‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ทลายกำแพงห้องเรียน สร้างการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต

คณะทำงานล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ 22 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 5878 ครั้ง

เสวนาออนไลน์ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) ชี้ขอเพียงส่วนกลางปลดล็อก เปิดโอกาสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่โรงเรียนที่เด็ก ประเทศเราก็จะไปต่อได้

การเสวนาออนไลน์ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจัดขึ้น

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวตอนหนึ่งว่า กรณีสตูลมีลักษณะเฉพาะ คือ มีโครงงานฐานวิจัยเป็นตัวหลัก มี “ครูสามเส้า” เป็นตัวขับเคลื่อน ครูสามเส้าในความหมายที่สตูลค้นพบขึ้นมา เป็นก้าวเล็กๆ แต่มีอำนาจในเรื่องการพังทลายห้องเรียน เรื่องของการเรียนรู้ เข้าไปสู่เรื่องชุมชน สำคัญที่สุดคือ เปลี่ยนกรอบคิดของครู เปลี่ยนกรอบระบบราชการก้าวไปสู่ระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากขึ้นแล้วทลายกำแพงต่างๆ ได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่

ครูสามเส้า คือ ครูในโรงเรียน เรียกว่าเป็นครูวิชาการ ต้องกล้าคิดนอกกรอบ มีพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัยก่อน มีหลักสูตรฐานสมรรถนะ และมีหลักสูตรภูมิสังคม และมีเครื่องมือที่ดีมากๆ คือ ระบบ PLC การตั้งคำถาม ให้กำลังใจเด็ก เป็นคาแรกเตอร์สำคัญของครูในระบบการศึกษาแล้วอยู่ในโรงเรียน ครูชุมชน เชื่อมโยงทำให้เกิดคุณภาพ เกิดความมั่นคง จากกการได้เรียนรู้ทุนทางสังคม ระบบเครือญาติ ระบบทรัพยากร เรื่องศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม คือปัจจัยที่เอื้อหนุนการหล่อหลอมและการทำให้เด็กเติบโตขึ้นในชุมชนอย่างรู้เท่าทัน ต่อมาคือ ครูชีวิต จะเป็นคนที่ถ่ายทอดวิชาทำมาหากิน การกรีดยาง การทำประมง การเลี้ยงไก่ ปลากัด สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นคือเกิดความเป็นสตูล Active Citizen เด็กในจังหวัดสตูล สามารถไต่ไปสู่ศักยภาพการค้นพบรู้จักตัวเอง มีอัตลักษณ์ที่เป็นความหวังของคนจังหวัดสตูล ที่เมื่อเวลาเขาจบการศึกษาหรือย้ายออกจากถิ่นฐาน เขาจะไม่ดูแคลนอาชีพของพ่อแม่ เป็นข้อค้นพบสำคัญเรื่องหนึ่ง

นวัตกรรมใดๆ ก็ตามถ้าใช้เกิน 3 ปี มันจะไม่เป็นนวัตกรรม แต่ถ้าคุณมีการต่อยอดมันจะเดินต่อได้ ผอ.โรงเรียนอนุบาลสตูลพยายามใช้เรื่องนาฬิกาชีวิตต่อยอดจากโครงงานฐานวิจัย แล้วสามารถเอาชนะปัญหาข้อจำกัดเรื่องโควิดได้ เห็นศักยภาพ เห็นความร่วมมือการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ผู้ปกครองมันบวกยกกำลังสองของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันโรงเรียนบ้านเขาจีน จะพบปัญหาที่เครียดสามเส้า เครียดทั้งเด็ก เครียดทั้งพ่อแม่ เครียดทั้งครู แต่แค่ใบงานใบเดียวที่เป็นใบงานบูรณาการ เขาสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเรื่องของการเรียนรู้ พูดง่ายๆ PLC ที่คุยกันทำให้เกิดใบงานบูรณาการแล้วแก้ไขปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาว่า ควรสร้าง Social movement คือการขับเคลื่อนกระแสสังคมว่า มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในระบบการศึกษา (จากตัวอย่างโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) ที่เป็นทางออก เป็นเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการจากล่างขึ้นบน และทำให้ภาคราชการ ภาคการเมือง เข้ามาเป็นเจ้าของโจทย์ จึงจะเป็นไปทั้งองคาพยพ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกส่วนทุกฝ่ายให้เกิดแรงกระเพื่อม ให้จังหวัดอื่น ๆ รู้สึกอยากทำและเตรียมความพร้อมตั้งต้นจากการเป็นเจ้าของโจทย์ก่อน

รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ประธานคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวว่าเราได้เห็นพลังของกระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการเรียนรู้ ถ้าเราจะลองดูโรงเรียนและคุณครูก็เผชิญกับปัญหาในภาวะวิกฤต จะพบว่า ผู้ที่มีความเข้มแข็งก็ไม่ล้มง่าย อย่างกรณีของสตูล ก็คือคำว่าไม่ยอมจำนน แสดงว่ามีความเข้มแข็ง ทำให้ลุกขึ้นมาเผชิญกับปัญหาได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อโรงเรียนเริ่มคิดหาทางใหม่เพื่อแก้ปัญหา ขั้นแรกคือหาข้อมูลก่อน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ก็ได้ดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก หาข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน เกี่ยวกับผู้ปกครอง เกี่ยวกับอุปกรณ์ รวมทั้งข้อมูลของครูด้วย เมื่อมีข้อมูลแล้วก็ต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก ซึ่งตรงนี้คือกระบวนการที่จะทำให้ได้ไอเดีย พลังของการร่วมคิดก็ทำให้เกิดทางออกใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ แล้วก็เกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจในการลงมือทำ ซึ่งเราก็จะพบว่าจากการลงมือทำนี้ ส่วนหนึ่งบางทีก็ได้ผล แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะยังไม่ได้ผล แต่ก็ทำให้เกิดวงจรต่อเนื่อง หาข้อมูลใหม่ คิดใหม่ สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ

กระบวนการตรงนี้เป็นประโยชน์มาก สำหรับโรงเรียนอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการพัฒนาหรือกำลังเผชิญปัญหาใกล้เคียงกัน จะได้เห็นพลังของความร่วมมือร่วมใจในการคิดและการทำงานร่วมกัน พลังของความรู้และกระบวนการที่เป็นวงจรที่มีการปรับแล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ เป็นปัจจัยที่จะนำสู่ความสำเร็จ และกระบวนการที่ครูได้ทำ คือกระบวนการสร้างสมรรถนะครู ครูได้พัฒนาสมรรถนะให้เกิดขึ้นในตัวเอง โดยการเผชิญกับปัญหาแล้วก็นำเอาความรู้ ทักษะ เจตคติต่างๆ เอามาใช้ในการแก้ปัญหา และโดยการร่วมมือกัน มันก็ส่งผล โรงเรียนจะเป็นคลังขององค์ความรู้ใหม่ๆ และองค์ความรู้อันนี้เป็นองค์ความรู้ที่มาจากฐานของครูไทย ของโรงเรียนไทย และบนบริบทของเด็กไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่ายิ่งเลยสำหรับการศึกษาของประเทศ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ กล่าวว่า ตัวอย่างจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 3 จังหวัด ตอกย้ำให้เห็นว่า ขอเพียงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้คิดได้ทำ การปฏิรูปการศึกษาก็จะเกิดขึ้น

หลักสูตรฐานสมรรถนะดีอย่างไร บทเรียนจาก 3 พื้นที่นวัตกรรม จะเห็นว่า สมรรถนะคืออะไร ก็คือ การทำให้ผู้เรียนทำเป็น มีพฤติกรรม มีเจตคติที่เหมาะสม มีความคิดริเริ่ม มากกว่าจะกำหนดว่าเขาจะเรียนเนื้อหาอะไร แล้วต้องจำไปสอบ การเรียนรู้ก็มีความหมายมากขึ้น

ในยุคโควิด… ผู้ที่ไม่เข้าใจจะบอกว่า โรงเรียนอยู่ในสถานการณ์โควิด เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ แต่วันนี้บทเรียนพิสูจน์ว่า จิตวิญญาณครูมีอยู่จริง แล้วเขาก็สู้กับโควิดได้ โควิดทำให้ครูแปรวิกฤตเป็นโอกาสให้พัฒนาเด็กเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ที่เรียกว่า Self-Directed Learner หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่ปีศาจ แต่เป็นผู้ช่วยให้เกิดการออกแบบการเรียนรู้ ตัวอย่างที่สตูลจะเห็นว่า PLC เกิดขึ้นที่บ้าน ไม่ใช่เกิดขึ้นที่โรงเรียน แต่ครูเป็นผู้ช่วยทำร่วมกันกับพ่อแม่ ให้เด็กเป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้ตัวเองได้ และชุมชนก็เข้ามาช่วย

จุดเด่นของหลักสูตรฐานสมรรถนะ วันนี้พิสูจน์ว่า... ถ้ายึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มองว่าเขาถนัดอะไร ศักยภาพมีอะไร แล้วก็สนใจอะไร ข้อจำกัดนั้นก็จะแปรเป็นข้อเด่นได้ หลักสูตรมีความยืดหยุ่น ปลดล็อกสิ่งที่รัฐตรึงครูในอดีตในหลักสูตร 51 ก็คือปลดล็อกตัวชี้วัดมากมาย แล้วให้ครูทำ 3 เรื่องที่ต่อเนื่อง คือ สอนความรู้ ฝึกทักษะให้เด็กได้ทำจริง และพัฒนาทัศนคติ อารมณ์และอุปนิสัย เด็กเขาก็จะจัดการชีวิตของเขาได้ แล้วก็ PLC ที่โรงเรียนก็ให้เห็นว่าที่บูรณาการข้ามศาสตร์เป็นยังไง ก็คือด้วยความร่วมมือของครูในโรงเรียน แล้วประเมินก็ประเมินผลที่สมรรถนะของเด็ก วันนี้สมรรถนะของเรามี 6 ด้าน แต่ก็ไม่ได้หหมายความว่าทุกโรงเรียนจะต้องใช้ทั้ง 6 ด้าน สามารถวิเคราะห์และนำไปใช้ตามบริบทโรงเรียนนั้นๆ

สำหรับแผนการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 จนปัจจุบัน มีโรงเรียนอาสาเข้าร่วมโครงการวิจัยนำร่องการใช้หลักสูตรในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัดกว่า 260 โรงเรียน ซึ่งผลการวิจัยเราก็จะนำมาปรับปรุงหลักสูตร ดังนั้นในเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ จะเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ทาง จากผลการวิจัย เวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คุณครู มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนและอื่นๆ และแบบสอบถาม

ในวิกฤตนี้ทำให้เกิดการ Up skill อย่างถ้วนทั่ว ที่สำคัญคือ Digital skill ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ครู ผู้ปกครอง ชุมชน แล้วผู้อำนวยการก็นำพาโรงเรียนสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้โดยมุ่งที่เด็กอย่างแท้จริง ดังนั้นวันนี้ขอเพียงส่วนกลางปลดล็อก เปิดโอกาสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่โรงเรียนที่เด็ก ประเทศเราก็จะไปต่อได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: