการจีนจับเธอขังเดี่ยวด้วยข้อหา “ยุยงส่งเสริมให้ต่อต้านล้มล้างอำนาจรัฐ”

ส่วน จาง จาน (Zhang Zhan) ผู้สื่อข่าวหญิงอีกคนหนึ่งก็ถูกคุมขังตั้งแต่เดือน พ.ค. 2020 จนทำให้เธอมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง หลังจากที่เธอรายงานข่าวถึงที่มาของการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู๋ฮั่น จาง จาน ได้รับการยกย่องให้เป็น RSF นักข่าวผู้กล้า

นอกจากนี้ การจับกุมตัวเพิ่มมากขึ้นในเบลารุสและเมียนมา ยังทำให้ 2 ประเทศ นี้กลายเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่มีการคุมขังผู้สื่อข่าวมากที่สุด

ที่เบลารุสนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สื่อข่าวจำนวน 32 คน ที่ถูกคุมขังคือผู้หญิง และมีการข่มขู่ระรานสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก เมื่อเดือน ส.ค. 2021

นอกจากนี้เบลารุสยังมีการจับกุมตัวนักข่าวหรือคนทำข่าวที่เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก เช่นการ่ใช้เครื่องบินรบ กดดันให้เครื่องบินพานิชย์เปลี่ยนเส้นทางและลงจอดที่เมืองหลวงของประเทศ เพื่อจับกุมบล็อคเกอร์ชื่อดัง ซึ่งนักวิจารณ์มองว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐพร้อมใช้ทุกวิถีทางในการจัดการกับผู้สื่อข่าว

ส่วนเมียนมานั้น ยังมีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 53 คนที่ถูกคุมขังตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักข่าวที่เสียชีวิตจากการทำงานลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในปีนี้ โดย RSF มองว่าเป็นเพราะการที่สถานการณ์ในประเทศที่มีสงครามนั้นได้ทุเลาเบาบางลง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: