44 ภาคประชาสังคมร่อน จม.เปิดผนึกประณามเชิญ ‘มินอ่องลาย’ ประชุมสุดยอดอาเซียน

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 14064 ครั้ง

44 ภาคประชาสังคมร่อน จม.เปิดผนึกประณามเชิญ ‘มินอ่องลาย’ ประชุมสุดยอดอาเซียน

องค์กรภาคประชาสังคม 44 แห่งร่วมกันเผยแพร่ ‘จดหมายเปิดผนึกจาก 44 ภาคประชาสังคม ถึงผู้นำประเทศอาเซียน’ เนื่องในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 24 เม.ย. 2564 ณ กรุงจาการ์ตา

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 องค์กรภาคประชาสังคม 44 แห่งร่วมกันเผยแพร่ ‘จดหมายเปิดผนึกจาก 44 ภาคประชาสังคม ถึงผู้นำประเทศอาเซียน’ เนื่องในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 24 เม.ย. 2564 ณ กรุงจาการ์ตา

ความดังนี้

พวกเราในฐานะผู้แทนองค์กรประชาชนพลเมืองของอาเซียนและในภูมิภาคนี้ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ อีกทั้งเครือข่ายภาคีความร่วมมือของภาคประชาสังคม ยินดีกับการริเริ่มของประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด ให้มีการจัดประชุมวาระพิเศษสำหรับผู้นำอาเซียน ในวันที่ 24 เมษายน นี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศเมียนมาร์/ พม่า

เรายินดีกับข้อเรียกร้องของเลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กุแตร์เรส ให้อาเซียน ” … ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนานาชาติด้วยความพยายามร่วมมือกันในระดับภูมิภาค และเรียกร้องให้ผู้มีบทบาทเกียวข้องในภูมิภาคได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ และสามารถแสวงหาทางออกอย่างสันติให้หลุดพ้นจากวิบัติภัยครั้งร้ายแรงนี้

เราตระหนักดีว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ คุณคริสติน ชราร์แนร์ เยอเกนเอร์ กำลังอยู่ในภูมิภาค และกำลังจะเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำสูงสุดของอาเซียนในวันที่ 24 เม.ย. นี้ ณ กรุงจาการ์ตา และได้เรียกร้องให้เธอสามารถเข้าเยือนประเทศเมียนมาร์เพื่อปฏิบัติภารกิจได้

เราสนับสนุนคำแถลงล่าสุดของอดีตเลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ และรองประธานคณะผู้อาวุโส บัน คี บูน ที่ระบุว่า “อาเซียนต้องทำให้เกิดความชัดเจนกับทหารเมียนมาร์ ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในปัจจุบันมิอาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นเรื่องกิจการภายในของประเทศเมียนมาร์เอง” และ “อาเซียนต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดความคืบหน้า ให้ไปไกลกว่าเพียงแค่การออกแถลงการณ์เท่านั้น”

เรายินดีกับถ้อยแถลงของรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ที่ต่างเรียกร้องให้ทหารเมียนมาร์ยุติการปราบปรามพลเรือนที่ปราศจากอาวุธด้วยความรุนแรงโดยทันที พลเรือนเหล่านั้นยังรวมทั้งเด็กน้อยอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ยังเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางการเมือง ซึ่งเป็นสมาชิกพรรค NLD ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ รวมทั้งประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วน อีกทั้ง ผู้สื่อข่าว สื่อมวลชน ศิลปิน บุคลากรด้านสุขภาพ ลูกจ้าง พนักงาน ข้าราชการ ทั้งชาย หญิง และเด็ก ทั่วทั้งประเทศ

เราขอประณามและไม่ยอมรับการตัดสินใจของอาเซียนที่เชื้อเชิญกลุ่มก๊วนทหารเมียนมาร์ที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจนำโดย นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลายให้เข้าร่วมการประชุมผู้นำสูงสุดของอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เราเห็นว่านี่เป็นการละเมิดต่อหลักการแห่งกฎบัตรอาเซียนอย่างชัดแจ้ง ในเรื่อง “การไม่แทรกแซง” และยังเป็นการมอบความชอบธรรมในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศและประชาชนอาเซียน ให้กับอาชญากรสงคราม ผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยระบอบทหารที่กระทำต่อประชาชนพลเมืองของเขาเอง

เราเชื่อว่า นับแต่การที่พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 2540 นั้น ถือเป็นจุดอ่อนอย่างมากขององค์กรประชาคม ดังนั้นวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังแผ่กระจายข้ามพรมแดน จะก่อผลสืบเนื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและประชาชนในทุกประเทศของอาเซียน และที่อื่นใด สิ่งที่น่าตระหนกกว่าก็คือความจริงที่ว่านับแต่การรัฐประหารของคณะทหารเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เป็นต้นมา เมียนมาร์กำลังดำดิ่งสู่การเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” (Failed State) ในอาเซียนและภูมิภาคนี้

เรามิอาจยอมรับได้เลยว่า รัฐบาลบางประเทศของอาเซียนยังใช้เรื่องโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้างในการนิ่งเฉย เฉื่อยเนือย หรือแม้กระทั้งกำหนดข้อห้ามเพื่อให้การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้พลัดถิ่น ผู้หนีภัยจากสงครามและความรุนแรงนับพันคนตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ กำลังรอรับความช่วยเหลือจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ของไทย และองค์กรระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมอื่นๆ อยู่

เราเชื่อมั่นว่า สถานการณ์เมียนมาร์วันนี้ เป็นบททดสอบครั้งสำคัญของอาเซียนว่าจะยังคงความน่าเชื่อถือ และมีความเหมาะสม สอดคล้องกับการดำรงสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐภาคีในภูมิภาคนี้ ในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศเพียงใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก – เรา – ประชาชนพลเมืองแห่งภูมิภาคอาเซียนนี้

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้

1.อาเซียน เชิญผู้แทนจากรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งก่อเกิดขึ้นจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเมียนมาร์โดยถูกต้องชอบธรรม ผู้นำอาเซียนไม่มีหนทางอื่นใดในการบรรลุผลสำเร็จในการประชุมสุดยอดผู้นำในคราวนี้ เพื่อแก่ไขวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยมิได้ปรึกษาหารือกับผู้แทนรัฐบาลที่มีความชอบธรรม ซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยจากประชาชนชาวเมียนมาร์

2.อาเซียนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนโดยทันที ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขัง และหยุดยั้งการเข่นฆ่าตามอำเภอใจ ทั้งต่อประชาชนชาวเมียนมาร์และชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในเมียนมาร์

3.อาเซียนเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักโทษและผู้ต้องขังทางการเมืองโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข – รวมถึงผู้นำที่ชอบธรรมของพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ (พรรค NLD) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกจำนวนหนึ่งด้วย

4.อาเซียน – ภายใต้การนำของไทย เปิด “ระเบียงมนุษยธรรม” ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ เพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรด้านมนุษยธรรมของไทย และองค์การระหว่างประเทศ เช่น กาชาดสากล ฯลฯ และหน่วยงานของสหประชาชาติ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินเร่งด่วน ให้แก่ผู้พลัดถิ่นนับพันนับหมื่นคน ซึ่งแสวงหาที่พักพิงในที่ปลอดภัยตามเขตป่าเขาลำเนาไพรบริเวณลำน้ำสาละวินที่ทอดยาวตามแนวชายแดน นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติการณ์แต่อย่างใด – เมื่อปี 2551 ผู้นำอาเซียนได้เคยจัดตั้ง “คณะทำงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาร์” เพื่อรองรับภารกิจในสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนากิส และอีกครั้งระหว่างวิกฤตการณ์โรฮิงยา – หากนี่เป็นสิ่งที่ผู้นำอาเซียนสามารถดำเนินการได้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และวิกฤตผู้ลี้ภัยแล้ว เหตุไฉนจะดำเนินการไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน และนี่ย่อมจะไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกล่าวอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้ในสถานการณ์ที่ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมาร์อย่างรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ

5.อาเซียนต้องกระชับความร่วมมือในการเจรจาหารือกับคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ (UNSC) – ภายใต้การนำของเวียดนาม (ประธานคนปัจจุบันของคณะมนตรีความมั่นคง ได้แก่ประเทศเวียดนาม) ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ทั้งนี้โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อื่นๆ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (UNHCR)เป็นต้น

6.อาเซียน ไม่ควรใช้ หลัก “การไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ตามกฎบัตรอาเซียนมาเป็นข้ออ้างในการยื้อเวลา หรือเบี่ยงเบนไปจากเจตจำนงเพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ดังที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน

7.ประเทศไทย พึงแสวงหาความช่วยเหลือจากอาเซียนในการประกาศ “เขตห้ามบิน” (NO FLY ZONE) ตลอดภูมิภาคที่เป็นแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

8.สำหรับประเทศอาเซียนที่ทำธุรกิจ การค้า ข้อตกลงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า กับเมียนมาร์ พีงต้องระงับความร่วมมือทางธุรกิจในทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่ถูกควบคุมหรือเป็นทรัพย์สินของระบอบทหารและบริวารของเขา (เช่น Myanmar Economic Holdings Public Co. Ltd – MEHL; Myanmar Economic Cooperation Limited – MEC เป็นต้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีสิงคโปร์ที่มีการลงทุนในเมียนมาร์มูลค่ากว่า 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะต้องมีมาตรการดำเนินการที่ชัดแจ้งเป็นรูปธรรมว่าจะตอบสนองต่อความจำเป็นเพื่อยุติโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ให้ได้อย่างไร การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจธุรกรรมของทหารเมียนมาร์เป็นรายบุคคลนั้นยังไม่ดีพอ – ต้องเพิ่มแรงกดดัน โดยการ “แช่แข็ง” หรือ “อายัด” ทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงบัญชีเงินฝากธนาคารของนายทหารเหล่านั้นในธนาคารต่างประเทศ รวมทั้งบรรษัทในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ก็จะส่งสัญญาณที่มีพลังมากยิ่งขึ้น

เรา – ประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน – ใคร่ขอเตือนให้ผู้นำของเราได้ตระหนักถึงข้อเรียกร้องนี้ และดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยทันทีในช่วงการประชุมผู้นำในวันที่ 24 เม.ย. ศกนี้ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า สิ่งที่เรียกขานกันว่า “วิถีอาเซียน” ที่เฉิดฉายอยู่ในกฎบัตรอาเซียนนั้นจะสมจริง และจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ประชาชนทั่วทั้งสิบประเทศสมาชิกนั้น ดำรงอยู่จริง

ด้วยความนับถือ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: